คู่มือเลี้ยงเป็ดฉบับเบื้องต้น อยากเลี้ยงต้องรู้

หลังจากที่หลายคนหันมา เลี้ยงไก่ในบ้านไว้เก็บไข่ หรือเพื่อบริโภคเนื้อสร้างแหล่งอาหารในบ้านของเราเองแล้ว เชื่อว่าต้องมีคนที่กำลังมองหาสัตว์ชนิดต่อไปมาเลี้ยงเพิ่มแน่นอน นั่งคือการ เลี้ยงเป็ด ซึ่งเป็นสัตว์ปีกประเภทเดียวกัน สามารถเลี้ยงเพื่อเก็บไข่มารับประทาน เลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ หรือเลี้ยงเพื่อความสวยงามได้

การ เลี้ยงเป็ด มีความคล้ายคลึงกับการเลี้ยงไก่ หากใครเคยเลี้ยงไก่มาแล้วเลี้ยงเป็ดก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีเทคนิคที่แตกต่างกันเล็กน้อย ในหนังสือ “คู่มือเลี้ยงไก่ในบ้าน  สร้างเล้าไก่ในฝัน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี มีคำแนะนำเรื่องการเลี้ยงเป็ดเบื้องต้น ภายในเล่มยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพร้อมกับพาไปชมฟาร์มขนาดเล็กให้สามารถนำเทคนิคไปใช้เลี้ยงเป็ดที่บ้านได้ด้วย

เลี้ยงเป็ด

เป็ด เป็นสัตว์ปีกอีกประเภทหนึ่งที่เลี้ยงดูง่าย สามารถกินอาหารตามธรรมชาติได้ และให้ผลผลิตไข่จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงรองมาจากไก่ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีพันธุ์เป็ดไข่เชิงการค้าและพันธุ์ ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนเป็ดที่เลี้ยงในประเทศไทยในปัจจุบัน (มีนาคม พ.ศ. 2564) รวม 17,737,537 ตัว (เป็ดไข่ 16,819,398 ตัว และเป็ดเนื้อ 9,181,539 ตัว) ผลผลิตไข่เป็ดส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของขนมไทยและแปรรูปเป็นไข่เค็ม

เลี้ยงเป็ด

สายพันธุ์เป็ดน่าเลี้ยง เลี้ยงเป็ด

พันธุ์กากีแคมเบลล์ เป็ดไข่เชิงการค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีขนลำตัวสีน้ำตาล ในเพศผู้มีขนที่บริเวณส่วนอกเข้มกว่าลำตัว และมีขนที่ปลายหางม้วนงอ สามารถจำแนกเพศได้ง่าย โดยเพศผู้มีขนเป็นวงแหวนสีน้ำตาลอ่อนรอบคอ มีขนที่หัวสีเขียว เพศเมียให้ผลผลิตไข่ฟองแรกที่อายุประมาณ 18-20 สัปดาห์ และให้ผลผลิตไข่อย่างน้อย 280 ฟองต่อตัวต่อปี

พันธุ์กบินทร์บุรี เป็ดไข่ที่พัฒนาพันธุกรรมจากเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์โดยกรมปศุสัตว์ สามารถให้ผลผลิตไข่เมื่อมีอายุ 150-160 วัน โดยให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟองต่อตัวต่อปี

พันธุ์ปากน้ำ เป็ดไข่พื้นเมืองขนาดเล็กที่อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ มีขนลำตัวสีดำ เพศผู้มีขนที่หัวสีเขียวเข้ม ปาก แข้ง และเท้าสีดำ เริ่มให้ผลผลิตไข่เมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์ สามารถให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟองต่อตัวต่อปี

พันธุ์บางปะกง เป็ดไข่ที่พัฒนาพันธุกรรมโดยกรมปศุสัตว์ มีขนลำตัวสีกากี เพศผู้มีขนสีเขียวเข้มที่บริเวณหัว ปลายหาง และปลายปีก โดยมีขนปลายหาง 2-3 เส้นงอนขึ้นด้านบน ปากสีดำ ขาและเท้ามีส้ม เริ่มให้ไข่ที่อายุประมาณ 20 สัปดาห์ โดยให้ผลผลิตไข่เฉลี่ย 280 ฟองต่อตัวต่อปี

เลี้ยงเป็ด

อาหาร เลี้ยงเป็ด

หากใครที่เลี้ยงไก่อยู่แล้วสามารถให้อาหารไก่กับการเลี้ยงเป็ดได้ ซึ่งอาหารสำหรับเป็ดในแต่ละช่วงอายุมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต

ลูกเป็ด อายุ 0-3 สัปดาห์ ต้องการโปรตีน 17-18% มีพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ 2,890 kcal

ลูกเป็ด อายุ 3-8 สัปดาห์ ต้องการโปรตีน 16% มีพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ 2,730 kcal

เป็ดรุ่น อายุ 8-20 สัปดาห์ ต้องการโปรตีน 15% มีพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ 2,600 kcal

เป็ดให้ไข่ เริ่มอายุ 20 สัปดาห์ ต้องการโปรตีน 18% มีพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ 2,750 kcal

(สามารถดูปริมาณพลังงานเพิ่มเติมได้บนกระสอบบรรจุอาหาร)

เมื่อเป็ดเริ่มไข่จะกินอาหารวันละ ประมาณ 100  กรัม/ตัว/วัน  น้ำหนักไข่ระยะแรกประมาณ 45 กรัม และจะเพิ่มขึ้นตามอายุเป็ด เมื่อเป็ดอายุมากขึ้นต้องให้อาหารมากขึ้นด้วยราว 140-160 กรัม/ตัว/วัน ถ้าอาหารไม่เหมาะสมไข่ก็จะเล็กลง อาหารเป็ดอาจจะใช้อาหารสำเร็จรูป หรือใช้หัวอาหารผสมกับวัตถุดิบจากธรรมชาติอื่น ๆเพื่อลดต้นทุน ได้แก่ ปลายข้าว รำหยาบ กากถั่วเหลือง ปลาป่น ใบกระถินป่น เปลือกหอยป่น เป็นต้น

เลี้ยงเป็ด
เลี้ยงเป็ด

ข้อสังเกตในการเลี้ยงเป็ดไข่

  • การจัดการเลี้ยงดูโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับไก่ โดยการเลี้ยงลูกเป็ดในช่วง 2 สัปดาห์แรกเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด หากสามารถจัดการให้ลูกเป็ดมีสุขภาพแข็งแรง และมีอัตราการเจริญเติบโตปกติ จะทำให้เป็ดมีการเจริญเติบโตช่วงท้ายที่ดี และการให้ผลผลิตไข่ในปริมาณสูงในระยะเวลานาน
  • ควรเริ่มให้ลูกเป็ดลงเล่นน้ำในสระเมื่อมีอายุ 3 สัปดาห์ โดยปล่อยให้ลงน้ำในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด เป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที แล้วต้อนขึ้นตากแดดให้ขนแห้ง แล้วต้อนเข้าคอก
  • พื้นที่ต่อตัวสำหรับเป็ดไข่ คือ 5 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ในขณะที่ สามารถเลี้ยงเป็ดเนื้อได้ถึง 7 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
  • โรคที่สำคัญในเป็ด คือ กาฬโรค และอหิวาต์เป็ด จึงควรให้วัคซีนป้องกันโรคตามที่กรมปศุสัตว์แนะนำ

การเตรียมโรงเรือน และ อุปกรณ์สำหรับ เลี้ยงเป็ด ไข่

  • พื้นที่การเลี้ยงระยะลูกเป็ดและเป็ดรุ่น 6 – 8   ตัวต่อ ตรม. พื้นที่การเลี้ยงระยะเป็ดไข่   3 – 4   ตัวต่อ ตรม.
  • พื้นที่ในโรงเรือน แบ่งส่วนพื้นที่การเลี้ยงดังนี้ พื้นที่การกินอาหารและบริเวณพักผ่อน  ประมาณ  50%  ของโรงเรือน  พื้นที่ไข่  ประมาณ  20% ของโรงเรือน  พื้นที่ลานนอกโรงเรือนมีบ่อน้ำ  หรือ  รางน้ำ  สำหรับให้เป็ดกินน้ำ และเล่นน้ำ ประมาณ 30% ของพื้นที่
  • สำหรับการเลี้ยงเป็ดจำนวนน้อย ๆในบ้านไว้ดูเล่นหรือหวังผลเพื่อเก็บไข่ สิ่งที่ต้องเตรียมคือแหล่งน้ำสำหรับเป็ดว่ายน้ำออกกำลัง จะเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ อ่างซีเมนต์ กะละมังพลาสติก ตั้งไว้มุมสวนหากมีบริเวณควรกันพื้นที่เป็นคอกเล็กๆ เป็นพื้นที่เฉพาะของเป็ด เนื่องจากเป็ดจะถ่ายมูลเหม็นกว่าไก่การกั้นบริเวณจะช่วยให้เก็บกวาดได้สะดวก และจัดการเรื่องกลิ่นได้ง่าย

การสังเกตพฤติกรรมของเป็ดที่ป่วย

อหิวาต์เป็ด

อาการ ซึม เบื่ออาหาร จับกลุ่มอยู่ใกล้ที่ให้น้ำ อุจจาระสีขาวปนเขียว หากมีอาการเรื้อรังจะทำให้ข้อเข่าและข้อเท้าอักเสบ และให้ผลผลิตไข่ลดลง

การรักษา ใช้ยากลุ่มซัลฟา (ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน) หรือยาปฏิชีวนะ (คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน) ผสมในอาหาร ในอัตรา 5 กรัม ต่ออาหาร 10 กิโลกรัม

การป้องกัน ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง ตัวละ 1 ซีซี ครั้งที่ 1 อายุ 3 สัปดาห์  ครั้งที่ 2 อายุ 3 ดือน และฉีดซ้ำทุก 3 เดือน

กาฬโรค

อาการ ซึม เบื่ออาหาร ท้องร่วง ปีกตก ไม่ค่อยเคลื่อนไหว น้ำตาค่อนข้างเหนียว อุจจาระสีเขียวปนเหลือง รอบทวารแดงช้ำ

การรักษา ไม่มียารักษา

การป้องกัน ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้ออก ตัวละ 1 ซีซี  ครั้งที่ 1 อายุ 3-4 สัปดาห์ ครั้งที่ 2 อายุ 10-12 สัปดาห์ และฉีดซ้ำทุก 6 เดือน

เอกสารอ้างอิง

กรมปศุสัตว์. 2544. การเลี้ยงเป็ดไข่พันธุ์กบินทร์บุรี. กองปศุสัตว์สัมพันธ์, กรมปศุสัตว์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พญาไท, กรุงเทพฯ.

กรมปศุสัตว์. 2559. เป็ดบางปะกง. ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์. สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์, กรมปศุสัตว์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นครสวรรค์.

หาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ เป็ด ห่าน และนกกระทาได้เพิ่มจากหนังสือ คู่มือเลี้ยงไก่ในบ้าน สร้างเล้าไก่ในฝัน

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

เรื่อง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี

ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน

สร้างฟาร์มเล็ก ๆ ในบ้านให้น่ารักราวกับอยู่ในโลกนิทาน

สูตรอาหารไก่ แบบประหยัดงบ