แนวทางจัดการปัญหาในบ้าน หลังน้ำลด

น้ำท่วมบ้าน

ซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม

การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ก็คล้ายๆกับการซ่อมแซมพวก ประตู หน้าต่าง พื้น หรือฝ้าเพดาน มีวิธีดังนี้

  • พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด
  • เฟอร์นิเจอร์หุ้มผ้าที่มีส่วนประกอบของโครงไม้และผ้าหุ้มฟองน้ำต่างๆ หากโครงสร้างไม้ยังใช้ได้ ถอดเฉพาะโครงไปตากแดดแล้วเก็บไปหุ้มนวมใหม่ ส่วนฟองน้ำและผ้าหุ้ม ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนใหม่เลย เพราะน้ำจะพาเอาเชื้อโรคมาติดอยู่ ถึงจะตากแดดให้แห้งเชื้อโรคก็ยังมีอยู่
  • เฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง หากเป็นโครงไม้จริงต้องดูแลเป็นส่วนๆไป เช่น โครงไม้ด้านในหากไม่ผุกร่อน ให้ทิ้งไว้จนแห้งสนิทแล้วทำสีใหม่ ส่วนหน้าบานตู้ หากเป็นไม้อัดอาจต้องทำใจเพราะจะเกิดการบวมน้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่อาจเป็นเรื่องยาก แนะนำ ให้เปลี่ยนหน้าบานใหม่ ทำความสะอาดรูกุญแจและลูกบิด รวมถึงอย่าลืมตรวจสอบระบบไฟต่างๆ ที่อยู่ภายในตู้บิลท์อินด้วย
  • เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้บิดงอได้ และถ้าจะทาสีใหม่ ควรรอให้แห้งสนิทก่อน มิฉะนั้นจะลอกได้
  • เฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของเหล็ก อย่างขาตู้ที่ต้องถูกแช่น้ำแบบเต็มๆจนเกิดสนิม ให้นำชิ้นส่วนนั้นออกไปตากแดดจัดได้ จากนั้นเมื่อแห้งดีให้ใช้น้ำยาขัดสนิมขัดคราบออก แล้วเคลือบผิวด้วยน้ำยากันสนิมและพ่นสีใหม่ ก็จะกลับคืนสภาพเดิม

น้ำท่วมบ้าน

รั้วบ้านยังดูดีอยู่ ต้องซ่อมไหม

วิธีตรวจสอบสภาพกำแพงรั้วต้องดูด้วยตาเท่านั้น สังเกตดีๆว่ามีรอยร้าวใหม่เกิดขึ้นไหม เอียงหรือทรุดตัวเป็นคลื่นบ้างไหม ถ้ามีเพียงเล็กน้อย ก็ควรหาไม้มาค้ำยันและเรียกช่างมาซ่อม อีกอย่างที่ต้องสังเกตคือ ดินใต้แนวกำแพงรั้วอาจโดนน้ำชะไปจนเกิดเป็นโพรง ควรเร่งทำแนวอิฐบล็อกกั้นไว้ แล้วอัดดินเข้าไปเสริม และอัดดินให้แน่น ป้องกันดินในบ้านคุณไหลออกไปมากกว่านั้น ซึ่งจะมีผลต่อรากฐานของรั้วได้

ในเขตที่น้ำท่วมสูงรั้วบ้านถูกใช้เป็นแนวป้องกันน้ำ รอยร้าวอาจจะมองเห็นได้ไม่ชัด กรณีน้ำท่วมสูง เป็นเวลานานๆแบบนี้ ควรเรียกวิศวกรมาตรวจสอบ เพราะอยู่ดีๆรั้วอาจทรุดตัวและล้มลงมาได้

วิธีซ่อมมีหลายวิธี ถ้าเสาและคานปูนยังอยู่ในสภาพดีอาจแก้ไขโดยการทุบอิฐบล็อกและก่อใหม่เป็นจุดๆ แต่ถ้าเสียหายหลายจุดอาจจำเป็นต้องก่อใหม่ด้วยวัสดุที่เบากว่า เช่น อิฐมวลเบา หรือทำเป็นระแนงรั้วไม้หรือไม้เทียม ทั้งนี้เพื่อให้น้ำหนักเบาลง ในกรณีที่ทรุดหรือเอียงต้องรื้อทำใหม่เท่านั้น


ทำความสะอาดผ้าม่านอย่างไรดี

ก่อนการซักม่านควรนำวัสดุอื่นๆที่ไม่ใช่ผ้า ออกให้หมด ได้แก่ ตะขอม่าน ห่วงตาไก่ และโซ่ถ่วงบริเวณชายม่าน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ คุณต้องทราบว่าเนื้อผ้าของม่านเป็นผ้าประเภทใด เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ หรือผ้าไหม เพราะม่านมีการผลิตจากเส้นใยที่ไม่เหมือนกัน การดูแลรักษาจึงต้องเหมาะสมกับชนิดเส้นใยที่ผลิต

  • ผ้าฝ้าย ควรซักด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ปั่นแห้งด้วยความแรงระดับต่ำสุดและผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ไม่ควรให้โดนแดดจัด เพราะสีผ้าจะซีดเร็วมาก ควรรีดที่อุณหภูมิปานกลาง อย่างไรก็ตามการซักด้วยน้ำอาจมีผลทำให้ม่านหดและสั้นลงประมาณ 3-10 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความแน่นของเนื้อผ้า ดังนั้นหากนำไปแขวนแล้วม่านดูลอย อาจแก้ไขโดยเลาะชายผ้าลงหรือเย็บต่อชายผ้า เพื่อเพิ่มความสูง นอกจากนี้หากเป็นผ้าพิมพ์ลาย ต้องระวังเรื่องสีตกด้วย ทดลองง่ายๆโดยการแช่น้ำ แล้วสังเกตดูก่อนว่าสีของผ้าตกหรือไม่
  •  ผ้าใยสังเคราะห์ สามารถซักในน้ำอุณหภูมิปกติ ปั่นแห้งด้วยความแรงระดับต่ำสุดตากให้แห้ง แล้วรีดที่อุณหภูมิต่ำ-ปานกลาง ผ้าใยสังเคราะห์บางประเภทจะหดตัวได้หากรีดที่อุณหภูมิสูงผ้าไหม แนะนำให้ส่งซักแห้งกับผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
  • ทั้งนี้อยากให้เข้าใจธรรมชาติของม่านที่ผ่านการซักมาแล้วว่าความสวยงามและคุณสมบัติพิเศษของผ้านั้นๆอาจไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ความเงา ความยืดหยุ่น และคุณสมบัติการกันน้ำ ทั้งนี้เพราะสารที่เคลือบ finishing ผ้าได้ถูกซักล้างออกไปแล้วนั่นเอง

น้ำท่วมบ้าน

หลังน้ำท่วม ทำไมส้วมราดไม่ลง

เกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเพราะท่อตัน ส้วมเต็ม ท่อหายใจอุดตัน น้ำท่วม ฯลฯ การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ให้ตรงจุด ถ้าใช้อยู่คนเดียวก็อาจเดาได้ไม่ยาก คงมาจากการใช้งานของเราเอง หรือถ้าไม่ใช่ก็ต้องสังเกตเหตุการณ์แวดล้อม ดังนี้

ท่อตัน

  • สาเหตุ : ส่วนมากมาจากการทิ้งของที่ไม่ใช่ของเสียลงในส้วม ไม่ว่าจะเป็นเศษผม เศษอาหาร หรือ แม้แต่ทิชชู ซึ่งอาจไปกระจุกอยู่ทำให้เกิดการอุดตันได้
  • วิธีแก้ไข : เฉพาะหน้าที่สุดก็ใช้ไม้ที่ปลายเป็นจุกยาง (คงคุ้นภาพกันดี) กระทุ้งลงไป โชคดีอาจแรงพอ ให้ขยะพวกนั้นหลุดออกไปได้ แต่อย่าเพิ่งวางใจ อาจไปติดอยู่ที่ส่วนอื่นของท่อแทน บางคนเลยเลือกใช้ “โซดาไฟ” (NaOH/Sodium Hydroxide) ซึ่งหาซื้อไม่ยาก ใส่ลงไปในโถเพื่อช่วยย่อยสิ่งปฏิกูลที่ติดอยู่ แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับ“สารอนินทรีย์” ได้อยู่ดี…สุดท้ายถ้าไม่ไหว คงต้องเรียกผู้ให้บริการด้านนี้เพื่อใช้เครื่องมือเฉพาะมาจัดการปัญหาให้สิ้นซากไป

น้ำท่วม

  • สาเหตุ : น้ำจากธรรมชาติเข้าไปอยู่ในระบบบำบัด ไม่ว่าจะจากทางไหนก็ตาม พอเต็มไปด้วยน้ำแล้ว ก็เลยไม่มีพื้นที่ให้ของเสียของเรานั่นเอง ปัญหานี้โดยมากจะเกิดกับบ่อบำบัดแบบเก่า ที่เห็นเป็นท่อปูนวางซ้อนๆกันลงไปในดิน
  • วิธีแก้ไข : ถ้าเป็นบ่อปูนแบบที่บอก คงต้องรอให้น้ำลดมากพอที่จะไม่ทำให้น้ำดันเข้าไปในบ่อ จึงจะกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ส่วนถังบำบัดสำเร็จรูป แค่ขอให้มั่นใจว่าปิดฝาสนิทดีแล้ว รวมถึงท่อหายใจอยู่สูงกว่าระดับน้ำ เท่านี้ก็ไม่มีปัญหาเวลาน้ำท่วมแล้ว สำหรับบริการสูบส้วม สามารถสอบถามได้ที่หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ค่าบริการคิดตามปริมาณลูกบาศก์เมตร

ท่อหายใจอุดตัน

  • สาเหตุ : อย่าเพิ่งงงว่าคือท่ออะไร ลองไปด้อมๆมองๆ ดูแถวๆบ่อบำบัด จะมีท่อเล็กๆโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน นั่นคือท่อที่ไว้ระบายแก๊สออกจากระบบบำบัด ถ้าแก๊สระบายออกมาไม่ได้ ของใหม่ก็เข้าไปไม่ได้ เหมือนกับเราเป่าลมเข้าขวดแล้วมันไม่เข้านั่นเอง
  • วิธีแก้ไข : ถ้าอยู่ต่ำไปก็ต่อขึ้นมาให้สูง จะได้ไม่มีเศษอะไรเข้าไปอุดตันได้ง่ายๆ ถ้าจะให้ดีก็ควรหุ้มตาข่ายไว้ที่ปลายท่อด้วย

ส้วมเต็ม

  • สาเหตุ : ใช้งานมาเป็นเวลานาน หรือถังบำบัดมีขนาดเล็กเกินไป
  • วิธีแก้ไข : เมื่อแน่ใจแล้วว่าไม่ใช่เพราะสาเหตุอื่น เช่น ท่อตันหรือน้ำท่วม รวมทั้งถ้าลองนึกดู แล้วจำไม่ได้ว่าสูบส้วมไปครั้งสุดท้ายเมื่อไร ก็เรียกรถสูบส้วมมาได้เลย แต่ถ้าพิจารณาแล้วมันเต็มบ๊อยบ่อย ก็ต้องเช็กที่ถังบำบัดว่าเล็กไปหรือเปล่า หรือว่าทำงานผิดพลาดตรงไหน เช่น เชื้อจุลินทรีย์ที่มีหน้าที่ย่อยสลายสิ่งปฏิกูลในถังนั้นอาจตายไปเยอะ ก็ซื้อมาเติมกันได้

น้ำท่วมบ้าน

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จมน้ำ…ซ่อมใช้ต่อได้ไหม!

เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น ปั๊มน้ำ รวมถึงคอนเดนซิ่งยูนิตหรือคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศที่ตั้งอยู่ภายนอกบ้าน ขอแนะนำว่าไม่ควรปล่อยให้จมน้ำอย่างเด็ดขาด! เพราะถ้าปล่อยให้ถูกน้ำท่วมขังก็แสดงว่ามีน้ำไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้จะเจ็บป่วยหรือเสียหายมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ว่าได้ การนำไปตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้งแล้วมาใช้งานต่อเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตคุณอย่างมาก รวมถึงอาจเกิดอัคคีภัยในบ้านอันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้นก่อนน้ำจะมาควรถอดปลั๊กและยกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดขึ้นที่สูง

หลังน้ำลด ถ้าอยากรู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังใช้งานได้อยู่ไหม ควรทำให้แห้งสนิทก่อนที่จะเสียบปลั๊ก หากไม่แน่ใจควรให้ช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบหรือซ่อมแซมเสียก่อน โทร.ปรึกษาฝ่ายบริการหลังการขายของบริษัทผลิตภัณฑ์จะดีที่สุด เขาจะรู้ว่าต้องเปลี่ยนอะไรดีกว่าช่างทั่วไป แต่ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นดูจะเสียหายมากก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะนำมาใช้งาน หาซื้อใหม่ดีกว่า

หลายคนอาจคิดว่าปกติเครื่องคอมเพรสเซอร์เแอร์หรือเครื่องปั๊มน้ำก็อยู่ด้านนอก และโดนฝนมาตลอด ไม่เห็นจะเสียหายเลย ก็ต้องบอกว่าตัวถังของเครื่องป้องกันน้ำฉีด น้ำกระเด็นใส่ได้ แต่ถ้าจมน้ำนานเกินหนึ่งชั่วโมงโอกาสรอดก็ริบหรี่ ดังนั้นต่อไปนี้เราควรติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อยๆ 50 เซนติเมตร


ต่อไปนี้ทุกบ้านควรมีเครื่องสูบน้ำ

ช่วงน้ำท่วมหลายคนมีโอกาสได้เป็นเจ้าของเครื่องสูบน้ำหรือปั๊มเป็นครั้งแรก บางคนได้ใช้ บางคนแค่มีไว้ก็อุ่นใจ  ตอนนี้บ้านไหนยังไม่มีก็อยากแนะนำให้มีติดบ้านไว้บ้าง ซึ่งที่นิยมใช้กันนั้นมี 3 ชนิด ดังนี้

  1. ปั๊มไดโว่หรือปั๊มจุ่ม (Submersible Water Pump) ปั๊มน้ำหนักเบา ราคาประหยัด แต่ไม่ทนทานเท่าไร ถ้านานๆใช้ทีก็พอไหว ตัวปั๊มมีขนาดเล็กและใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ การทำงานของปั๊มชนิดนี้ต้องให้ตัวเครื่องจมอยู่ในน้ำ ไม่เช่นนั้นเครื่องจะร้อนเกินไป เหมาะจะใช้กับบ้านที่ยังไม่โดนตัดไฟ ใช้สูบน้ำที่ไหลผ่านแนวกำแพงกั้นน้ำได้
  2. ปั๊มหอยโข่ง (Centrifugal Pump) ปั๊มชนิดนี้สามารถสูบน้ำได้ไวและแรงที่สุด อัตราการสูบน้ำขึ้นอยู่กับแรงดัน สามารถต่อท่อเพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ได้โดยไม่ติดปัญหา เมื่อน้ำตื้นแล้วจะดูดไม่ขึ้น ปั๊มหอยโข่งเหมาะกับงานที่ต้องการแรงดันน้ำในการส่งผ่านมวลน้ำไป จึงอาจไม่เกินไปสำหรับการสูบน้ำท่วมขังภายในบ้าน แต่เหมาะกับการใช้งานที่เกี่ยวกับแรงดัน เช่น สูบน้ำขึ้นที่สูง
  3. ปั๊มพญานาค (Propeller Pump) ปั๊มชนิดนี้ราคาแพงกว่าปั๊มไดโว่ แต่ทนกว่าเยอะ อัตราการสูบน้ำขึ้นอยู่กับความเร็วของใบพัด สามารถสูบน้ำได้ปริมาณมาก แต่ไม่สามารถสูบน้ำในที่ตื้นได้ เนื่องจากลักษณะของหัวสูบที่ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่สูบได้ต่อวินาที ปั๊มพญานาคนับว่ามีความคุ้มค่าที่สุดในบรรดาปั๊มที่นิยมใช้กัน ที่สำคัญยังผลิตในประเทศ เหมาะสมกับการสูบน้ำออกจากพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ไร่นา เขตโรงงาน เป็นต้น

ใครว่าอยู่คอนโดมิเนียมสูงๆ ไม่ต้องกังวล

จริงอยู่ที่บนชั้นสูงๆน้ำจะท่วมไม่ถึง  แต่คุณจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแน่นอน หลายตึกจะมีที่จอดรถใต้ดิน ซึ่งน้ำก็สามารถท่วมได้ ชั้นล่างสุดซึ่งมักทำเป็นล็อบบี้ก็สามารถท่วมถึงได้  นอกจากนั้นบริเวณชั้นล่างหรือชั้นใต้ดินของคอนโดมิเนียมยังเป็นที่อยู่ของศูนย์ควบคุมระบบต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบไอที ระบบรักษาความปลอดภัย บางที่ก็ทำเป็นห้องเก็บของด้วย แล้วยังมีห้องเครื่องของลิฟต์ และอะไรอีกมากมายที่น้ำอาจท่วมถึง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้คุณลำบาก  ยิ่งสูงยิ่งลำบากถ้าไม่มีไฟฟ้า ปั๊มน้ำไม่ทำงาน ลิฟต์ ใช้ไม่ได้ รถก็จมน้ำ…เครียดพอแล้ว เอาเป็นว่าคุณต้องลงมาช่วยกันก่อกำแพงกระสอบทรายกับเขาด้วย อย่านิ่งนอนใจอยู่บนที่สูง


น้ำท่วมบ้าน

หลังน้ำท่วม เราทำอะไรกับถุงทรายได้

ถุงทรายเป็นพลาสติกบางๆที่รับน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัมต่อทรายหนึ่งถุงมานาน ทั้งวางซ้อนทับกันแช่น้ำและโดนแดดจัด ส่วนใหญ่จะใช้การได้อีกไม่นานเพราะเปื่อยยุ่ย ถุงไหนยังดีอยู่ก็เก็บไว้เก็บของใช้ในสวนและทำเป็นถุงขยะได้ ปัญหาจริงๆคือทรายข้างในมากกว่า ซึ่งมีอยู่สองทางเลือก หนึ่ง กำจัดให้หมด สอง เก็บไว้ใช้ประโยชน์ ข้อห้ามของการกำจัด คือ อย่ากวาดทิ้งลงท่อระบายน้ำ หรือเททิ้งลงคูคลองหรือในที่ดินของผู้อื่น เพราะจะไม่ย่อยสลายและทำให้ท่อน้ำตันได้ ถ้าไม่มีมาตรการดูแลดีๆอาจเกิดปัญหาใหญ่ต่อระบบระบายน้ำได้ คำแนะนำจากวิศวกรท่านหนึ่งในกรณีที่มีทรายเยอะมากๆ คือให้ลองโทรศัพท์ไปหาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ท่าทราย หรือบริษัทรับถมที่ เขาอาจมารับทรายไปใช้โดยที่คุณไม่ต้องออกแรง และเสียเงินในการขนไปทิ้งเอง

ส่วนคนที่คิดจะเก็บไว้ใช้ก็ต้องดูว่าทรายในถุงเป็นทรายประเภทใด ถ้าเป็นทรายก่อสร้างก็นำไปผสมปูน ก่อปูนฉาบได้ แต่ถ้าเป็นทรายขี้เป็ดหรือทรายที่มีเศษดินเศษอินทรีย์ผสมอยู่ ไม่เหมาะสมต่อการนำไปก่อสร้าง เพราะจะได้ปูนที่ไม่แข็งแรง ในกรณีที่เป็นการก่อสร้างเล็กๆน้อยๆ ในบ้าน เช่น ก่อขอบกระบะต้นไม้ ในสวนก็พอใช้ได้ อีกประโยชน์ของทรายพวกนี้ก็คือใช้รองพื้นปรับระดับก่อนปูแผ่นทางเดิน ปรับระดับสนามหญ้าในบริเวณที่อาจเกิดเป็นแอ่งทรุดหลังน้ำท่วม หรือใช้ถมที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเพาะปลูกได้


น้ำท่วมบ้าน

บ้านต้องสูงเท่าไร ถึงจะพ้นน้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาของส่วนรวมที่แก้ไขคนเดียวไม่ได้  แต่บ้านพังเพราะน้ำท่วมเป็นปัญหาของคุณคนเดียว (น่าเศร้า) หลายคนจึงอยากถมที่บ้านให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ คืออย่างน้อยถ้าบ้านฉันรอดก็ยังดี แต่ไม่รู้จะต้องถมกันสูงขนาดไหนถึงจะพ้น อย่างแรกต้องบอกก่อนว่าเมืองหลวงและหลายๆ เมืองในประเทศไทยสร้างอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำ ซึ่งมีหลายจุดที่อยู่สูงกว่าระดับทะเลไม่มาก บางจุดต่ำกว่าด้วยซ้ำ สมัยก่อนคนไทยจึงสร้างบ้านยกใต้ถุนสูงและเก็บของมีค่าไว้บนชั้นสอง ปัจจุบันเราเอาดินไปถมให้สูงทับทางระบายน้ำหรือทำให้การระบายยากขึ้น ระดับน้ำที่ท่วมก็จะสูงขึ้นทุกปี แล้วเราก็มาคิดเรื่องถมกันให้สูงขึ้นไปอีก สำหรับบ้านในต่างจังหวัด เราแนะนำบ้านสองชั้นยกใต้ถุนแทนการถมสูง แต่บ้านในกรุงเทพฯ ยังจำเป็นจะต้องถม เพราะถนนสาธารณะที่ราชการสร้างให้ก็ถมจนสูงหมดแล้ว ถ้าต่ำไปจะระบายน้ำลำบาก แต่บ้านจะต้องสูงขนาดไหนล่ะ ก่อนอื่นคุณจะต้องทราบว่าพื้นที่อาศัยของคุณอยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลางเท่าไร อยู่ด้านในหรือด้านนอกของแนวคันกั้นน้ำ ตลิ่งของคลองหรือแม่น้ำใกล้บ้านคุณสูงเท่าไร ถ้าอยากให้รอดพ้นจากน้ำท่วม พื้นชั้นล่างสุดของบ้านคุณอาจต้องสูงกว่าระดับดังกล่าวทั้งหมดอย่างน้อยหนึ่งเมตร ทั้งนี้บอกไม่ได้ว่าจะอยู่สูงกว่าถนนหน้าบ้านเท่าไร เพราะแล้วแต่พื้นที่ ที่น่าเสียดายคือ ข้อมูลเหล่านี้หายากเหลือเกิน จนไปจบที่ “กรมแผนที่ทหาร” ซึ่งมีข้อมูลภูมิศาสตร์เปรียบเทียบระดับทะเล แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าถ้าทุกคนโทรศัพท์ไปถามแล้ว หน่วยงานนี้จะมีบุคลากรคอยให้บริการได้เต็มที่หรือไม่


 ตรวจสอบถังน้ำบนดิน และถังน้ำใต้ดิน

บ้านใครมีถังน้ำบนดินให้ตรวจสอบว่าภายในมีการรั่วของน้ำที่ท่วมเข้ามาหรือไม่ ส่วนใต้ดินต้องตรวจสอบ“ฝา” ของถังน้ำให้ถี่ถ้วน เพราะเวลาน้ำท่วมถังน้ำจะอยู่ใต้น้ำ หากฝาของถังน้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดีหรือชำรุด น้ำสกปรกก็จะปะปนกับน้ำสะอาดในถัง ปัญหาเรื่องโรคภัยต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นหากเราใช้น้ำที่อยู่ภายในถังนั้น

สำหรับการแก้ไขปัญหา หากเป็นถังน้ำบนดิน ถังสเตนเลสจะมีปัญหาเรื่องสนิม วิธีการอุดรอยรั่วอาจพอทำได้ ในระยะสั้นและมีความเสี่ยงในการรั่วซึมของน้ำได้อีก แนะนำ ให้เปลี่ยนเป็นถังแบบไฟเบอร์กลาส เพราะทนทานและไม่เป็นสนิม หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำเล็ดลอดเข้ามาในถังได้ ก็ขอให้ต่อท่อน้ำตรงจากท่อประปาหน้าบ้านเข้ามาที่ตัวบ้านของเราเลย (โดยปกติแล้วบ้านที่มีถังน้ำใต้ดินจะมีวาล์วหมุนเปิดทางให้น้ำประปาจากหน้าบ้านวิ่งผ่านตรงเข้ามา ในบ้านโดยไม่ลงไปที่ถังน้ำใต้ดินได้ ต้องหาวาล์วตัวนี้ให้เจอ แล้วต่อตรงเข้ามาเลยดีกว่า น้ำจะเบาลงหน่อย แต่ก็ยังเป็นน้ำสะอาด) หลังจากน้ำลด แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ถังบนดิน หรือเปลี่ยนจากถังปูนใต้ดินมาเป็นถังน้ำสำเร็จรูปที่ออกแบบมาสำหรับใต้ดินเฉพาะจะดีกว่า


น้ำท่วมบ้าน

ระบบไฟฟ้าสำหรับบ้านที่น้ำท่วมบ่อย

ระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก สำหรับบ้านที่น้ำท่วมถึงควรเตรียมระบบไฟฟ้าใหม่ ดังนี้

  • ตัดระบบไฟฟ้าของปลั๊กเดิมทิ้ง ย้ายให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้นประมาณ 1 เมตร เพื่อให้พ้นระดับน้ำ ส่วนชั้นบนของบ้านไม่จำเป็นต้องย้าย เพราะระดับน้ำ (อาจ) ท่วมไม่ถึง
  • แยกระบบไฟฟ้าในส่วนที่น้ำท่วมบ่อยๆ ออกเป็นอีกวงจรหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการเปิด-ปิด โดยเฉพาะส่วนปลั๊กที่อยู่ชั้นล่าง
  • ถ้าที่สะพานไฟของท่านไม่ได้เขียนไว้ว่าสวิตช์ใดทำหน้าที่ควบคุมไฟฟ้าในส่วนใดบ้าง ก็เริ่มสำรวจเองได้ไม่ยาก เริ่มจากแสงสว่างก่อนเลย ด้วยการเปิดไฟทั้งหมดแล้วทยอยปิดสะพานไฟทีละตัว ดูว่าไฟบริเวณไหนดับบ้างแล้วจดไว้ ทำแบบนี้ไปจนครบสะพานไฟทุกตัว เมื่อครบแล้วก็สำรวจปลั๊กกันบ้าง วิธีการคล้ายกัน โดยใช้ “ไขควงวัดไฟ”วัดกระแสไฟฟ้า หาซื้อได้ตามแหล่งขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป ถ้าท่านรู้ตัวว่าบ้านของท่านอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมบ่อย เวลาออกแบบหรือซ่อมแซมบ้านก็ควรให้วิศวกรและช่างแยกระบบไฟฟ้าตั้งแต่แรก ก็จะช่วยประหยัดงบและดูสวยงามกว่าที่จะมารื้อและแก้ไขในภายหลัง ที่สำคัญคือ ปลอดภัยกว่าแน่นอน

น้ำท่วมบ้าน

ทางออกของบ้านที่อยู่ต่ำกว่าถนนหน้าบ้าน

สำหรับบ้านที่อยู่ต่ำกว่าพื้นถนนหน้าบ้าน สิ่งที่ต้องทำเมื่อน้ำจากถนนท่วมเข้ามาภายในพื้นที่รอบบ้านก็คือ การป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาในบ้าน ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงกระสอบทรายหรือการก่ออิฐเป็นขอบแบบถาวร และอุดช่องทางที่น้ำจะเข้ามาได้จากภายในบ้าน เช่น ท่อระบายน้ำทั้งหมด แต่หากยังมีน้ำเล็ดลอดเข้ามาอยู่ ต้องจัดการสูบน้ำออกไปโดยการใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำ ออกไปยังนอกบ้าน สำรวจพื้นที่ลาดเอียงรอบบ้าน เพื่อเป็นตำแหน่งของปั๊มน้ำ วางปั๊มน้ำสูบน้ำออก โดยควรพักระยะการทำงาน 5 นาที ทุก 3 ชั่วโมง หากมีปั๊ม 2 ตัวก็จะช่วยให้การระบายน้ำในบ้านดีขึ้น


น้ำท่วมบ้าน

ดีดบ้านหนีน้ำท่วมดีไหม

เชื่อว่าหลังน้ำท่วมใหญ่จะมีหลายคนต้องการยกบ้านให้สูงขึ้น ภาษาช่างเขาเรียกว่า “การดีดบ้าน” ซึ่งสามารถทำได้หลายแบบ คือ ขุดดินใต้บ้าน สกัดตอม่อเดิมเพื่อแยกบ้านออกจากฐาน แล้วยกทั้งหลังขึ้นจนถึงความสูงที่ต้องการ จากนั้นก็ทำเสาตอม่อใหม่มารองรับ หรือจะเป็นการยกเฉพาะชั้นสองขึ้น ทั้งสองแบบไม่จำเป็นต้องทำรากฐานบ้านใหม่ เพราะเป็นการยกขึ้นตรงๆ ไม่มีการย้ายซ้ายขวา ราคาค่าบริการขึ้นอยู่กับจำนวนเสา ความยากง่าย และชนิดของบ้าน

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทำไม่ยาก น้ำหนักเบา สามารถทำเสร็จได้ในเวลาหนึ่งเดือน บ้านปูนหนักที่สุด ราคาก็จะสูงขึ้นและใช้เวลาหลายเดือน ส่วนบ้านเหล็กจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าปูนและน้ำหนักเบากว่า อย่างไรก็ดี ควรเลือกบริษัทรับดีดบ้านที่ชำนาญเฉพาะทาง เพราะบ้านแต่ละแบบใช้เครื่องมือต่างกัน


แท้จริงแล้ว บ้านที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมควรเป็นอย่างไร

“บ้านเรือนไทย” หรือบ้านที่มีใต้ถุนสูงเป็นภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อนที่คิดถึงเรื่องการอยู่กับน้ำมาเนิ่นนานแล้ว แต่เป็นเพราะเหตุใดบ้านที่มีใต้ถุนสูงจึงหายไป กลายเป็นบ้านแบบฝรั่งที่มีความทึบตันและไม่ได้ เผื่อพื้นที่สำหรับอยู่กับน้ำอีกต่อไป ทั้งที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเป็นประจำ

การปลูกบ้านแบบฝรั่งหรือบ้านสมัยใหม่นั้นสามารถปลูกแบบยกพื้นสูงได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบ้านเรือนไทยทำด้วยไม้ทั้งหลัง วิธีแก้ปัญหาทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องของการถมดินให้สูงขึ้น น้ำสูงเท่าไหนก็จะถมดินให้สูงขึ้นกว่าระดับนั้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็เหมือนอยู่ในบ่อเช่นกัน น้ำไม่ท่วมบ้านเรา แต่จะไปท่วมบ้านที่ไม่ได้ถมดินเพิ่มแทน ฝนตกเล็กน้อยน้ำก็จะไปท่วมบ้านที่อยู่ต่ำกว่า

แม้ว่าเราจะหยุดกระแสความเจริญเติบโตของเมืองและทุนนิยมไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆ ถ้าในพื้นที่ที่ผังเมืองกำหนดให้เป็นทางน้ำหลากก็ควรมีมาตรการควบคุมเรื่องการถมที่ปลูกบ้านไม่ให้ขวางทางน้ำ คลองที่มีอยู่ ต้องเปิดโล่ง ห้ามถมหรือขุดคลองเพิ่มเลยจะดีมาก มีข้อบังคับเกี่ยวกับแบบบ้านที่จะสร้างในบริเวณนี้ เช่น ชั้นล่างต้องปล่อยเป็นใต้ถุน ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ทนน้ำได้ เช่น คอนกรีต พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างอาจทำเป็นที่จอดรถ ห้องเก็บของที่ประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว สามารถเคลื่อนย้ายไปไว้ชั้นบนได้ง่าย นอกจากบ้านจะไม่กลัวน้ำท่วมแล้ว เรื่องการถ่ายเทอากาศก็ยังดีกว่าบ้านที่ไม่มีใต้ถุนให้ลมได้พัดผ่านเลย


เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการนิตยสารบ้านและสวน, room และ my home

ภาพ cover : Amarin TV


วิธีป้องกันน้ำท่วม จากถนนไม่ให้ไหลเข้าบ้าน

สร้างบ้านอย่างไรให้พร้อมรับภัยน้ำท่วม!

ติดตามบ้านและสวน