CASCADING HOUSE บ้านคอนกรีต หล่อพร้อมสวน 3 ระดับ

บ้านคอนกรีต ดีไซน์โมเดิร์นในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กับการออกแบบบ้านเพื่อเอาชนะความลาดชันของที่ดิน พร้อมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัย ด้วยแทรกพื้นที่สวนสำหรับพักผ่อนและนำพาแสง-ลมเข้าสู่บ้าน

บ้านคอนกรีต กับการออกแบบบ้านตามระดับความลาดชันของที่ดิน ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับถนนหน้าบ้านลงไปถึง 5 เมตร ขณะที่ที่ดินของบ้านก็มีความแตกต่างกันถึง 3 เมตร แทนที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นจากไซต์ บ้านหลังนี้กลับเน้นการออกแบบให้กลมกลืนไปกับภูมิประเทศของไซต์ ด้วยการจัดเรียงพื้นที่ใช้งานของบ้านให้มีลักษณะแบบลดหลั่นกัน

ที่นี่ได้รับการออกแบบมาให้สำหรับคู่รักหนุ่มสาวที่มีลูกเล็ก ๆ 2 คน พร้อมโจทย์ที่อยากให้บ้านมีความเรียบง่าย มีพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะกับการใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย หลังจากศึกษาไซต์เรียบร้อยแล้ว สถาปนิกจาก Tamara Wibowo Architects ได้แบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วยพื้นที่ต้อนรับ และโรงรถซึ่งถูกวางไว้ที่ระดับสูงสุดของไซต์ แล้วจึงค่อยเป็นพื้นที่นั่งเล่น และรับประทานอาหารที่วางอยู่ตรงกลาง และระดับต่ำสุดคือ ตำแหน่งห้องนอน 4 ห้อง ที่จัดเป็น 2 ระดับ มวลอาคารทั้ง 3 ระดับจึงดูลดหลั่นกันลงมาตามไซต์ เรียกง่าย ๆ คือความสูงของมวลห้องนอนจึงเท่ากับมวลพื้นที่พักผ่อนของบ้านนั่นเอง

This image has an empty alt attribute; its file name is cascading-house-tamara-wibowo-architects_2-1-910x1200.jpg

แม้จะเป็นโครงสร้างคอนกรีตหนาหนัก แต่ก็ไม่ลืมออกแบบพื้นที่สีเขียวไว้ด้วย เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้หย่อนใจ และพักสายตาไปกับสวนที่แทรกอยู่ระหว่างมวลอาคารทั้ง 3 ระดับ เช่น บริเวณพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างบันได คอร์ตสวนดังกล่าวได้ทำหน้าที่ช่วยนำแสงสว่างเข้าสู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณห้องนั่งเล่น ซึ่งอยู่ในมวลอาคารระดับกลาง นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสระน้ำที่อยู่ติดกับมุมนั่งเล่น ช่วยนำพาไอเย็น และความร่มรื่นให้กับมุมพักผ่อน โดยออกแบบให้เป็นเหมือนน้ำตกที่ไหลรินลงมา สร้างสุนทรียด้านเสียงที่แสนผ่อนคลาย จากเสียงน้ำที่ไหลกระเซ็นลงมาตลอดทั้งวัน สามารถสูดอากาศ และรับลมเย็น ๆ ได้อย่างปลอดโปร่ง ผ่านช่องเปิดที่ออกแบบให้สูง และกว้างตลอดแนวผนัง ขณะที่ห้องนอนใหญ่ที่อยู่ชั้นล่างสุดออกแบบให้เปิดออกสู่สวนได้ มีมุมไฮไลท์คือกระบะปลูกต้นไม้ซึ่งมีที่นั่งแบบสเต็ปเหมือนขั้นบันไดลดหลั่นกันลงไป สามารถออกมานั่งเล่นรอบ ๆ ต้นไม้ได้ในช่วงเช้า หรือช่วงแดดคล้อย

จากลักษณะที่พิเศษของไซต์ดังกล่าวได้ถูกใช้เพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบหลักของบ้านอย่างน่าสนใจ กระบวนการออกแบบจัดเรียงตามลำดับฟังก์ชันการใช้งาน จากพื้นที่พับลิกสู่พื้นที่ไพรเวตในลำดับท้ายสุด ถือว่าเป็นวิธีการออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้เกิดความโดดเด่น ทั้งยังเป็นงานออกแบบที่บอกเล่าความลงตัวระหว่างวัสดุ 2 ชนิดอย่าง คอนกรีตหล่อ และไม้ ซึ่งนับเป็นการผสมผสานระหว่างความเย็นของคอนกรีตสีเทา กับความอบอุ่นของงานไม้ ทำหน้าที่ต่อเนื่องกันจากภายนอกสู่ภายในบ้าน ฟังแล้วงานออกแบบบ้านนี้อาจจะดูซับซ้อน แต่ด้วยวัสดุก็ช่วยให้บ้านนี้ดูเรียบง่ายขึ้นทันที

ออกแบบ : Tamara Wibowo Architects (https://www.facebook.com/tamarawibowoarchitects/)
ภาพ : Mario Wibowo, Fernando Gomulya
เรียบเรียง : Phattaraphon