ฟิล่า บราซิเลียโร (Fila brasileiro) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์ ฟิล่า บราซิเลียโร (Fila brasileiro) หรือที่รู้จักในชื่อ Brazilian Mastiff เป็นสุนัขในกลุ่ม Mastiffs ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ขึ้นชื่อในด้านทักษะการติดตาม ไล่ล่า และความก้าวร้าว จึงนิยมฝึกให้กลายเป็นสุนัขใช้งาน อย่าง สุนัขเฝ้ายาม สุนัขเฝ้าบ้าน และสุนัขเลี้ยงแกะ แต่ถึงแม้ว่าสุนัขพันธุ์นี้จะเก่งในการทำงาน ด้วยอารมณ์และขนาดของมัน อาจจะไม่ใช่สายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับทุกคน

สุนัขพันธุ์ Fila Brasileiro ถูกพัฒนามาจากสุนัขใช้งานพันธุ์ใหญ่ในประเทศบราซิล ซึ่งใช้สำหรับการติดตามและไล่ล่านักล่าขนาดใหญ่ ในช่วงที่แรงงานทาศถูกกฎหมายในประเทศบราซิล สุนัขพันธุ์นี้ถูกใช้ในการติดตามทาสที่หลบหนีและช่วยรั้งไว้จนกว่าหัวหน้าจะมา โดยสายพันธุ์นี้ถูกพัฒนาในช่วงศตวรรษที่ 15 จากสายพันธุ์ที่ลักษณะเหมือน English mastiff, bulldog, และ bloodhound ทำให้สุนัขพันธุ์นี้มีลักษณะบางอย่างเหมือนสุนัขพันธุ์ Bloodhound แม้ว่ามันจะมีความคล่องแคล่วว่องไวมากกว่าอย่างมาก

สายพันธุ์ Fila Brasileiro ถูกจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อปี 1946 แต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนจากสมาคม American Kennel Club หรือ United Kennel Club อีกทั้งสุนัขพันธุ์ Fila Brasileiro ถูกห้ามเลี้ยงในหลายประเทศ เนื่องจากมันมีอารมณ์ร้อนและโมโหร้ายได้ง่าย หรือในบางประเทศสามารถนำเข้ามาได้แต่ตัวผู้ต้องได้รับการทำหมัน

ลักษณะทางกายภาพ

สุนัขพันธุ์ ฟิล่า บราซิเลียโร (Fila brasileiro) เป็นสุนัขตระกูลโมลอสโซ่ หรือตระกูลมาสทีฟ ขนาดใหญ่ที่มีกระดูกใหญ่และผิวหนังย่น มีความสูงมาตรฐานของสุนัขตัวผู้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 65 และ 75 เซนติเมตร และหนักไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ส่วนในตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้โดยมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 60- 70 เซนติเมตร และหนักไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม

ขนของ Fila Brasileiro มีความนุ่มและสั้น แบ่งออกเป็นสีดำ น้ำตาล น้ำตาลอ่อน (Chestnut) เหลือง น้ำตาลแดง (Reddish) และ ลายเสือ (Brindled colours) ซึ่งเป็นสีที่ได้รับการยอมรับ ส่วนสีเทา ดำแทน เทาเข้ม (Blue)และขาว เป็นสีที่ถูกผสมเพิ่มขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ยังมีแต้มสีขาวที่มีขนาดเล็กกว่า ¼ ของพื้นที่ขนทั้งหมดที่พบได้บริเวณเท้า อกและส่วนต้นของหาง เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานพันธุ์ของสมาคม FCI (Fédération Cynologique Internationale)

อายุขัย
สุนัขพันธุ์ Fila Brasileiro มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ 9-11 ปี

ลักษณะนิสัย

สุนัขพันธุ์ Fila Brasileiro เป็นสุนัขที่มีความตั้งใจ แต่บางครั้งก็มักจะอารมณ์ร้อน ทำให้ควบคุมได้ยาก สุนัขพันธุ์นี้ถูกพัฒนามาจากสุนัขติดตามและล่านักล่าขนาดใหญ่ ถูกฝึกมาให้กัดบริเวณตำแหน่งคอของนักล่าเพื่อรอจนกว่าเจ้านายจะมาถึง ซึ่งในขณะที่เป็นลูกสุนัข Fila Brasileiro สามารถสังเกต เรียนรู้พฤติกรรมดังกล่าว และสามารถทำได้เมื่อโตขึ้น โดยเริ่มจากการล่าและฆ่าแมวหรือสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่น แต่ Fila สามารถเป็นเพื่อนและเป็นที่รักได้ภายในบ้าน แม้แต่เวลาที่อยู่กับเด็ก แต่ไม่ควรคาดหวังว่าพวกมันจะเป็นมิตรกับคนแปลกหน้า

สุนัขสายพันธุ์นี้เป็นสุนัขเฝ้ายามที่แข็งแรงและมันไม่ลังเลที่จะปกป้องครอบครัวและอาณาเขต การฝึกฝนและการเข้าสังคมตั้งแต่เล็กเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขพันธุ์นี้กลายเป็นสุนัขที่ดุร้ายและยากที่จะควบคุม

การเข้ากับเด็ก
สุนัขพันธุ์ Fila Brasileiro อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับเด็กและไม่เหมาะสำหรับเป็นทางเลือกสำหรับบ้านที่มีเด็กหรือผู้สูงวัย แต่หากมีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน สามารถลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการที่สุนัขและเด็กเติบโตพร้อม ๆ กัน เพื่อให้พวกเขาได้มีประสบการณ์ร่วมกันและช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น

การดูแล

การออกกำลังกาย
สำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่าง Fila Brasileiro ถือเป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากจนน่าประหลาดใจ ซึ่งบางทีอาจจะเกิดจากสุนัขถูกพัฒนามาจากสายพันธุ์ที่ใช้สำหรับทำงานและติดตาม ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ต้องได้รับการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เพื่อปลดปล่อยพลังงานที่มีและเพื่อรักษาน้ำหนักและรูปร่างให้คงที่

อาหาร
เนื่องจากสุนัขพันธุ์ Fila Brasileiro เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องได้อาหารที่มีสารอาหารและปริมาณที่เพียงพอ และควรเป็นอาหารสูตรสำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยในขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขควรให้อาหารสูตรลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่จนอายุ 18 ถึง 24 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสุนัขโตเร็วเกิน

โรคประจำพันธุ์

  • โรคระบบผิวหนัง
    • ผิวหนังอักเสบจากการรอยย่นของผิวหนัง (Lip-fold pyoderma)
  • โรคระบบประสาท
    • ความผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนคอ (Wobbler disease)
  • โรคระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • โรคฟันและเหงือก (Periodontal disease)
    • กระเพาะอาหารบิดหมุน (Gastric Dilation Volvulus)
    • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
    • การสร้างฮอร์โมนไทรอยด์บกพร่อง (Hypothyroidism)
  • โรคระบบกระดูกเอ็นและข้อต่อ
    • ข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia)
    • ข้อศอกเสื่อม (Elbow dysplasia)
    • การเจริญผิดปกติของกระดูกบริเวณข้อต่อ (Osteochondritis dissecans)
  • โรคตา
    • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)

เรื่อง : สุรภา ประติภาปกรณ์

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่