บ้านตากอากาศสไตล์โมเดิร์นนิสม์ในแบบ PDM ทั้งเรียบง่าย กะทัดรัด กับวิวแม่น้ำสุดร่มรื่น

หากใครที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมในแบบโมเดิร์นนิสม์ที่มีจังหวะพื้นผิววัสดุและแสงธรรมชาติอันสวยงาม ที่นี่คือบ้านตากอากาศขนาดกำลังดี จัดวางด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวสุดสร้างสรรค์จาก PDM BRAND รับรองว่าบ้านหลังนี้ คือที่สุดของบ้านในดวงใจอีกหลังหนึ่งอย่างแน่นอน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: POAR 

เพราะนี่คือ บ้านตากอากาศ ของคุณดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ ผู้ก่อตั้งและ Creative Director PDM Brand สำหรับวันว่างที่อยากปลีกจากเมืองกรุงฯ เพื่อใช้เวลาพิเศษกับครอบครัว และเพื่อนฝูง ที่นี่จึงเป็นเหมือนพื้นที่พิเศษของครอบครัวและเพื่อนฝูงในวันสุดสัปดาห์ ท่ามกลางธรรมชาติชานเมืองในพื้นที่นครชัยศรีกับวิวแม่น้ำกว้างไกลสุดสายตาและทุ่งนาที่รายล้อม

เมื่อเลี้ยวออกทางหลวงชนบทในพื้นที่ลำพญา-นครชัยศรี ลัดเลาะเข้ามาจนถึงริมแม่น้ำนครชัยศรี เราจึงได้พบกับบ้านหลังนี้ตั้งเด่นอยู่ในพื้นที่สุดซอยที่จัดสรรค์แบ่งแปลงไว้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้เป็น “บ้านตากอากาศ” ที่เจ้าของตั้งใจไว้สำหรับให้ทุกคนในครอบครัวรวมทั้งมิตรสหายได้แวะมาใช้เวลาร่วมกัน การเลือกทำเลที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯอย่างนครชัยศรีจึงเป็นที่ๆทุกๆคนจะแวะมาที่นี่ได้อย่างไม่ยากเย็น และแน่นอนว่าการออกแบบบ้านหลังนี้ก็ทำขึ้นเพื่อรองรับช่วงเวลาพิเศษนั้นเช่นกัน

การออกแบบบ้านหลังนี้มีจุดประสงค์ในการเป็น “บ้านตากอากาศ” เป็นสำคัญ เริ่มต้นจากการออกแบบให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่สามารถดูแลรักษาได้ง่าย จึงทำให้แต่ละพื้นที่นั้นถูกคิดคำนวญมาเป็นอย่างดีให้ลงตัวและไม่ใหญ่โตจนเกินไป โดยแบ่งพื้นที่สังสรรค์ออกเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ชั้นล่างบริเวณใต้ถุนบ้าน และพื้นที่รับแขกนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่ชั้นบนซึ่งต่อเนื่องกับชานชมวิวของบ้านหลังนี้ บานเปิดของบ้านหลังนี้มีความพิเศษที่สามาถเปิดออกได้จนสุดบานตั้งแต่พื้นจรดเพดาน มีการเลือกใช้วัสดุ Texiline ที่มีความโปร่งแสง สามารถกันแดดฝนได้ แต่ก็ยังสามารถมองทะลุผ่านจากภายในและยอมให้ลมไหลผ่านได้ในระดับที่ไม่อึดอัด ในยามที่เจ้าของบ้านต้องการรับลมและชมวิวก็สามาถเปิดบ้านออกรับธรรมชาติได้แทบจะในทันที

การเลือกออกแบบให้บ้านหลังนี้เป็นบ้าน “ใต้ถุนสูง” นั้น นอกจากจะเป็นความจำเป็นจากการที่พื้นที่นครชัยศรีเป็นพื้นที่รับน้ำของกรุงเทพฯซึ่งมีระดับน้ำในฤดูน้ำหลากที่ค่อนข้างสูงแล้ว การเลือกให้พื้นที่ส่วนตัวอยู่บนชั้นสองยังทำให้พื้นที่เหล่านั้น พ้นไปจากมุมมองสายตาของเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อต้องการการเปิดโล่งเพื่อรับทิวทัศน์เช่นนี้แล้ว การเปลี่ยนมุมมองไปอยู่ที่ชั้นบนจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ

โครงสร้างของบ้านหลังนี้เป็น “คอนกรีตหล่อในที่” ในเกรด Marine concrete ที่ไม่เพียงแต่เหมาะกับพื้นที่ติดน้ำอย่างบ้านหลังนี้เพียงเท่านั้น แต่ความพรุนที่น้อยกว่าคอนกรีตโดยทั่วไปยังทำให้ความชื้นไม่สามารถทะลุผ่านผนังและเพดานของบ้านหลังนี้ได้ ตลอดจนพื้นผิวและลวดลายที่เกิดขึ้นหลังถอดแบบก็ดูสวยงามกว่าคอนกรีตทั่วไปอีกด้วย

การออกแบบที่เลือกใช้ระบบ “คอนกรีตหล่อในที่” ทั้งหลังนี้สร้างให้บ้านหลังนี้มีลักษณะของความเป็น “โครงสร้างที่สามารถอยู่อาศัยภายในได้” ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในแนวคิดของบ้านหลังนี้ตามที่สถาปนิกและเจ้าของบ้านตั้งใจไว้ การลดส่วนตกแต่งอาคารลงให้น้อยที่สุดและเลือกให้ความเป็น “อาคาร” นั้นโดดเด่นด้วยตัวมันเองตั้งแต่โครงสร้าง จากนั้นจึงเลือกใช้ “เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว” ที่เจ้าของบ้านชื่นชอบมาจัดวางตามความเหมาะสมต่อไป

ด้วยการเลือกใช้เสากลมและลักษณะของโครงสร้างคอนกรีตที่ดูบางกว่าระบบเสาคาน ทำให้บ้านหลังนี้ดูเบาลอย โดยเฉพาะในส่วนของชานบ้านชั้นสองที่มีส่วนยืนรับวิวและรองรับไว้ด้วยเสาเพียงต้นเดียว การออกแบบที่ลงตัวนี้ เป็นความตั้งใจของสถาปนิกในการสร้างให้บ้านหลังนี้ดูเป็น “ประติมากรรม” ในตัวเอง

การเลือกวางทิศทางของบ้านนั้นแบ่งออกเป็นหน้าบ้านที่หันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งรับกับตำแหน่งของห้องนอนใหญ่ที่จะรับแดดเช้าให้ตื่นเต็มตา ด้านนอกของห้องนอนในส่วนทางเดินนั้น ที่สุดปลายทางยังมีที่นั่งซึ่งเป็นพื้นที่โปรดของเจ้าของบ้านในการนั่งทำงานในมุมสงบอีกด้วย และในยามเย็น วิวจากห้องนั่งเล่นที่หันออกสู่ทิศตะวันตก จะรับกับภาพพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำนครชัยศรีที่งดงามอย่างพอดิบพอดี

สิ่งที่หลายคนน่าจะสังเกตุเห็น และมีคำถามก็คือ “บ้านหลังนี้ไม่มีราวกันตก” ซึ่งนั่นเป็นเพราะในการออกแบบที่ตั้งใจให้บ้านตากอากาศหลังนี้สามารถสัมผัสถึงทิวทัศน์ในรอบด้าน และการพักผ่อนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การเลือกให้ทุกพื้นที่ไม่มีเส้นสายกวนตาจึงเป็นหนึ่งในคำตอบร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านและสถาปนิก ในการนี้ก็นับได้ว่าไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดในการเลือกใช้หรือไม่ใช้ราวกันตก แต่บอกเลยว่าวิวที่ได้จากระเบียงนั้นก็ดูดีจนยอมรับได้เลยทีเดียว

และนี่ก็คือบ้านขนาดพอดีที่มาพร้อมกับรูปแบบที่น่าสนใจทั้งเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และการจัดวางพื้นที่แบบที่ดูแลง่าย ใช้ดี มีเสน่ห์ ก็หวังว่าบ้านหลังนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากจะทำบ้านหลังน้อยไว้ในพื้นที่ธรรมชาติของตัวเองเช่นกัน

ออกแบบ : POAR
เฟอร์นิเจอร์ : PDM BRAND

เรื่อง : Wuthikorn Su
ภาพ : Soopakorn Srisakul
สไตลิสต์ : MNSD