ธรรมชาติที่ถูกรังสรรค์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย SHMA

ภูมิสถาปัตยกรรม หนึ่งในองค์ประกอบที่ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับสถาปัตยกรรม เปรียบเสมือน บ้าน ที่ต้องมี สวน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่แห่งความภาคภูมิใจที่อยู่คู่ชาวกรุงเทพมานานหลายสิบปี ผ่านงานสำคัญระดับนานาชาติมานับครั้งไม่ถ้วน ได้ถูกรังสรรค์ใหม่อีกครั้งโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับบริบทเมือง และผสานความเป็นธรรมชาติไว้โดยรอบ ซึ่งรวมถึงสวนใหญ่ทั้งสองสวนโดยรอบศูนย์ฯ อย่างกลมกลืน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการใช้งานของทุกพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นสำคัญ

ในการออกแบบศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่นี้ได้ คุณนำชัย แสนสุภา กรรมการบริหาร จาก SHMA บริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่หลายๆคนคุ้นเคยมานำทีม

ออกแบบอย่างไรให้ สืบสาน รักษา ต่อยอด

เราได้รับการบอกเล่าเรื่องราวจากทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์เป็นศูนย์การประชุมแห่งแรกของประเทศไทยที่ใหญ่และล้ำสมัยมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นตัวจุดประกายให้เกิดธุรกิจอีเวนท์ต่างๆในประเทศไทย รวมถึงเป็นสถานที่ที่หลายคนผูกพันและมีความทรงจำ ในการออกแบบเราจึงพยายามถ่ายทอดแนวคิดที่จะยังคงรักษาความทรงจำ  และมรดกของศูนย์ประชุมฯให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมือง โดยปรับให้เข้ากับบริบทของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และเพิ่มเติมให้คาแรคเตอร์ของการเป็นศูนย์ประชุมสมัยใหม่ให้ชัดขึ้น มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งพื้นที่ภูมิทัศน์นอกอาคารที่พัฒนาให้สาธารณะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ เมื่อรวมกับฟังก์ชั่นภายในศูนย์ประชุม ทั้งการวางแผนพื้นที่และการใช้เทคโนโลยีไฮเทค ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่นี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนการจัดอีเวนท์และงานสัมมนาในรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคตได้อีกครั้ง ตามคอนเซ็ปต์ “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

ภูมิสถาปัตยกรรม และความสำคัญ สัมพันธ์กับอาคาร

สิ่งสวยงามที่เรามองเห็นมักจะเป็นเรื่องปลายน้ำของงานภูมิสถาปัตยกรรม ต้นน้ำนั้นเริ่มมาตั้งแต่เรามาที่พื้นที่เป็นครั้งแรก เราเห็นอะไร มันมีบรรยากาศ มีภาพจำ มีต้นไม้เดิมที่เราต้องเก็บไว้ มีความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมโดยรอบเมื่อศูนย์แห่งใหม่สร้างขึ้นมาทั้งสิ่งที่จับต้องได้และไม่ได้ที่เราต้องคำนึงถึง เพราะอะไรที่เกี่ยวข้องกับผืนดินที่อยู่นอกอาคารก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานภูมิสถาปัตยกรรมทั้งหมด

ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นและรองรับจำนวนคนมากขนาดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องประสิทธิภาพของระบบสัญจรทั้งรถทั้งคน ซึ่งส่วนนี้ต้องมี Traffic engineer มาวิเคราะห์ คำนวณ และวางแผนให้ ในส่วนงาน landscape ก็วางผังออกแบบเพิ่มเติมให้คนสามารถ orientate ตัวเองได้ ไม่หลง ด้วยตำแหน่ง ขนาด และองค์ประกอบทางภูมิทัศน์ที่จัดวางให้คนรู้ทิศทางที่ตัวเองต้องไปได้โดยสัญชาติญาน ประกอบกับระบบป้ายบอกทิศทางต่างๆ แม้คนที่มาเป็นครั้งแรก ออกมาจาก MRT เข้ามาที่ลานที่ใหญ่ที่สุดหน้าอาคารที่มีองค์ประกอบทางภูมิทัศน์อย่างน้ำพุ เสาธง มีต้นจามจุรีให้ร่มเงา มีที่นั่งขนาดยาว ก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือจุดรวมตัวนัดพบที่ชัดเจน

ลานแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของสัญญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของศูนย์ฯสิริกิติ์ นั่นคือ ปฏิมากรรมโลกุตระ ซึ่งที่ตั้งในศูนย์เดิมจะคับแคบกว่านี้ ลานหน้าศูนย์ใหม่จะมีขนาดกว้างกว่าเดิมหลายเท่า เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย

ผมว่าเนื้องานภูมิสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่คือการจัดการสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น งานสารณูปโภคอย่างการระบายน้ำ รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายระดับของพื้นที่ต่างๆ ให้เรียบร้อยไม่เป็นที่สังเกต จนมาถึงสิ่งที่เรามองเห็น ทั้งเรื่องของวัสดุ พื้นผิว การเลือกต้นไม้ การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ให้ได้ระยะและสัดส่วนที่สวยงามสบายตา มาจนถึงเรื่องที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือการออกแบบพืชพันธุ์

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เรารับคอนเซ็ปต์ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ สิ่งแรกที่เราทำก่อนอื่นเลยคือระบุต้นไม้เดิมที่ต้องเก็บรักษาไว้ อย่างจามจุรีขนาดใหญ่ 3 ต้นบริเวณที่จอดรถเดิมที่จะกลายองค์ประกอบหลักของทางเข้าใหม่ที่ขยายให้กว้างขึ้น และเนื่องจากจามจุรีเป็นต้นไม้ที่ทรงพุ่มแผ่กว้างให้ร่มเงาได้มาก จึงถูกนำมาใช้บริเวณลานโลกุตระ เพื่อที่จะมีพื้นที่ใต้ต้นไม้ที่ยังสามารถใช้งานได้มาก ต้นไม้อื่นๆ ที่เลือกใช้ก็เป็นไม้ป่าของไทยอย่างพะยอม ประดู่ป่า ที่นอกจากจะเป็นไม้พื้นถิ่น มีดอกหอมแล้ว  ยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ศูนย์และสวนเบญจกิติอยู่แล้วด้วย เพื่อให้ต้นไม้เป็นตัวเชื่อมความเป็นสวนป่าของสวนเบญจกิติเข้ามาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความท้าทายในข้อจำกัดของพื้นที่

แม้ว่าตัวอาคารศูนย์ฯสิริกิติ์แห่งใหม่จะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม แต่ก็มีข้อดีในแง่ตัวอาคารที่รวมเป็นหลังเดียวที่งานระบบและที่จอดรถที่ลงไปอยู่ใต้ดินทั้งหมด รวมทั้งที่ตั้งอาคารที่มีระยะถอยร่นจากถนนรัชดาภิเษกและบึงของสวนเบญจกิติ ทำให้พื้นที่รอบอาคาร 2 ด้านนี้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ

เชื่อมโยงอาคารสู่บริบทโดยรอบ

ที่ตั้งของศูนย์ฯสิริกิติ์แวดล้อมด้วยการใช้งานหลายอย่าง ทั้งอาคารสำนักงานและโรงแรมทางด้านทิศใต้ ถนนรัชดาภิเษกและสถานี MRT ทางด้านทิศตะวันออก และสวนเบญจกิติทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ศูนย์ฯ จึงเป็นทั้งจุดหมาย จุดนัดพบ และทางผ่าน เป็นพื้นที่กึ่งเปิดที่สาธารณะเข้ามาใช้งานทั้ง 3 แบบได้ รวมทั้งตัวศูนย์เองที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ Skyline ของเมืองที่สามารถมองเห็นได้โดยเฉพาะจากสวนเบญจกิติ ซึ่งเป็นจุดที่คนนิยมมาชมความสวยงามของเมืองที่สะท้อนเงาลงไปในบึงน้ำของสวนเบญจกิติในยามเย็น ความสมดุลย์ระหว่างสัดส่วนของอาคารและต้นไม้ที่มองเห็นจากด้านนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ  ในภาพรวมแล้วงานภูมิสถาปัตยกรรมของศูนย์ฯ สิริกิติ์ จึงเป็นการสอดประสานอาคาร พื้นที่ การใช้งานและมุมมองระหว่างตัวศูนย์และบริบทเมืองโดยรอบนั่นเอง


ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
เรื่อง: Wuthikorn Sut