โรคพยาธิเม็ดเลือด

โรคพยาธิเม็ดเลือด หรือโรคไข้เห็บ (Canine Blood Parasites)

โรคพยาธิเม็ดเลือด
โรคพยาธิเม็ดเลือด

โรคพยาธิเม็ดเลือด ในสุนัขและแมว เป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตสุนัขและแมวในบ้านเราได้อย่างต่อเนื่อง เพราะ พยาธิเม็ดเลือดถูกนำโดยเห็บหรือหมัด

เมื่อสุนัขหรือแมวติดเห็บหรือหมัดมาจึงมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับเชื้อ โรคพยาธิเม็ดเลือด ติดมาด้วย ถ้าตรวจพบเร็วอาการยังไม่รุนแรงมาก สามารถให้ยาได้ทันการณ์ก็สามารถหายขาดได้ แต่ถ้าอาการลุกลามไปมากแล้ว โอกาสในการช่วยชีวิตก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ

สาเหตุ

พยาธิเม็ดเลือดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เข้าไปบุกรุกเซลล์เม็ดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือด จัดอยู่ในกลุ่มโปรโตซัว (Protozoa) หรือกลุ่มริกเกตเซีย (Rickettsia) มีหลายสปีชีส์ (Species) เช่น Babesia spp. Mycoplasma spp. Ehrlichia canis และ Hepatozoon spp. เป็นต้น แต่ละชนิดก็มีเซลล์เม็ดเลือดเป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือมีการถ่ายทอดเชื้อผ่านพาหะ (Vector) อย่างเห็บและหมัด

เห็บหมัดจะดูดเลือดจากสุนัขหรือแมวที่มีพยาธิเม็ดเลือด ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิเม็ดเลือดเข้ามาเจริญอยู่ในตัวเห็บหมัดนั้น ๆ พอเติบโตได้ระยะที่สามารถแพร่เชื้อได้ เมื่อเห็บหมัดไปดูดเลือดสุนัขหรือแมวอีกตัวหนึ่งก็เกิดการถ่ายทอดเชื้อจากเห็บหมัดไป ยังสุนัขหรือแมว พยาธิเม็ดเลือดจึงเข้าไปเจริญเติบโตเพิ่มจำนวน และทำลายเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายของสุนัขและแมวได้ทำให้เกิดอาการป่วยด้วยโรคพยาธิเม็ดเลือดตามมา

อาการ

อาการเด่นชัดของโรคพยาธิเม็ดเลือด คือ ภาวะซีดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงของพยาธิเม็ดเลือด เกิดภาวะโลหิตจาง เป็นอาการเด่นที่เจ้าของสามารถสังเกตได้เอง โดยดูจากสีของเยื่อเมือกบริเวณต่าง ๆ เช่น สีเหงือก สีเยื่อบุตา สีอวัยวะเพศ เป็นต้น แต่เจ้าของส่วนมากมักรู้ว่าสุนัขหรือแมวป่วยด้วยอาการ ซึม ไม่กิน ซึ่งเป็นอาการของโรคพยาธิเม็ดเลือดได้เช่นกัน แต่อาการเหล่านี้เป็นกลุ่มอาการกว้าง ๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันก็แสดงออกทางอาการแตกต่างกันไป นอกจากภาวะซีด ซึม ไม่กินอาหารแล้ว สัตว์ป่วยด้วยพยาธิเม็ดเลือดจะพบอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติหรือเป็นไข้ ต่อมน้ำเหลือโต น้ำหนักลด บางรายพบปัสสาวะสีเข้มคล้ายมีเลือดปนหรือสีน้ำตาล สามารถพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว อาเจียน อาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น เลือดออกหรือการอักเสบของตา อาการทางระบบประสาทและภาวะเจ็บขาได้เช่นกัน

นอกจากการทำลายเม็ดเลือดแดงแล้ว พยาธิเม็ดเลือดยังทำลายเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว การทำลายเกล็ดเลือดจะทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่าค่าปกติ อาการของเกล็ดเลือดต่ำจะพบจุดเลือดออก ปื้นเลือด หรือจ้ำเลือด บริเวณผิวหนัง อาจสังเกตเห็นได้ง่ายในบริเวณที่ผิวบอบบางหรือมีขนปกคลุมน้อยอย่าง ใต้ท้อง ขาหนีบ รวมถึงทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล และถ้ารุนแรงจะเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร พบการถ่ายเป็นเลือดสดหรือเลือดสีดำได้ ภาวะเลือดออกต่าง ๆ เหล่านี้จะยิ่งทำให้ร่างกายเสียเม็ดเลือดแดงมากขึ้น ซ้ำเติมภาวะโลหิตจางให้รุนแรงมากไปอีก

การทำลายเม็ดเลือดขาวส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พบว่า ในสัตว์ป่วยที่ป่วยด้วยพยาธิเม็ดเลือดอาจเกิดภาวะกดภูมิคุ้มกัน
(Immunosuppression) ทำให้ติดเชื้อของโรคอื่นตามมาร่วมกับพยาธิเม็ดเลือดได้อีก หากภาวะโรคลุกลามมากขึ้น สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือด ภาวะที่ไขกระดูก (Bone marrow) ไม่สามารถทำงานสร้างเม็ดเลือดได้ ตับวายและไตวาย เป็นต้น ความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคพยาธิเม็ดเลือดได้โดยใช้ข้อมูลหลายอย่าประกอบกัน ตั้งแต่ประวัติที่ได้จากเจ้าของ ลักษณะอาการที่ปรากฎของสัตว์แต่ละตัว และผลตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ โดยการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการนั้นเบื้องต้นสัตวแพทย์จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือดของสัตว์ป่วย นำไปตรวจเพื่อดูค่าเม็ดเลือดโดยรวม (Complete blood count, CBC) และค่าเคมีในเลือด (Blood chemistry) เช่น ค่าเอนไซม์ตับ (Liver enzyme) ค่าของเสียในเลือด (Blood urea nitrogen, BUN) และค่าความสามารถในการกรองของเสียของไข (Blood creatinine) ที่สำคัญคือ การนำเลือดไปตรวจเซลล์ใต้กล้องจุลทรรศน์ (Blood smear) เพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือด ร่วมกับการหาเชื้อพยาธิเม็ดเลือดที่อยู่ในเลือด อย่างไรก็ตามการตรวจเซลล์ใต้กล้องจุลทรรศน์นั้นเป็นการสุ่มตัวอย่างจากเลือดเพียง 1 หยด จึงมีความไว (Sensitivity) ที่ไม่สูงนัก แต่มีความจำเพาะ (Specificity) ที่สูง หากตรวจพบก็สามารถยืนยันการเป็นพยาธิเม็ดเลือดได้

นอกจากวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานอย่างการตรวจค่าเลือด และการดูลักษณะของเม็ดเลือดใต้กล้องจุลทรรศน์แล้ว ปัจจุบันยังสามารถตรวจหาเชื้อพยาธิเม็ดเลือดบางชนิดได้จากการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างเมื่อมีการติดเชื้อ โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป (Test kit) ที่สามารถดำเนินการได้ภายในห้องปฏิบัติการของคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์

ถ้าต้องการวิธีการตรวจที่มีความไวและความจำเพาะมากขึ้น สามารถใช้เทคนิกทางโมเลกุล เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อพยาธิเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้ด้วยวิธี PCR (Polymerase chain reaction) ด้วยเช่นกัน

ในสัตว์ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆเหล่านั้นมากขึ้น ทางห้องปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการรักษาได้อย่างทันท่วงทีต่อไป เช่น การตรวจเพื่อดูค่าความสามารถในการแข็งตัวของเลือด (Coagulation test) การตรวจเพื่อดูปฏิกิริยาระหว่างเม็ดเลือดแดงและภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น

การรักษา

การรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดมียาที่รักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องระบุชนิดของพยาธิเม็ดเลือดที่เป็นสาเหตุการป่วยของสุนัขและแมวตัวนั้น ๆ ให้ได้เสียก่อน เพราะพยาธิเม็ดเลือดแต่ละชนิดมียาที่ใช้ในการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันออกไป บางชนิดเป็นยาแบบกิน เจ้าของสามารถป้อนให้เองที่บ้านได้ แต่ต้องป้อนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำตามเวลาที่สัตวแพทย์ระบุ เพราะ ส่งผลต่อปริมาณยาในกระแสเลือดและประสิทธิภาพของยาในการฆ่าพยาธิเม็ดเลือด ยาบางชนิดไม่มีแบบกินจำเป็นต้องได้รับการฉีด ซึ่งทั้งยากินและยาแบบฉีดมีข้อควรระวังในการใช้ และผลข้างเคียงของยาที่ไม่เหมือนกัน ต้องใข้ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น

สัตว์ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรง ต้องรับการถ่ายเลือด (Blood transfusion) จากสุนัขหรือแมวที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามเกณฑ์ที่สามารถเป็นผู้บริจาคเลือดได้ (Blood donor) และต้องมีความเข้ากันของเลือดกับสุนัขหรือแมวป่วยที่จะรับเลือดด้วย เพราะ ในสุนัขและแมวก็มีการแบ่งหมู่เลือด (Blood group) คล้ายกับคน การรับเลือดที่ไม่เข้ากับหมู่เลือดของสัตว์ป่วยตัวรับ (Blood recipient) เป็นอันตรายอาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน จึงจะต้องตรวจความเข้ากันของเลือดให้ดีก่อนดำเนินการถ่ายเลือดเลือดที่สัตว์ป่วยได้รับจะช่วยต่อเวลาในการรักษาและต่อสู้กับเชื้อพยาธิเม็ดเลือดได้นานขึ้น

Tips เมื่อต้องพาน้องหมาน้องแมวไปบริจาคเลือด

การรักษาอื่น ๆ เป็นการรักษาตามอาการและการรักษาเพื่อประคับประคองร่างกาย ขึ้นอยู่กับว่าสัตว์ป่วยตัวนั้นแสดงอาการอย่างไร มีความรุนแรงของโรคมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแต่ละตัวมีความจำเป็นแตกต่างกันออกไป การรักษาตามอาการเช่น การให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดดำ การให้ยากดภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไปว่าโรคพยาธิเม็ดเลือดนั้นสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งความสำเร็จในการรักษาขึ้นอยู่กับตัวสุนัขหรือแมว ความรุนแรงของการอาการ ระยะเวลาที่พามาพบสัตวแพทย์ และวินิจฉัยโรค แน่นอนว่าหากเจ้าของสามารถสังเกตความผิดปกติที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว ได้รับการวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์อย่างทันเวลา ผลลัพธ์ของการรักษาย่อมเป็นที่น่าพึงพอใจของทั้งสัตวแพทย์และเจ้าของเอง

การป้องกัน

การติดพยาธิเม็ดเลือดนั้นสามารถป้องกันได้ เมื่อต้นเหตุที่นำพยาธิเม็ดเลือดมาติดให้สุนัขและแมวของเราเกิดจากเห็บและหมัด การกำจัดเห็บหมัดจึงเป็นการป้องกันพยาธิเม็ดเลือดที่เหมาะสมและเจ้าของควรทำอย่างเป็นประจำ

การป้องกันเห็บและหมัดเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเจ้าของหลายบ้าน เพราะ รู้สึกว่ากำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมดไปเสียที การกำจัดเห็บหมัดที่แนะนำควรทำทั้งบนตัวสุนัขและแมวและการกำจัดเห็บหมัดในสิ่งแวดล้อม เห็บหมัดตัวเมียเมื่อดูดกินเลือดบนตัวสุนัขและแมวจนอิ่มจะสร้างไข่และลงมาวางไข่ในสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของเรา ตามซอกมุมต่าง ๆ เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นเห็บหมัดตัวเล็ก จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขและแมวอีกครั้ง เกิดการลอกคราบจนเป็นตัวเต็มวัย วนเวียนเป็นวงจรชีวิตเช่นนี้

ปัจจุบัน มี ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับป้องกันเห็บหมัด ให้เจ้าของเลือกใช้ในท้องตลาดหลายรูปแบบ ทั้งแบบกินทุกเดือน กินทุก 3 เดือน แบบหยดหลังทุกเดือน หยดหลังทุก 3 เดือน และแบบปลอกคอ แต่ละผลิตภัณฑ์มีตัวยาที่ใช้กำจัดเห็บหมัดแตกต่างกันออกไป บางผลิตภัณฑ์นอกจากจะสามารถป้องกันและกำจัดเห็บหมัดได้แล้ว ยังสามารถออกฤทธิ์กับพยาธิภายนอกอื่น ๆ เช่น ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง ไรในหู รวมถึงพยาธิภายในเช่น พยาธิหนอนหัวใจ พยาธิปอด ได้พร้อมกันในผลิตภัณฑ์เดียว

แต่ละผลิตภัณฑ์มีข้อกำหนดการใช้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เริ่มใช้ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน หรือ 3 เดือน ควรงดการอาบน้ำก่อนและหลังใช้รายละเอียดเหล่านี้ เจ้าของควรปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการใช้สำหรับเจ้าของแต่ละท่านและสุนัขหรือแมวแต่ละตัว

ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดทุกตัวในท้องตลาดจำเป็นต้องใช้อย่างเป็นประจำ เมื่อเราใช้ยาก็จะสามารถออกฤทธิ์ได้ตามระยะเวลาที่อยู่บนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ และหมดฤทธิ์เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้

สำหรับการกำจัดเห็บหมัดในสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยนั้น ต้องดำเนินการอย่างเป็นประจำเช่นกันเพื่อตัดวงจรชีวิตของเห็บและหมัดให้หมดไป โดยเจ้าของสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ถูพื้น ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่น หรือเช็ดทำความสะอาด เพื่อมาทำความสะอาดบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้าน ขนาดของไข่เห็บหมัดมีขนาดเล็กมากยากต่อการสังเกตพบได้ บริเวณที่มักเป็นแหล่งที่ฟักตัวมักเป็นบริเวณที่เป็นซอกหลืบ รอยต่อแผ่นกระเบื้อง มุมห้อง เป็นต้น

การติดต่อระหว่างสัตว์และคน

ในต่างประเทศมีเห็บบางชนิดสามารถนำเชื้อพยาธิเม็ดเลือดที่สามารถติดต่อระหว่างสัตว์และคนได้ ทำให้ไม่ใช่แค่สุนัขและแมวเท่านั้นที่ป่วยเป็นพยาธิเม็ดเลือด แต่เจ้าของเองก็มีความเสี่ยงในการติดโรคเช่นเดียวกัน ถึงประเทศไทยจะไม่ได้เป็นแหล่งชุกชุมของโรคชนิดนี้ในคน และเห็บหมัดหรือเชื้อพยาธิเม็ดเลือดชนิดที่สามารถติดต่อระหว่างสุนัขและคนได้ ไม่มีแหล่งอาศัยเป็นปกติในประเทศไทย เจ้าของทุกท่านก็ต้องให้ความสำคัญกับโรคพยาธิเม็ดเลือดทั้งในสัตว์เลี้ยงและในคน

บทความโดย

น.สพ. วริทธิ์วงศ์ ลิขิตชัยกุล
Waritwong Likitchaikul, DVM
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital

ติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/BaanlaesuanPets