infinite riot ใช้ศาสตร์ทางด้านสถาปัตย์สร้างความโดดเด่นในงานศิลปะ

การเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นสถาปนิกแต่เพียงเท่านั้น เพราะองค์ความรู้ที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา จึงสามารถแตกแขนงอาชีพได้มากมาย เช่นเดียวกับ infinite riot

infinite riot หรือ ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา ภูมิสถาปนิกที่ผันตัวเองมาเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว และในวันนี้ที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่เป็นเพียงคำเรียกเอาเท่ แต่ปรามได้ใช้เวลาพิสูจน์และพัฒนาฝีมือจนออกมาในรูปแบบของผลงานที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์แบบหาตัวจับยาก

ด้วยความโดดเด่นจากการประยุกต์ศาสตร์ภูมิสถาปัตยกรรมมาเป็นผลงานศิลปะ ล่าสุดเขาได้รับคัดเลือกจากการประกวดแบบให้เป็นหนึ่งในศิลปิน ที่มาถ่ายทอดความคิดลงไปบนผนังเลียบคลองเปรมประชากร ซึ่งแล้วเสร็จไปเมื่อ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ก่อนจะไปชมผลงานตัวจริง จึงอยากขอพาทุกคนไปทำความรู้จักศิลปินผู้นี้กัน

infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชาinfinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา

SOLITUDE NO.2 ทบทวนตัวเองเพียงลำพังเพื่อค้นหาเส้นทางที่ขัดเจนอีกครั้ง
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
CONSENT เราจะยินยอมให้โชคชะตากำหนดทุกอย่างและสร้างเงื่อนไขในการดำรงอยู่จริงหรือ
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
ECHO เสียงสะท้อนจองคนกรุงที่เสาะหาธรรมชาติบำบัด ความคอนทราสต์ที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว
จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน
“ด้วยพื้นเพจบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มแรกได้ทำงานเป็นภูมิสถาปนิกอยู่เกือบ 2 ปี ซึ่งช่วงแรกทำอยู่บริษัท Shma SoEn ก่อนที่จะย้ายไปทำอยู่กับ อ.โก้-ดนัยวิทย์ อยู่คง บริษัท LOKOH= Co.,Ltd. ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเราก็ว่าได้ เพราะด้วยความที่อาจารย์เป็นคนชอบสเก็ตงาน เราได้รับหน้าที่ออกแบบเป็นงานผนังจัดวางดอกไม้ของโปรเจ็กต์  Eastern Star Sukhumvit 39  เราเลือกใช้วิธีสเก็ตงานออกแบบให้กับลูกค้า ปรากฏว่าลูกค้าชอบมาก หลังจากนั้นรูปแบบการสเก็ตของเราเลยเปลี่ยนไปกลายเป็นแพทเทิร์นมาโดยตลอด ซึ่งแต่เดิมเราเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้ว ฝึกใช้เส้นสายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองานตอนเรียน หรือทำวิทยานิพนธ์ พอได้มาทำงานเหมือนว่าอาจารย์เป็นคนกระตุ้นให้เราค้นพบตัวตนเจอ พัฒนาเส้นสายจนมั่นใจ และตัดสินใจที่จะเลือกการวาดรูปแบบนี้ไปเลย”
ที่มาของการวาดผนังที่คลองเปรมประชากร
“ไปเจอโพสต์ในกลุ่ม Facebook ว่าทางเขตจตุจักรร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังเฟ้นหาศิลปินจากทั่วประเทศมาประกวดภาพวาด เพื่อจะปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางริมคลองเปรมประชากร บริเวณหมู่บ้านประชาร่วมใจ ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นท่าเรือสัญจร ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังสถานีกลางบางซื่อในอนาคต พอรู้ข่าวเราเลยรีบสเก็ตรูปลงไอแพดแล้วส่งเดี๋ยวนั้นเลย เพราะเราอยากทำมานานแล้ว พอส่งไปก็ปรากฏว่าเราได้รับการคัดเลือกติด 1 ใน 6 คนจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด โดยมีกำหนดเวลาสร้างสรรค์ผลงานเพียง 7 วัน จึงเป็นที่มาของการสร้างผลงานบนผนังที่คลองเปรมประชากรนี้”
จากแนวคิดสู่ภาพที่ชื่อว่า “THIS IS THE DREAM BEYOND BELIEF”
“คลองเปรมประชากรกำลังจะครบรอบ 150 ปี โจทย์ที่ได้รับคือความรุ่งเรืองของคลองเปรมประชากร เรื่องราววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ชุมชนสองฝั่งคลอง หลังจากนั้นเราเลยไปศึกษาหางานวิจัยอ่าน ซึ่งแบ่งออกได้สามช่วงหลักๆ คือ ช่วงแรกสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทำการขุดคลองลัดจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านคมนาคม การค้า และบริโภคอุปโภค พอยุคต่อมาคนก็เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยเกิดเป็นชุมชนริมน้ำ ทำการเกษตรกัน ประมง จนปัจจุบันคลองก็ลดบทบาทความสำคัญลง มีการสร้างถนนมากขึ้น บ้านเรือนริมน้ำก็กลายเป็นอพาร์ทเม้นท์ ตึกแถว”
“ด้วยพื้นฐานจากการเรียนภูมิสถาปัตยกรรมมาก่อน บวกกับปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไอเดียภาพนี้จึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นการผสมผสานบริบทเมืองระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เป็นบรรยากาศของเมืองริมคลอง มีทั้งอาคารทั้งเก่า-ใหม่ พื้นที่สาธารณะ และวิถีชีวิต นำเสนอแบบไอโซเมตริก ตามที่เราถนัด ด้วยการเขียนภาพแบบนี้มาค่อนข้างเยอะเราจึงใช่วิธีวาดแบบสด ๆ โดยไม่ต้องร่างก่อน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากตอนเรียนสถาปัตย์อยู่แล้ว รวมไปถึงความรู้พื้นฐานในรายละเอียดของการวาดอาคาร ยิ่งทำให้สร้างความแตกต่างและเป็นอัตลักษณ์ของเราอีกด้วย”
ความคาดหวังในผลงานภาพวาดผนังเลียบคลองเปรมประชากร

“หวังว่าภาพของเราจะช่วยกระจายเสียงดึงดูดผู้คนให้มาท่องเที่ยว เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้น เหมือนกับย่าน บางรัก กุฎีจีน หรือคลองโอ่งอ่าง ได้คนได้เข้ามาพักผ่อน เดินชมผลงาน เกิดเป็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่ชุมชน และนำไปพัฒนาชุมชนต่อได้ หลังจากนั้นชุมชนจะเกิดความหวงแหนพื้นที่ และเกิดความยั่งยืนในที่สุด”

infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
URBAN IN ISO บันทึกเรื่องราวของเมืองผ่านชีวิตประจำวันในปัจจุบันลงบนเสื้อ ในรูปแบบของ Isometric
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
SKULL FACE แด่ความสำเร็จที่สุดในชีวิต “ความตาย” ในที่สุดก็หลุดพ้น
GOOD MORNING จิบกาชิล ๆ พร้อมเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศในตอนเช้าที่อบอุ่นกับธรรมชาติที่โอบล้อมเรานำพาเข้าสู่วันใหม่บนแก้ว
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
NATURAL PATTERN ย้อนคืนสู่ธรรมชาติ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป
การใช้สี และรายละเอียด
“ผลงานโดยส่วนใหญ่มักจะใช้สีน้ำมันสีดำเพื่อสื่อถึงความชั่วร้ายมืดหม่นเป็นพื้นหลัง วาดทับด้วยปากกาเคมีสีทอง และสีเงินเป็นลายเส้นที่สื่อถึงความรุ่งเรือง เมื่อทั้งสามสีมาเจอกันจึงสื่อถึง ความหม่นหมองที่ไม่สิ้นสุดแต่ก็ยังก็มีความสวยงามรุ่งเรืองอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งสีพวกนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากมิวสิควิดีโอที่มีความหม่นหมอง แต่ก็มีพลังมหาศาล อย่างแนวโพสร็อค โปรเกรสซีฟเมทัล หรือ Djent เช่นวง Unprocessed, Polyphia, Animal as Leaders เป็นต้น นอกจากนี้หากมองไปในรายละเอียดจะเห็นตัวการ์ตูนอนิเมะเรื่อง Evangelion สอดแทรกอยู่ตามที่ต่าง ๆ เป็นการ์ตูนแนวปรัชญาชีวิตที่เราชอบมาก ทั้งการฟังเพลงและการดูการ์ตูน ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตทำงาน เป็นพลังงานขับเคลื่อนจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานทุกชิ้นออกมาได้ในทุกวันนี้”
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
SAMSARA เกิด-ดับ ธรรมดา
SOLAR SYSTEM สุริยะจักรวาลบนแผ่นกระดาน สายสตรีทปรามก็ไป
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
CYCLE FISH เราเวียนว่ายอยู่ในหนทางอันเป็นปัจเจก
AMIKA AND ANASIA อมิกาและอนาเซียเป็นพี่น้องกันทั้งคู่คือความงามที่อยู่เหนือเพศสภาพ
infinite riot ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา
BE WITH YOU ฉันอบอุ่นและปลอดภัยเมื่ออยู่กับเธอ
ติดตามผลงานและความเคลื่อนไหวของ ปราม-หฤษฎ์ ธรรมประชา ได้ที่เพจinfinite riot

เรื่อง: j-bob
ภาพ: j-bob และ  infinite riot