ปลูกบอนโคโลคาเซีย เลี้ยงง่าย รายได้งาม

หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตที่เปรียบเปรยคนที่มีจิตใจรวนเร ไม่แน่นอนว่า “น้ำกลิ้งบนใบบอน” แล้วเคยเห็นกันไหม ถ้ายังนึกไม่ออก มาเลี้ยง บอนโคโลคาเซีย กัน เพราะนอกจากจะได้ชมความงามของใบ ยังสร้างรายได้เสริมให้กับผู้เลี้ยงอีกไม่น้อย มาทำความรู้จักต้นบอนของคุณเอ็ม-จักรพงษ์ สังข์งาม กันค่ะ

สวน บอนโคโลคาเซีย แห่งนี้อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่เดิมคุณเอ็มเลี้ยงบัวประดับเป็นหลักใช้ชื่อว่า “สวนบัวชากังราว” คุณเอ็มเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเลี้ยงบอนว่า “ผมจบมาทางการเกษตรเลยครับ ตอนนั้นก็ปลูกสะสมไม้ประดับทุกอย่างเจออะไรก็ซื้อมาปลูกไว้ จนเต็มบ้าน ด้วยความชอบดอกไม้ก็ได้ทำงานด้านไม้ดอก มีร้านดอกไม้ของตัวเอง ประมาณปี พ.ศ. 2555 ก็ผันตัวเองมาปลูกสะสมบัว ทดลองปลูกพันธุ์นั้นพันธุ์นี้ ลองปรับปรุงพันธุ์เอง ซึ่งก็ได้พันธุ์ใหม่ๆ สวยๆ ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดด้วย”

บอนโคโลคาเซีย

“สำหรับบอนโคโลคาเซีย (Colocasia) ผมชอบไม้ประดับกลุ่มนี้อยู่แล้ว ก็ซื้อมาปลูกสะสมไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ตอนนั้นราคาไม่สูง ประมาณ 500-1,500 บาทเท่านั้น บอนชุดแรกที่ซื้อเก็บคือ White Lava, Mojito, Maui Gold, Lemon Lime Gecko, Black Magic,Nancy’s Revenge, Tea cup และ Coffee Cup ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ

“ประมาณเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด 19 ระบาดปีแรก ตลาดต้นไม้ออนไลน์ก็เกิดขึ้น เรามองเห็นตลาดว่าเป็นไปได้ ก็เริ่มมีคนเข้ามาทักว่ามีพันธุ์นั้นพันธุ์นี้ไหม มีหน่อแบ่งขายไหม ตอนนี้ก็มีลูกค้าเยอะขึ้น ราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆซึ่งไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ และก็สั่งพันธุ์ใหม่ๆ มาเพิ่ม ลองเลี้ยง และลองทำลูกผสมเองด้วยครับ”

จุดเด่นของบอนโคโลคาเซีย หลายคนสงสัยว่า ต้นไหนเป็นโคโลคาเซียต้นไหนเป็นอะโลคาเซีย คุณเอ็มบอกวิธีสังเกตง่ายๆ คือ

“สิ่งแรกคือดูที่ แผ่นใบ โคโลคาเซียใบส่วนใหญ่จะมีนวลเคลือบ ฉะนั้นเวลาที่ฝนตกหรือน้ำหยดลงไป จะกลิ้งไปมาบนใบได้ จากนั้นมาดูตำแหน่ง สะดือใบ (รอยต่อระหว่างแผ่นในกับก้านใบ) อยู่ถัดจากโคนใบที่เว้าเข้ามาในแผ่นใบ ถ้าเป็นอะโลคาเซียสะดือใบจะอยู่ที่รอยเว้าโคน ที่สำคัญคือต้องดูที่ ช่อดอก ถ้าเป็นโคโลคาเซีย เวลาดอกบานปลีดอกสีจะเข้มขึ้น ดอกเพศเมียด้านล่างจะบานก่อน และส่งกลิ่นหอมตอนกลางคืนช่วงเที่ยงคืนเป็นต้นไป ส่วนดอกเพศผู้บนปลีดอกจะบานในวันถัดมาและจานดอกจะเปิดออกเพียงเล็กน้อย ขณะที่บอนตัวอื่น เมื่อดอกบาน จานดอกจะแผ่กางออก”

ลักษณะช่อดอกของบอนโคโลคาเซีย

สำหรับการปลูกเลี้ยงบอนโคโลคาเซีย คุณเอ็มแนะนำว่า บอนสกุลนี้ส่วนใหญ่ต้องการแสงเยอะ น้ำเยอะ ยกเว้นบางพันธุ์ที่ใบมีลายด่างจะต้องการแสง 50-60 เปอร์เซ็นต์ เช่น Mojito, Black Marble, Nancy’s Revenge, White Lava ส่วนดินที่ใช้ถ้าปลูกในกระถางที่มีรูระบายน้ำควรใช้ดินใบก้ามปูที่ย่อยสลายแล้ว วางในจานรอง หล่อน้ำไว้เล็กน้อย และถ้าปลูกในโอ่ง อ่างบัว หรือกระถางที่ไม่มีรูระบายน้ำ ควรใช้ดินเหนียวที่ใช้ปลูกบัว ไม่ควรใช้ดินใบก้ามปูจะทำให้น้ำเน่าเสีย รากเน่าได้ ส่วนปุ๋ยสามารถใช้ปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอโรยให้ห่างจากโคนต้นเล็กน้อย จะช่วยให้ใบมีสีเขียวสดใสขึ้น

Maui Gold บอนพันธุ์แรกๆ ที่คุณเอ็มซื้อสะสมไว้
Muai Sunrise เป็นอีกพันธุ์หนึ่งทีเลี้ยงไม่อยาก คล้ายกับ Tropical Sunrise ต่างกันที่สีก้านใบและสีเส้นใบ
Lemon Lime Gecko บอนใบลายที่ราคาไม่สูงมากและเลี้ยงง่าย โตเร็ว เหมาะกับมือใหม่
Mojito บอนใบลายที่กำลังเป็นที่นิยมขณะนี้
Nancy’s Revenge เป็นบอนอีกพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย จุดเด่นคือสะดือและเส้นใบสีเหลือง
White Lava เป็นพันธุ์ที่นิยมกันมากและมีราคาสูง

“บอนโคโลคาเซีย มีทั้งพันธุ์ที่แตกหน่อชิดต้น และแตกไหลยาวห่างจากต้น ถ้าเป็นพันธุ์ที่แตกหน่อชิดต้น ก็แยกหน่อมาปลูกต่อได้ สำหรับต้นที่มีไหล สามารถตัดชำไหลได้เช่นกัน โดยตัดให้เป็นท่อน แต่ละท่อนมีหนึ่งข้อ วางในแนวนอนขนานกับดินปลูก รักษาความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ ไม่นานก็จะแตกรากและใบใหม่ได้ ซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์โคโลคาเซียที่นิยมทำกัน

Colocasiaaquatilis ‘Paraiso’ ลำลังแตกไหลออกจากโคนต้นแม่

“ส่วนปัญหาของการเลี้ยงโคโลคาเซีย คือ มักเจอโรคตากบ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา มักจะพบช่วงในต้นที่เลี้ยงในที่ร่มมาก่อน แล้วยกไปออกแดด พอเจอฝนตก ก็จะเกิดจุดสีน้ำตาลขึ้น ต้องหมั่นฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา (ชื่อสามัญ อีทาบอกแซม (Ethaboxam)) จะช่วยลดการระบาดได้ ถ้าเป็นแมลงศัตรูพืชก็มี หนอนกระทู้ ก็เก็บตัวออกได้ไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าเป็นเพลี้ยอ่อนให้ใช้สตาร์เกิลจี โรยรอบโคนต้นส่วนไรแดงใช้สารป้องกันกำจัด ชื่อสามัญ เฟนไพรอกซิเมท (Fenpyroximate) จะช่วยให้ใบบอนสดใสขึ้น

ปัจจุบันคุณเอ็มมีลูกผสมโคโลคาเซียของตัวเองแล้ว หลังจากนำความรู้ที่มีอยู่มาลองผสมเกสรจนสำเร็จ ได้ต้นบอนลูกผสมใหม่ และตั้งชื่อว่า Fire Fox วันนี้มาเรียนรู้วิธีผสมเกสรบอนโคโลคาเซียกัน

Step 1 เลือกดอกจากต้นแม่ ที่ดอกเพศเมียเพิ่งบานวันแรก ใช้มีดกรีดเพือ่เปิดส่วนล่างของจานรองดอก

Step 2 แกะจานดอกออกให้หมดจะเห็นดอกเพศเมียที่พร้อมผสมด้านล่าง และดอกเพศผู้ที่ยังไม่พร้อมผสมอยู่ด้านบน

Step 3 ใช้พู่กันที่สะอาด ป้ายเกสรเพศผู้จากดอกเพศผู้ที่ต้องการใช้เป็นพ่อพันธุ์ ลงบนดอกเพศเมียของต้นแม่พันธุ์

Step 4 ประมาณ 1 เดือน ถ้าผสมติดดอกเพศเมียจะเริ่มขยายขนาด อีก 2 เดือนต่อมา ฝักจะนิ่มแสดงว่าเมล็ดแก่ พร้อมเก็บไปเพาะเป็นต้นใหม่ต่อไป

Fire Fox มี White Lava เป็นต้นแม่พันธุ์ และ Black Coral เป็นต้นพ่อพันธุ์
G-string เป็นลูกผสมของคุณเอ็มอีกต้นหนึ่ง
Black Coral บอนใบดำที่คุณเอ็มใช้เป็นพ่อพันธุ์ของ Fire Fox
Aloha เป็นบอนโคโลคาเซียที่มีใบเหลือบสีเงินต่างจากพันธุ์อื่น
Black Ripple บอนโคโลคาเซียสีคล้ำที่มีใบย่นเป็นเอกลักษณ์
Black Magic กลาย เกิดจากการกลายพันธุ์จากใบสีม่วงแดง กลายเป็นใบลาย เลี้ยงง่ายโตเร็ว
Black Sapphire เป็นบอนใบดำกว่าพันธุ์อื่น
Black Widow ก้านใบสีเขียว แผ่นใบดูคล้ายใบที่ยังไม่เต็มฟอร์มของ Pharaoh’s Mask
Pharaoh’s Mask หรือหน้ากากฟาโรห์ เป็นบอนที่มีความแปลกแตกต่างจากพันธุ์อื่นตรงเส้นใบสีเข้มและแผ่นใบที่ห่องุ้ม จนกลายเป็นที่นิยมขณะนี้
บอนนาด่าง (Colocasiaaqutilis(variegated)) พบที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
Colocasiaaquatilis ‘Paraiso’ เป็นบอนนาอีกต้นที่ใบมีลายด่างสวยงาม คุณเอ็มเล่าว่า ขายไปในราคาหนึ่งล้านบาท และผู้ซื้อไปตั้งชื่อพันธุ์ว่า Paraisoตามลักษณะใบด่างของฟิโลเดนดรอน ‘พาไรโซ’
Colocasiaaquatilis ‘Paraiso’ เป็นบอนนาอีกต้นที่ใบมีลายด่างสวยงาม คุณเอ็มเล่าว่า ขายไปในราคาหนึ่งล้านบาท และผู้ซื้อไปตั้งชื่อพันธุ์ว่า Paraisoตามลักษณะใบด่างของฟิโลเดนดรอน ‘พาไรโซ’

ก่อนจากกันคุณเอ็มแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อยากลองเลี้ยงบอนโคโลคาเซียเพื่อสร้างรายได้เสริมไว้ว่า “ผู้ที่เพิ่งเริ่มเลี้ยง อาจเริ่มจากพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายก่อน ซึ่งราคาไม่สูงมากนัก วางในที่มีแสงแดดค่อนข้างมาก จากต้นเล็กๆ อีก 60-100 วันก็จะแตกหน่อแตกไหลให้เราแยกมาปลูกขยายพันธุ์ไว้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ หรือขายสร้างได้งามกันแล้ว เพราะถ้าได้ลองปลูกเลี้ยงผมบอกเลยว่า จะหลงเสน่ห์ไม้ประดับกลุ่มนี้อย่างแน่นอนและด้วยความที่เป็นบอนที่เลี้ยงง่าย จึงสามารถปลูกประดับตกแต่งสวนเมืองร้อนได้ แค่เลี้ยงในกระถางขนาดใหญ่ ยกวางตั้งตกแต่งในสวนก็ทำให้สวนสวยงามขึ้นแล้วครับ มาเลี้ยงบอนโคโลคาเซียกันครับ”

เตรียมพบกับเหล่าบอนและ Aroid Family กันได้ในหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์บ้านและสวนค่ะ

เรื่อง : วิฬาร์น้อย

ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย

ขอบคุณข้อมูลจาก

คุณจักรพงษ์ สังข์งาม แห่งสวนบัวชากังราว จังหวัดกำแพงเพชร

Facebook  มือบอน

อีเมล [email protected]

โทรศัพท์ 08-09547-6060