แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส (Thai Tonkinese) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

แมวพันธุ์ ไทยท็องกินีส เป็นแมวที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแมวพันธุ์วิเชียรมาศ (Siamese cat) กับแมวพันธุ์เบอร์มีส (Burmese cat) ที่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia)

ในปี ค.ศ. 1950 ‘Milan Greer’ มีความสนใจเรื่องลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ โดยเฉพาะลักษณะสีขนสีน้ำตาลเข้ม (Dark Brown cat) จากแมวพันธุ์เบอร์มีส กับแต้มคล้ายแมวพันธุ์วิเชียรมาศ จึงได้นำแมวทั้ง 2 สายพันธุ์มาผสมพันธุ์ ทำให้ได้ลูกออกมามีลักษณะเสียงแหลมกว่าแมวพันธุ์วิเชียรมาศ และมีนิสัยดี รวมถึงฉลาดมากกว่าแมวพันธุ์วิเชียรมาศ และแมวพันธุ์เบอร์มีส ซึ่งในตอนแรกถูกเรียกว่าแมวพันธุ์วิเชียรมาศสีทอง (Golden Siamese) แต่ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นแมวพันธุ์ท็องกานีส (Tonkanese) ซึ่งมาจากละครเพลง The musical South Pacific

ในปี ค.ศ. 1967 สมาคม The Canadian Cat Association ได้มีการขึ้นทะเบียนแมวที่เกิดจากผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์ เป็นแมวพันธุ์ท็องกานีส (Thai Tonkinese cat)

ในปี ค.ศ. 1971 ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นแมวพันธุ์ท็องกินีสอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการสับสนเรื่องสะกดชื่อสายพันธุ์ โดยถูกเปลี่ยนที่อ่าวตังเกี๋ย (Bay of Tonkin) ในประเทศเวียดนาม (Vietnam)

ในปี ค.ศ. 1984 สมาคม The Cat Fanciers Association เป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีชื่อเสียงมากที่สุด ได้มีการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ท็องกินีส และใช้ชื่อสายพันธุ์นี้มาจนถึงปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 2013 แมวพันธุ์ท็องกินีส ถูกจัดเป็นแมวสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ได้รับความนิยมอยู่อันดับที่ 17 จากแมวพันธุ์บริสุทธิ์ทั้งหมด โดยสมาคม The Cat Fanciers Association ในสหรัฐอเมริกา

ลักษณะทางกายภาพ

แมวพันธุ์ ไทยท็องกินีส เป็นแมวขนาดกลาง โดยหัวมีลักษณะกลม มีความยาวมากกว่าความกว้าง, มีโหนกแก้มสูง, ปากทู่ มีความยาวเท่ากับความกว้าง,หนวดบาง โค้งงอ, ตา เป็นรูปทรงอัลมอนด์ (Almond shaped) มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้า, หูมีขนาดปานกลาง กลม ฐานหูกว้าง มีขนสั้นบริเวณหู, ลำตัวยาว เป็นกล้ามเนื้อแน่น, หางเรียวยาว ขนเรียบ นุ่มคล้ายเส้นไหม (Silky) ยาวปานกลาง ขนเงาและมันวาว (Lustrous sheen) โดยสีขนสามารถพบได้หลากหลายสีมีมากกว่า 12 สี ซึ่งทุกสีจะต้องมีสีพื้นฐานเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ สีน้ำตาล (Brown), สีเบจ หรือสีอ่อนซีด (Beige), สีฟ้า (Blue), หรือสีแพลตตินั่ม (Platinum)

แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 8-10 นิ้ว หรือ 20-25 เซนติเมตร, ความยาวลำตัวมาตรฐานอยู่ที่ 12-15 นิ้ว หรือ 30-38 เซนติเมตร
และมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 6-12 ปอนด์ หรือ 3-7 กิโลกรัม

อายุขัย
แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 12-16 ปี

ลักษณะนิสัย

แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส มีนิสัยเป็นมิตร เอาใจใส่ ขี้เล่น และรักเจ้าของ มักจะคอยเดินตามเจ้าของ และชอบเจอผู้คน แต่ไม่ชอบให้วุ่นวายกับตัวเอง
สามารถปล่อยให้แมวอยู่ตัวคนเดียวในบ้านทั้งวันได้ ไม่มีนิสัยชอบร้อง

ดั้งเดิมมีบรรพบุรุษเป็นแมวพันธุ์วิเชียรมาศ ทำให้แมวพันธุ์ท็องกินีส มีความฉลาด กระตือรือร้น ชอบที่จะกระโดดไปที่สูง สามารถปรับตัวกับคนและสัตว์ได้

การเข้ากับเด็ก
แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส เป็นแมวที่เหมาะสมนำมาเล่นกับเด็ก และสุนัขได้ เป็นมิตร ให้ความสนใจกับเด็ก รวมถึงสามารถเล่นกับแมวด้วยการให้คาบของมาคืน (Play fetch) เหมือนกับสุนัขสายพันธุ์รีทรีฟเวอร์ (Retriever)

การดูแล

การออกกำลังกาย
แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมาก เพียงแค่ให้เล่นกับของเล่น หรือเล่นกับเจ้าของก็เพียงพอสำหรับแมว แต่เจ้าของควรให้แมวเล่นภายในบ้าน เพราะ แมวพันธุ์นี้ ขาดสัญชาตญาณการป้องตัว อาจเกิดอันตรายต่อแมวได้หากนำไปเล่นนอกบ้าน

อาหาร
แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส ไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเฉพาะสายพันธุ์ แต่ควรให้อาหารที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น การให้อาหารเปียกที่มีน้ำผสมอยู่มากเป็นวิธีที่ง่าย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หรือให้อาหารเม็ด แต่ควรมีน้ำปริมาณเพียงพอให้ตลอดทั้งวัน ควรแบ่งให้เป็น 2 มื้อต่อวัน

โรคประจำพันธุ์

  • โรคระบบประสาท
    • ภาวะความรู้สึกมากเกิน (Feline Hyperesthesia Syndrome : FHS)
    • การเคลื่อนไหวผิดปกติของลูกตา ซึ่งอยู่นอกอำนาจการควบคุมของจิตใจ  (Nystagmus หรือ Congenital vestibular disease)
  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Valve Stenosis)
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • ภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่ตั้งแต่กำเนิด (Congenital Megaesophagus)
    • โรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease :IBD)
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • โรคหอบหืด (Asthma)
  • โรคตา
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)
  • โรคมะเร็ง
    • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่