ถ้าใครอยากมี บ้านกลางป่า สวยๆ เท่ๆ แต่ดูอบอุ่น เราขอแนะนำบ้านของคุณพ่อนักฟิสิกส์และลูกชายอดัมใน The Adam Project หนังจาก Netflix

บ้านหลังนี้เป็นบ้านของครอบครัว Reed ซึ่งพ่อเป็นอาจารย์และนักฟิสิกส์คนสำคัญ ผู้คิดค้นการเดินทางข้ามเวลาได้ ตัวบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดไม่ใหญ่นักพร้อมด้วยโรงรถเก็บของ ทั้งหมดเป็นบ้านซึ่งถูกสร้างขึ้นมาทั้งหลังในสตูดิโอเพื่อต้องการควบคุมแสงในการถ่ายฉากกลางคืน ออกแบบโดย Claude Pare โปรดักชั่นดีไซเนอร์ที่มีผลงานจากหนังดังอย่าง Spider-Man: Far from Home และ The Aviator


เฟอร์นิเจอร์ Mid-century Modern
นี่คือบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์สไตล์ Mid-century Modern ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เห็นได้ชัดเจนจากโต๊ะ Tulip (ปี 1955) ออกแบบโดย Eero Saarinen สถาปนิกชาวฟินแลนด์-อเมริกัน และโคมไฟแขวน Saucer Bubble Lamp ออกแบบโดย George Nelson (ปี 1952) เป็นจุดเด่นของฉากสนทนาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในหนัง ทั้งบ้านยังใช้ไม้โทนสีน้ำตาลอบอุ่นเป็นวัสดุหลักโทนเดียวกัน กลิ่นอายสแกนดิเนเวียที่มีวัสดุธรรมชาติ ผสมผสานไปกับการทดลองด้านวัสดุในช่วงยุค ’60 ขณะที่แนวทางการใช้สีผ้าบุสดใสถูกนำมาใช้กับชุดโซฟาสีเขียวมะกอกซึ่งหันหน้าสู่ผนังอิฐสีเบจ
จุดเด่นของเฟอร์นิเจอร์ยุค Mid-century Modern: รูปทรงออร์แกนิก ผ้าบุสีสด ผ้าบุที่ยึดหยุ่นได้มากขึ้นจากยุคก่อน การทำโมลด์ดัดไม้อัด


รังหลบตัวของนักฟิสิกส์
เซ็ตติ้งเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดแสดงถึงความเป็นผู้ชายที่อบอุ่นของตัวพ่อที่ลูกโหยหา แต่ทำไมทีมออกแบบถึงเลือกที่จะแสดงตัวตนของนักฟิสิกส์คนนี้ออกมาเป็นบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียหลังเล็กในป่า แทนที่จะเป็นบ้านโมเดิร์นกลิ่นอายล้ำยุค
Claude Pare ให้เหตุผลไว้ว่า ต้องการให้บ้านหลังนี้มีเสน่ห์และเป็นเหมือนที่หลบซ่อนตัวจากภายนอกด้วย ขณะที่ Mark Ruffalo ผู้แสดงเป็น Louis Reed กล่าวว่า เมื่อเขาเดินเข้าไปในโรงรถ เขาก็รู้ในทันทีเลยว่าคาแร็กเตอร์ของตัวละครต้องเป็นอย่างไร
การตกแต่งบ้านสไตล์สแกนดิเนเวีย : บ้านรับแสงด้วยหน้าต่างใหญ่ มีธรรมชาติแทรกตัวอยู่ในบ้าน ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้และหิน แปลนบ้านแบบโอเพ่น ลดส่วนตกแต่งแต่เน้นฟังก์ชัน แทรกสีสดเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

หาบ้านอ้างอิงจากโลกออนไลน์
ด้านการออกแบบ Claude Pare ยังพูดถึงการทำงานครั้งนี้ด้วยว่า สมัยแรกที่เขาทำงาน เวลาจะออกแบบฉากเขาต้องไปห้องสมุด ต้องรู้ว่าจะมองหางานของสถาปนิกคนไหน สไตล์อะไรที่ต้องการ แต่ตอนนี้มันสามารถหาได้ทางออนไลน์ เขาเจอบ้านหลังหนึ่งในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่มาเป็นบ้านอ้างอิงในการตกแต่ง และยังมีอีกหลังทางตอนเหนือของอังกฤษ ซึ่งออกแบบเมื่อปี 1967 ที่ใช้เป็นแรงบันดาลใจของชั้นหนังสือไม้และตู้เสื้อผ้าในห้องนอน


แปลนบ้านและมุมอ่านหนังสือ
เห็นได้ชัดเจนว่าบ้านหลังนี้มีแปลนบ้านแบบ open plan คือไม่มีผนังกั้นห้องต่างๆ ยกเว้นห้องนอน ซึ่งเป็นแปลนบ้านแบบโมเดิร์น แต่ทำการยกสเต็ปแบ่งพื้นที่ใช้งานด้านล่าง Living, Dining, Kitchen เป็นพื้นที่ใช้งานรวมของทุกคน ชั้นที่ยกสเต็ปเป็นพื้นที่ใช้งานเวลากลางคืน มีมุมหนึ่งเป็นมุมอ่านหนังสือของคุณพ่อ มีเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกของยุควางอยู่ นั่นก็คือ Eames Lounge Chair (ปี 1956) ออกแบบโดย Charles and Ray Eames เก้าอี้ที่โชว์การดัดไม้ให้เป็นสัดส่วนสวยงาม หนึ่งในคาแร็กเตอร์ของยุคนั้น

อีกมุมหนึ่งเรายังแอบเห็น Butterfly Chair (BKF Chair) ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกอาร์เจนตินาทั้งสามคน ได้แก่ Antonio Bonet, Juan Kurchan และ Jorge Ferrari Hardoy ในปี 1938 ซึ่งพวกเขาเคยทำงานในสตูดิโอของ Le Corbusier สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโมเดิร์น ส่วนเฟอร์นิเจอร์นอกจากจะมีชิ้นที่เลือกมาเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีการไปรื้อหาเฟอร์นิเจอร์มือสองซึ่งประกาศขายมาผสมผสานกันเพื่อให้บ้านดูสมจริง


เคล็ดลับความอบอุ่น
Claude Pare ยังให้ความเห็นอีกว่า บรรยากาศความอบอุ่นนั้นยังมาจากการเลือกใช้โทนสีเบจต่างๆ ภายใน และเสาสีน้ำตาลที่ขนาบทางเข้าครัว รวมทั้งต้นไม้ในบ้านมีฟิโลเดนดรอนเป็นตัวเชื่อมต่อกับต้นไม้สีเขียวด้านนอกมากมายที่เห็นจากหน้าต่าง ซึ่งมีทั้งต้นไม้จริงและต้นไม้ปลอม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรหลายคนคงอยากจะมีบ้านกลางป่าแบบนี้ในชีวิตจริง ที่ทั้งธรรมชาติและงานดีไซน์คลาสสิกไร้กาลเวลาอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นและแบ่งพื้นที่การใช้งานได้ลงตัวจริงๆ