g Garden ฟาร์มในเมือง สำหรับคนเมือง อาจจะเป็นคำจำกัดความที่สื่ออย่างเข้าใจง่ายๆ
แต่หากลงลึกเข้าไปในใจความสำคัญของพื้นที่กึ่งสาธารณะแห่งนี้ ค้นพบ 2 คำที่สื่อความหมายของฟาร์มในเมืองอย่างเด่นชัด นั่นคือการ “เชื่อมต่อและส่งต่อ” ภายใต้งบสนับสนุนจาก สสส ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ G Land เจ้าของพื้นที่กว่า 4 ไร่ ที่เคยรกร้าง ที่มอบหมายให้คนกลุ่มเล็กเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและคนเมืองซึ่งอยู่ในพื้นที่รอบด้าน ทั้งชาวคอนโดและชาวออฟฟิศ

Farm – Sharing Space แชร์พื้นที่ให้คนเมืองได้ใช้ร่วมกัน
ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ บวกกับเวลาในการดูแลแปลงผักมีเพียงน้อยนิด เหมือนจะเป็นปัญหาหลักที่คนเมืองต่างพบเจอ แต่ทั้ง 2 ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคนี้ถูกตีโจทย์ให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ผ่านแนวคิดการสร้างพื้นที่ Farm-Sharing ให้คนเมืองในชุมชนรอบข้างได้เข้ามา “เช่า” แปลงผักส่วนตัวเพื่อปลูกและดูแลผักที่ตนเองต้องการปลูกและกิน
“การทำเกษตรของที่นี่จะเน้นเป็นเกษตรสมัยใหม่ค่ะ คนเมืองอยู่คอนโดก็มาปลูกผักได้ ที่นี่จะมีตัวอย่างแปลงปลูกให้ดูเป็นตัวอย่าง มีทีมวิทยากรสอนให้ความรู้ ที่ g Garden จะมีให้เช่ากระบะปลูกผัก อัตราค่าเช่า 1,000 บาทต่อ 1 เดือน จะได้กระบะปลูกขนาด 1 x 1 เมตร โดยที่เจ้าของกระบะสามารถเลือกได้ว่าที่เช่าจะปลูกอะไรบ้าง มีเตรียมต้นพันธุ์ให้ หรือว่าอยากปลูกพันธุ์ผักอื่นๆ ก็แจ้งได้ มีทีมงานช่วยปลูก ช่วยแนะนำ ช่วยดูแล หากไม่มีพื้นฐานความรู้ก็สามารถเข้ามาเรียนได้ตลอดเวลา” คุณนิ จิราภรณ์ วันนะ อดีตนักวิชาการการเกษตรที่ผันตัวมาช่วยเป็นหนึ่งในวิทยากรและรับหน้าที่เป็นผู้จัดการภาพรวมของที่นี้ ได้อธิบายให้เข้าใจความหมายที่ชัดเจนของการเป็น Farm-Sharing

Farmer is Connect
นอกจากให้คนเมืองได้เข้าแชร์พื้นที่ปลูกผักร่วมกัน อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของ g Garden คือการเชื่อมต่อในหลายๆ ด้านที่เป็นมิติของการทำเกษตร ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดของคุณโชคชัย หลาบหนองแสง หรือโชค Project Manager ที่คลุกคลีกับเครือข่ายเกษตรกรมานานหลายปี จนมองเห็นช่องว่างของคนสองกลุ่มที่ต้องการการเชื่อมถึงกัน
“แนวคิดที่เป็นต้นทุนของเราคือการรู้จักเครือข่ายเกษตรกรที่มีผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในมือ แต่ในมุมมองของคนเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่หายาก เราจึงได้ไอเดียว่าทำไมเราไม่เอาพื้นที่ตรงนี้ให้ทั้งสองฝั่งมาเจอกัน ได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนความรู้การปลูกการทำ และถ้าคนเมืองอยากปลูกผัก ก็จะมีเกษตรตัวจริงที่จะเข้ามาหวุนเวียนให้ความรู้ สอนคนเมืองให้สร้างผลผลิตได้เอง ในขณะเดียวกันเกษตรกรมีผลผลิตจำนวนมากก็ส่งต่อมายังคนเมืองได้ง่ายๆ ”


ที่นี่จึงไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาปลูกผัก แต่ยังหมายถึงการเป็น Farm’s connect ที่มีตลาดนัดให้เกษตรกรนำผลผลิต สินค้าแฮนด์คราฟท์ ของกินของใช้ออร์แกนิก มาจำหน่ายสู่คนเมืองในชื่อ จ่ายตลาด ที่จะจัดขึ้นตามวาระในทุกๆ เดือน และยังมีทีมพาร์ทเนอร์ในส่วนของคาเฟ่ Sipping in Garden ที่มีเมนูเครื่องดื่มและขนมโฮมเมด พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม คลองเตยดีจัง วางจำหน่ายอยู่ภายใน
“ทีมงานที่เจอกัน เราต่างขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม การกินเปลี่ยนโลก กินอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ กลุ่มเราเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้แนวทางในการขับเคลื่อนของที่นี่เน้นไปในทิศทางเดียวกันคือ Sustainable agriculture” คุณนิเล่าย้ำ


Sustainable agriculture ทำเกษตรต้องยั่งยืน
“ชีวิตแบบ simple Life มันมีความสุขง่ายๆ จากแค่พื้นฐานเรามีที่อยู่ มีอาหารที่ดีกิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนิในช่วงหนึ่งที่พำนักอยู่ที่แอฟิกา ซึ่งทุกบ้านต่างทำแปลงผักคีย์โฮล ช่วงนั้นโควิด-19 เริ่มระบาด ไม่มีใครตอบได้ว่าจะต้องอยู่กับมันอย่างไร เห็นแต่ผู้คนหันมากักตุนอาหาร แต่โชคดีที่บ้านพักเรามีพื้นที่ มีผักกิน ไม่ต้องกักตุนอาหาร ไม่เดือนร้อนแบบนั้น มันเลยเป็นเหตุผลให้ตอนกลับมาไทย เราพยายามบอกเล่าถึงเรื่อง Sustainable agriculture ทำเกษตรอย่างไรให้ยั่งยืน ปลอดภัย ขยายสู่รูปแบบ Farm to table เกิดพื้นที่การแชร์ไอเดียและพัฒนาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการกินอย่างปลอดภัย ปลอดสารเคมี สู่การมีสุขภาพชีวิตที่ดี เราโฟกัสเรื่องนี้เป็นหลักสำคัญ” คุณนิกล่าว

ช่วงเวลาสั้น แต่ความรู้ยังอยู่ยาว
“ความตั้งใจที่อยากสร้างพื้นที่ให้คนเมืองได้เรียนรู้เรื่องการกิน การดูแลสุขภาพ มีพื้นที่ให้ลองปลูก มีกิจกรรมได้หาความรู้ พื้นที่ส่วนนี้จะปรับตามสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายอยากได้หรือต้องการ เลย์เอ้าท์อาจจะเปลี่ยนไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และถึงแม้ว่าโปรเจ็คนี้จะมีระยะเวลาไม่นานมาก อาจจะ 2-3 ปีตามแผนพัฒนาโครงการที่กำลังดำเนินไป หลายๆ คนก็มองว่าระยะเวลามันสั้น แต่หากคิดแค่ข้อจำกัดนี้ เราก็จะไม่ได้ลงมือทำสักพื้นที่ แต่หากลงมือทำจนเกิดภาพที่ชัด ที่นี่คือฮับของคนทำเกษตรในเมือง ไอเดียนี้มันกระจายในวงกว้างเป็นที่รู้จัก มันสามารถเกิดพื้นที่แบบนี้ที่ไหนก็ได้ ระยะเวลามันจึงไม่สำคัญเท่ากับคนในพื้นที่นี้ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ” คุณโชคกล่าวทิ้งท้าย
ในเมืองมีพื้นที่สร้างอาหาร เป็นแหล่งพักผ่อนที่แตกต่างไม่ได้แค่สวนสาธารณะ แต่มันคือเป็นทุกอย่าง เป็นแหล่งเติมไอเดีย ความรู้ สุขภาพ การเกษตร และสร้างเครือข่ายเพื่อทำกิจกรรมไปด้วยกัน มีความหลากหลาย และแปรเปลี่ยนไปตามผู้ใช้งานซึ่งเป็นคนในชุมชนเป็นผู้กำหนด สุดท้าย g Garden จะเป็นพื้นที่ที่ลงตัวในแบบของมันเอง
สถานที่ : g Garden ถ.พระราม 9 เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00-20.00 น.
เรื่อง JOMM YB
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย
คูโบต้า ฟาร์ม ฟาร์มสมัยใหม่ที่พร้อมสร้างประสบการณ์ทำเกษตรแบบ Smart Farming