เลี้ยงไก่

10 คำถาม-คำตอบ ไขทุกข้อสงสัยเรื่องเลี้ยงไก่ในบ้าน

เลี้ยงไก่
เลี้ยงไก่

ผู้ที่กำลังสนใจอยากจะ เลี้ยงไก่ หรือผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงไก่มาได้ไม่นาน หลายคนอาจมีข้อสงสัยและคำถามมากมายโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเลี้ยงไก่ไว้เก็บไข่รับประทานเองในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกซื้อไก่มาเลี้ยง พันธุ์ไก่ที่น่าสนใจ การดูแลไก่ให้แข็งแรง ไก่ป่วยดูอย่างไร ไก่ออกไข่ได้นานแค่ไหน เลี้ยงไก่จำนวนเท่าไหร่ดี ฯลฯ

เราจึงรวบรวม 10 คำถามยอดฮิต พร้อมตอบทุกข้อสงสัยในการ เลี้ยงไก่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “คู่มือเลี้ยงไก่ในบ้าน สร้างเล้าไก่ในฝัน” สำนักพิมพ์บ้านและสวน ให้นำไปเลี้ยงไก่ในครัวเรือนได้ประสบผลสำเร็จกัน

เลี้ยงไก่

คำถามข้อที่ 1.

Q: ควร เลี้ยงไก่ อายุเท่าไหร่และเลือกซื้อไก่แบบไหนมาเลี้ยง

A: ไก่ที่นำมาเลี้ยงภายในบ้านนั้น นอกจากจะเป็นไก่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีโครงสร้างร่างกายสมบูรณ์แล้ว สิ่งสำคัญคือ ไก่ที่เลี้ยงควรเชื่อง ไม่ดุร้าย ผู้เลี้ยงจึงควรเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ไก่อายุน้อย หากสามารถจัดหาไข่ฟักมาฟักเองลูกไก่จะจดจำผู้เลี้ยงได้ และปรับตัวกับไก่ภายในฝูงได้ดี ส่งผลให้จัดการเลี้ยงดูง่าย ลดการสูญเสียจากการจิกตี หากต้องการเลี้ยงเพื่อใช้ผลผลิตไข่จากไก่สำหรับการบริโภค สามารถซื้อแม่ไก่ในระยะใกล้ให้ไข่ได้ เนื่องด้วยการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อบริโภคไข่นั้นมักแยกเลี้ยงไม่เลี้ยงรวมกับไก่กลุ่มอื่น ๆ เพื่อคุณภาพของไข่ที่ผลิตได้

การเลือกซื้อไก่ ควรซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ ผลิตไก่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีลักษณะตรงตามพันธุ์ กรณีที่เลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ผู้เลี้ยงอาจซื้อไก่ตั้งแต่อยู่ในระยะไข่ฟัก ลูกเจี๊ยบอายุประมาณ 1 สัปดาห์ หรือระยะไก่รุ่นก็ได้ การเลี้ยงดูตั้งแต่ไก่อายุน้อย ไก่จะเชื่อง สามารถฝึกได้ง่าย อาจจำเป็นต้องซื้อไก่รุ่นที่มีอายุประมาณ 3– 4 เดือน เพื่อให้สังเกตเห็นสีขนและสร้อยขนได้อย่างชัดเจน ส่วนผู้เลี้ยงที่ต้องการเลี้ยงไก่เพื่อผลิตไข่สดบริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องการผลิตลูกเจี๊ยบ ควรซื้อลูกไก่เพศเมีย หรือแม่ไก่ที่มีอายุประมาณ 4 เดือนที่อยู่ในระยะใกล้ให้ผลผลิตไข่ นำมาเลี้ยงในพื้นที่เลี้ยงเพื่อปรับตัว และให้ไก่คุ้นชินกับคอกหรือกรงเลี้ยง และรังสำหรับวางไข่

นอกจากนี้ยังควรพิจารณาถึงความต้องการบริโภคไข่ในแต่ละสัปดาห์ เพื่อซื้อไก่ในจำนวนที่เหมาะสม หากซื้อไก่เกินกว่าจำนวนสมาชิกในบ้านมากจนเกินไป จะทำให้มีไข่สะสมและเป็นภาระในการแปรรูปด้วยการถนอมอาหาร อย่างไรก็ตาม หากต้องการเลี้ยงไก่เพื่อผลิตไข่บริโภคและผลิตลูกเจี๊ยบเพื่อขยายฝูงด้วย สามารถซื้อไก่เพศผู้ในอัตราส่วน 1 ตัวต่อแม่ไก่ 5 ตัว และในกรณีนี้ ควรแยกเลี้ยงแม่ไก่ที่ใช้ผลิตไข่บริโภค เพื่อป้องกันการผลิตไข่มีเชื้อที่ไม่พึงประสงค์สำหรับการบริโภค

คำถามข้อที่ 2.

Q: พันธุ์ไก่ที่เหมาะต่อการเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้เสริม

A: ในปัจจุบันผู้เลี้ยงมีทางเลือกในการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่าง ๆ ได้มากกว่าในอดีต สามารถสั่งซื้อพันธุ์จากต่างประเทศหรือมีแหล่งผลิตที่สามารถจัดหาพันธุ์ไก่ได้ตามความต้องการของผู้เลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงให้ผลผลิตไข่จำนวนมาก คือ ไก่ไข่ไฮบริดเชิงการค้า ได้แก่ เอ.เอ.บราวน์ (A.A.Brown) รอสบราวน์ (Ross Brown) ไฮเซกบราวน์ (Hisex Brown) อีซ่าบราวน์ (Isa Brown) ซูปเปอร์ฮาร์โก้ (Super Harco) และฮับบาร์ดโกล์เดนคอมเมท (Hubbard Golden Commet) เป็นต้น

ไก่ไข่ไฮบริดกลุ่มนี้จึงเหมาะกับผู้เลี้ยงที่ต้องการสร้างรายได้เสริมจากการผลิตไข่ นอกจากนี้ยังมีไก่พื้นเมืองที่ได้รับการพัฒนาพันธุกรรมให้สามารถผลิตเนื้อและไข่ได้ดีขึ้น ได้แก่ ไก่พื้นเมืองที่พัฒนาโดยกรมปศุสัตว์ ไก่เบตง ไก่ดำภูพาน และไก่พื้นเมืองที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์โดยสถาบันการศึกษา  ซึ่งไก่พื้นเมืองเหล่านี้มีจุดเด่นในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี แข็งแรง ทนโรค สามารถเลี้ยงปล่อย และใช้อาหารตามธรรมชาติร่วมกับอาหารสำเร็จรูปได้ ซึ่งเหมาะสมกับผู้เลี้ยงที่ต้องการจำกัดค่าใช้จ่าย และผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน

คำถามข้อที่ 3.

Q: ไก่เนื้อและไก่ไข่แตกต่างกันอย่างไร

A: ไก่เนื้อและไก่ไข่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมในการให้ผลผลิต ไก่ไข่จะมีพันธุกรรมโดดเด่นในการให้ผลผลิตไข่จำนวนมากและต่อเนื่อง ขณะที่ไก่เนื้อจะมีพันธุกรรมเป็นเลิศด้านการเจริญเติบโตและคุณภาพเนื้อ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรทราบถึงพันธุ์ไก่ที่เหมาะสมต่อความต้องการในการใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีต้องการเลี้ยงไก่เพื่อผลิตไข่สำหรับบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ผู้เลี้ยงอาจตัดสินใจเลี้ยงไก่ไข่ที่เป็นพันธุ์เชิงการค้า หรือไก่พื้นเมืองที่มีศักยภาพในการผลิตไข่ ในทางตรงกันข้ามหากต้องการเลี้ยงไก่เพื่อจำหน่ายเนื้อเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ก็ควรเลือกใช้พันธุกรรมไก่เนื้อเชิงการค้า เพื่อให้สามารถผลิตเนื้อไก่ได้ในระยะเวลาอันสั้น

เลี้ยงไก่

คำถามข้อที่ 4.

Q: ไก่กินเศษอาหารในครัวเรือนได้หรือไม่

A: ไก่สามารถกินเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนได้ เช่น เศษผักและเศษเนื้อสัตว์ที่เป็นส่วนเหลือจากการประกอบอาหาร อาหารที่เหลือจากการบริโภค และกากผลไม้ที่คั้นน้ำแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้เศษเหลือที่ได้จากครัวเรือนควรอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ไม่ปนเปื้อนสารเคมี หรือปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค

เลี้ยงไก่

คำถามข้อที่ 5.

Q: ไก่ป่วยสังเกตอย่างไร ต้องทำวัคซีนหรือไม่ และมีวิธีป้องกันโรคอย่างไรได้บ้าง

A: ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตไก่ป่วยได้จากพฤติกรรมของไก่ โดยไก่ที่ป่วยมักแยกตัวออกจากฝูง ไม่กินอาหาร ยืนหรือนั่งหลับตาเกือบตลอดทั้งวัน กรณีที่ป่วยเป็นหวัดจะมีน้ำมูกและน้ำตาไหล หรือมีเสียงหายใจดังผิดปกติ เมื่อพบไก่ที่มีอาการป่วย ผู้เลี้ยงควรรีบแยกไก่ที่ป่วยออกจากฝูงทันที และเร่งวินิจฉัยโรคเพื่อให้การรักษา ทั้งนี้ในกรณีของการเกิดโรคทางระบบหายใจที่พบบ่อยหรือโรคติดต่อร้ายแรง เช่น หลอดลมอักเสบ หวัดติดต่อ อหิวาต์ไก่ และนิวคาสเซิล เป็นต้น ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ไก่ โดยทั่วไปไก่ที่ซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือจะทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบและนิวคาสเซิลให้ไก่เรียบร้อยแล้ว ผู้เลี้ยงอาจจำเป็นต้องให้วัคซีนบางชนิดต่อเนื่องในกรณีที่เลี้ยงไก่จำนวนมาก และอยู่ใกล้แหล่งผลิตไก่เชิงการค้าขนาดใหญ่ หากเลี้ยงจำนวนน้อย และดูแลสุขศาสตร์การเลี้ยงได้อย่างดี อาจไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนเพิ่มเติม

คำถามข้อที่ 6.

Q: ควรปล่อยให้ไก่ออกมาเดินกลางแจ้งหรือไม่

A: การปล่อยไก่ออกมาเดินในพื้นที่กลางแจ้งเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากไก่จะได้รับอากาศบริสุทธิ์ เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ผ่อนคลายจากสภาพแวดล้อมในกรงหรือคอกเลี้ยง ซึ่งส่งผลให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เช่น การคุ้ยเขี่ยหาอาหาร (Foraging) และการอาบฝุ่น (Dust-bathing) เป็นต้น ทั้งนี้ การเลี้ยงไก่ขังคอกและอยู่อย่างหนาแน่น อาจทำให้ไก่เกิดความเครียดจากการถูกจิกตี การได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรือการเคลื่อนที่ได้อย่างจำกัด

การเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพแข็งแรง และเกิดความเครียดน้อยที่สุด สามารถทำได้โดยจัดพื้นที่ว่างในบริเวณบ้านให้ไก่ได้เคลื่อนที่โดยอิสระ หรือหากผู้เลี้ยงมีพื้นที่จำกัด ควรเลี้ยงไก่ในกรงหรือคอกให้มีพื้นที่ต่อตัวที่เหมาะสม (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “คู่มือ เลี้ยงไก่ ในบ้านสร้างเล้าไก่ในฝัน”) ก็สามารถจัดการการเลี้ยงให้ไก่มีสุขภาพที่ดี และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้

เลี้ยงไก่

คำถามข้อที่ 7.

Q: วิธีป้องกันสัตว์มีพิษทำอย่างไร

A: การป้องกันสัตว์มีพิษไม่ให้เข้าในพื้นที่เลี้ยงไก่ สามารถทำได้โดยก่อผนังโรงเรือนด้วยอิฐให้มีความสูงจากพื้นประมาณ 40 เซนติเมตร หมั่นตรวจสอบและซ่อมแซมช่องเปิดของผนังคอก ในกรณีที่แบ่งพื้นที่เลี้ยงภายในคอก ผู้เลี้ยงควรติดตาข่ายไนลอนหรือมุ้งไนลอนบริเวณผนังคอกหรือกรงเลี้ยง โดยยึดกับผนังทั้งสี่ด้านของคอกเลี้ยง ตั้งแต่มุมด้านล่างติดพื้นคอกจนถึงความสูงจากพื้นคอกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชบริเวณรอบโรงเรือน และตัดแต่งกิ่งต้นไม้ที่ปลูกรอบโรงเรือน ไม่ให้กิ่งไม้พาดถึงตัวโรงเรือนในระยะ 1 เมตร ด้วย จะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษและสัตว์อื่นที่อาจเป็นอันตรายกับไก่ได้

คำถามข้อที่ 8.

Q: ไก่ไข่ออกไข่ได้นานแค่ไหน

A: ไก่สามารถให้ผลผลิตไข่อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาประมาณ 16–18 เดือน หลังจากให้ผลผลิตไข่ฟองแรก ทั้งนี้ระยะเวลาให้ไข่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มพันธุ์ โดยไก่พันธุ์เชิงการค้าที่เป็นไก่ไข่ไฮบริด จะสามารถให้ผลผลิตไข่ได้นานถึง 20 เดือน และให้ผลผลิตไข่มากถึง 200 ฟองต่อแม่ต่อปี ในขณะที่ ไก่พันธุ์แท้และไก่พื้นเมืองไทย สามารถให้ผลผลิตไข่ได้นานกว่า แต่ให้ผลผลิตในช่วงปีที่สองไม่สม่ำเสมอ โดยมีผลผลิตไข่ประมาณ 90 ถึง 150 ฟองต่อแม่ต่อปี

คำถามข้อที่ 9.

Q: ไก่ให้ผลผลิตไข่ลดลงเกิดจากสาเหตุใด

A: การให้ผลผลิตไข่ที่ลดลงของแม่ไก่ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ คือ

(1)ไก่ป่วยจากการติดเชื้อที่ก่อโรค ทำให้กินอาหารลดลง ส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย การผลิตและการหลั่งฮอร์โมน การสร้างฟองไข่ ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องสังเกตลักษณะภายนอกและพฤติกรรมของไก่เป็นประจำในขณะที่ให้อาหาร

(2) ไก่ได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรือได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ผู้เลี้ยงควรปรับเพิ่มอาหารให้แม่ไก่ในระยะให้ผลผลิตไข่ตามอัตราการให้ไข่ กรณีที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระควรสังเกตความต้องการอาหารของแม่ไก่ ให้แม่ไก่ทุกตัวได้รับอาหารอย่างเพียงพอ โดยสังเกตจากปริมาณอาหารที่เหลือหลังจากให้อาหารในช่วงเช้า และในอาหารควรมีปริมาณแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่จำเป็นต่อการสร้างฟองไข่สมบูรณ์ด้วย

(3) ไก่กินอาหารได้ลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนสูตรอาหาร กรณีนี้ผู้เลี้ยงควรปรับเปลี่ยนอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 3 สัปดาห์แรก เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณการกินได้ของไก่ โดยผสมอาหารสูตรเดิมกับสูตรใหม่ ในอัตราส่วน 3 : 1, 1 : 1, 1 : 3 แล้วจึงให้อาหารสูตรใหม่แทนทั้งหมดในสัปดาห์ที่ 4 จะทำให้ไก่ปรับตัวกับสูตรอาหารที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น ควรสังเกตการกินอาหารของไก่ควบคู่ไปด้วย หากไก่สามารถปรับตัวกับอาหารสูตรใหม่ได้เร็วก็สามารถลดระยะเวลาในการปรับสัดส่วนอาหารลงได้

(4)ไก่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียด เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน มีการก่อสร้างใกล้พื้นที่เลี้ยง การย้ายไก่จากภายนอกเข้ารวมฝูง และการย้ายไก่ไปเลี้ยงในพื้นที่ใหม่ เป็นต้น ผู้เลี้ยงสามารถลดสภาวะเครียดในไก่ได้โดยการให้น้ำผสมวิตามินแก่ไก่ โดยให้ติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมเฝ้าสังเกตพฤติกรรม และการให้ผลผลิตไข่

คำถามข้อที่ 10.

Q: เมื่อไก่ตายควรกำจัดอย่างไร

A: เมื่อไก่ที่เลี้ยงตายสิ่งแรกที่ผู้เลี้ยงควรทำ คือ สังเกตวิการของไก่เพื่อวินิจฉัยโรค (อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือคู่มือเลี้ยงไก่ในบ้าน  สร้างเล้าไก่ในฝัน) ลดการสัมผัสซากไก่โดยตรง ในกรณีที่เกิดจากโรคติดต่อในสัตว์ปีกจำเป็นต้องรีบทำความสะอาดคอก เปลี่ยนวัสดุรองพื้น ล้างถังอาหารและกระปุกน้ำเพื่อลดความเสี่ยงของการติดต่อโรคสู่ไก่ตัวอื่นในฝูง หากมีสาเหตุการตายจากถูกสัตว์มีพิษหรือสัตว์เลี้ยงกัด ควรตรวจสอบความเสียหายของคอกและรีบซ่อมแซม เพื่อไม่ให้สัตว์มีพิษหรือสัตว์เลี้ยงเข้ามาทำร้ายไก่ได้อีก

ในกรณีของการตายเป็นเพราะไก่มีอายุมากนั้นจะไม่พบร่องรอยหรือบาดแผลบนตัวไก่ และวิการของโรค เมื่อทราบสาเหตุการตายของไก่แล้ว ผู้เลี้ยงควรบรรจุซากไก่ในถุง มัดปากถุงให้แน่น แล้วฝังซากไก่ โดยขุดหลุมให้มีความลึกอย่างน้อย 60 เซนติเมตร หรือให้เพียงพอต่อจำนวนซากไก่ กรณีที่ไก่เป็นโรคติดต่อผู้เลี้ยงจำเป็นต้องโรยปูนขาวที่ก้นหลุม และโรยปูนขาวบนซากไก่ก่อนฝังกลบด้วย ควรอัดดินให้แน่น และวางสิ่งกีดขวางทับไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงขุดทำลายซาก

ผู้ที่สนใจในการ เลี้ยงไก่ สามารถติดตามได้ใน หนังสือ คู่มือ เลี้ยงไก่ ในบ้าน สร้างเล้าไก่ในฝัน โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน

เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

เล้าไก่เคลื่อนที่ แจกแบบฟรี ทำเองได้ไม่ยาก

เล้าไก่และแปลงผัก อยู่ด้วยกันแบบพึ่งพา