โรงเรียนทางเลือก ที่ออกแบบให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับธรรมชาติมากที่สุด เพราะเชื่อว่าธรรมชาติเป็นครูชั้นยอดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี
โรงเรียนทางเลือก แห่งนี้ตั้งอยู่ชานเมืองของแคว้นบาเลนเซีย ประเทศสเปน ซึ่งตอนนี้เป็นการดำเนินงานของเฟสแรกในส่วนของห้องเรียน โดยการออกแบบเริ่มต้นจากการวางทางเข้าหลักมาจากเเม่น้ำไม่ใช่ทางฝั่งเมือง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ชมทิวทัศน์ของแม่น้ำตามธรรมชาติมากกว่าเมืองที่แออัด ซึ่งพื้นที่ริมน้ำนี้เอง เหล่าผู้ปกครองจะได้ใช้เป็นที่พักผ่อน และพบปะระหว่างรอรับลูกกลับบ้าน
เมื่อมาถึงเด็ก ๆ ต้องเดินผ่านป่าสนบนทางเดินไม้ยกสูง ลัดเลาะไปตามยอดไม้ ก่อนจะพบกับอาคารเรียนที่วางตัวคล้ายตัวเอส (S) ที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งพลาซ่าในทิศตะวันตก และสนามเด็กเล่นในทิศตะวันออก เพื่อการใช้งานที่ยืดหยุ่น ห้องเรียนทุกห้องสามารถมองออกไปเห็นหุบเขา และป่าสน เพื่อให้ธรรมชาติทำหน้าที่เป็นพระเอก และศูนย์รวมความสนใจ แทนที่กระดานดำแบบเดิม ๆ
ทางเข้าสู่ห้องเรียนแต่ละห้อง ต้องผ่านส่วนล็อบบี้ที่มีตู้ล็อกเกอร์ และม้านั่งตัวยาวให้เด็ก ๆ ได้นั่งถอดรองเท้า และเสื้อโค้ท ผสานตัวไปกับซุ้มผนังโค้งที่สื่อถึงการเข้าสู่โลกใบย่อมของเด็ก ๆ ภายในห้องเรียนแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ โดยแบ่งออกตามความสนใจ และความต้องการคือ sensory area, practical life area, language area, maths area และ cultural studies area
เพื่อการดึงแสงธรรมชาติ และการระบายอากาศที่ดี ผู้ออกแบบทำการออกแบบความสูงในแนวตั้ง 3 ระดับ ที่เรียกว่า solar collectors ในตำแหน่งกลางอาคารทำให้เกิดความเชื่อมโยงแต่ละห้องเรียนเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากพื้นที่ในอาคารแล้ว แต่ละห้องยังมีระเบียง อัฐจันทร์ขนาดเล็ก น้ำพุ และไม้ผลัดใบ ในวันที่อากาศเป็นใจสามารถเปิดประตูเพื่อเชื่อมไปกับพื้นที่ภายนอก ให้ต้นไม้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในชั้นเรียน
รูปลักษณ์ของอาคารเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนเซลล์ที่ค่อยแตกตัวตามความต้องการ และแต่ละเซลล์ก็จะเชื่อมต่อกันในที่สุด ผลลัพธ์คือได้ห้องเรียนก็ถูกจัดเรียงในรูปทรงคล้ายพัด การเรียงร้อยต่อกันนี้ ไม่เพียงแต่เอื้อต่อพื้นที่ใช้สอย ส่วนต่อขยายที่เกิดขึ้น ทั้งซอกมุม ระเบียง ทางเดิน ยังกลายมาเป็นพื้นที่ปประชุม ทำงาน นั่งเล่นไปในตัว ในทุก ๆ พื้นที่คุณจะได้พบกับมุมที่ออกแบบมาให้เหมาะกับสัดส่วนของเด็ก โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเหนือห้องน้ำ พื้นที่ใต้บันได พื้นที่ริมหน้าต่าง แต่ละพื้นที่ล้วนเป็นความสูงที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเด็ก ๆ เท่านั้น จึงเสมือนเป็นพื้นที่พิเศษที่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึง
สำหรับสนามเด็กเล่นและสวน ออกแบบให้คงสภาพเดิมของพื้นที่ให้มากที่สุด ราก ลำต้น กิ่ง ใบไม้แห้ง ลูกสน หน่อไม่ฝรั่งในฤดูใบไม้ผลิ หรือจะเป็นเห็ดป่าในฤดูใบไม้ร่วง ก็สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่ แทนสนามหญ้ากว้าง สนามหญ้าเทียม เพราะต้องการให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ เกิดความสงบ และความเท่าเทียมระหว่างเพศ พื้นที่ลาดเอียงของเนินเขาถูกแปรเป็นทางลาด ทางลื่น บันได ผนังสำหรับปีนป่าย ระเบียง ทางเดิน ศาลาและถ้ำ ทำให้ในช่วงฤดูฝนที่ในตกหนัก ๆ จะเห็นเป็นทางน้ำไหลแทรกตัวไประหว่างหุบเขา
ในส่วนของการเลือกใช้วัสดุ เน้นวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อิฐแดงจึงถูกนำมาใช้ในส่วนของผนังและพื้น ส่วนไม้มาใช้เป็นโครงสร้าง กรุฝ้า และบานกรอบประตูหน้าต่างทั้งภายในและภายนอก โดยคอนกรีตใช้เฉพาะงานฐานราก และเหล็กเป็นเสาและราวจับ ทั้งหมดไม่มีการใช้พลาสติก ไม่มีการฉาบปูน ไม่ปูกระเบื้อง เป็นการเผยผิววัสดุทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผนังก่ออิฐที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไปในตัว เห็นร่องรอยของความผิดพลาด ให้เด็ก ๆ ได้เห็นการเกิดขึ้นของอาคาร การสร้าง การเรียงเสมือนทำหน้าที่เป็นสื่อการเรียนผ่านอาคาร
ยังไม่หมดเท่านั้นหลังคายังปกคุลมไว้ด้วยพืชคลุมดินที่ช่วยสะท้อนความร้อน และป้องกันความร้อนที่จะเข้าสู่อาคารโดยตรง ทำให้เมื่อมองมาจากเมือง มองจากระยะไกล จะเห็นเพียงก้อนอิฐสีแดงที่แทรกตัวอย่างกลมกลืนอยู่ท่ามกลางสีเขียวของธรรมชาติเท่านั้นเอง
ออกแบบ: Carmel Gradolí & Arturo Sanz
ภาพ: Mariela Apollonio
เรียบเรียง: BRL