BURNT CORK เฟอร์นิเจอร์ไม้คอร์ก ที่ฟื้นคืนชีพจากเถ้าถ่าน

จากครั้งหนึ่งที่เคยเป็นฉนวนกันไฟให้ต้นไม้รอดจากไฟป่า เศษไหม้ดำของเปลือกต้นคอร์กโอ๊กกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ด้วยฝีมือของ MADE IN SITU ดีไซน์สตูดิโอจากโปรตุเกส

“ไม้คอร์ก” ที่เรารู้จักกันนั้นคือเปลือกไม้ชั้นนอกของต้นโอ๊ก ซึ่งเมื่อลอกออกจากต้นโอ๊กแล้ว เปลือกชั้นนอกก็จะเติบโตขึ้นใหม่ในรอบระยะเวลา 9-10 ปี และโปรตุเกสก็คือประเทศที่ส่งออกไม้คอร์กเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

ต้นคอร์กโอ๊ก (Quercus suber) หรือที่เรียกกันว่า “sobreiro” ในภาษาโปรตุกีส นั้นมักตกอยู่ในอันตรายจากไฟป่า และในช่วงหน้าร้อนปี 2017 Noé Duchaufour-Lawrance นักออกแบบชาวฝรั่งเศสกำลังเดินทางมาโปรตุเกส เขาขับผ่าน Pedrógão Grande เส้นทางใกล้เคียงกับพื้นที่ไฟป่าครั้งใหญ่ที่รุนแรงอย่างมาก ซึ่งกลายเป็นประสบการณ์ฝังใจ และนำไปสู่จุดเริ่มต้นของคอลเล็กชั่น Burnt Cork

แรงบันดาลใจ

ตั้งแต่ปี 2018 เขาและทีมงานเริ่มทำการการสำรวจ พบปะกับช่างฝีมือในชุมชนที่ยังทำอุตสาหกรรมไม้คอร์กของโปรตุเกส พวกเขาได้พบกับ Tania และ Nuno ผู้สืบทอดกิจการ NF Cork หัตถอุตสาหกรรมผลิตบล็อกไม้คอร์กสำหรับเป็นฉนวนในงานสถาปัตยกรรม ในระหว่างการเยี่ยมชมโรงงาน และกระบวนการแปรรูปไม้คอร์ก Noé สังเกตเห็นเปลือกไม้คอร์กโอ๊กไหม้ดำมากมายที่ถูกกองทิ้งไว้

Noé Duchaufour-Lawrance นักออกแบบชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง MADE IN SITU สตูดิโอออกแบบในลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

เศษซากไม้คอร์กเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเปลือกหุ้มกันไฟให้กับต้นคอร์กโอ๊กในช่วงไฟป่า และเมื่อถึงช่วงเวลาลอกเปลือกมาทำไม้คอร์ก ส่วนเปลือกที่ไหม้ดำก็จะถูกลอกแยกทิ้ง เพื่อให้เปลือกชุดใหม่ของต้นเจริญเติบโตขึ้นใหม่ เศษเปลือกไม้ไหม้ดำเหล่านี้จึงมักกลายเป็นขยะเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมไม้คอร์กสมัยใหม่

วัสดุใหม่

เขามองเห็นความเป็นไปได้ในการชุบชีวิตเศษวัสดุเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์ใหม่ เขาจึงพยายามสร้างวัสดุใหม่จากเศษไม้คอร์กไหม้ โดยอาศัยกระบวนการดั้งเดิมของ NF Cork ให้มากที่สุด กระบวนการสร้างสรรค์เริ่มต้นด้วยการทดลองขึ้นรูปบล็อกไม้คอร์กจากเศษเหลือ (agglomerated cork) โดยใช้แรงอัดและสารยึดเกาะ แทนการขึ้นรูปแบบไม้คอร์กธรรมชาติ ซึ่งการพัฒนากระบวนการนี้คือหัวใจสำคัญ และใช้เวลานานถึง 2 ปี

การขึ้นรูป


ความน่าสนใจอยู่ที่การทำบล็อกไม้คอร์กด้วยมือ จะทำให้เกิดการไล่เรียงของผิวสัมผัสที่หยาบกระด้าง ซึ่งเกิดจากเปลือกส่วนที่ไหม้เป็นถ่าน ไปสู่ผิวสัมผัสเรียบเนียน และเมื่อได้วัสดุใหม่ จึงนำไปสู่ขั้นตอนการขึ้นรูปเฟอร์นิเจอร์ บล็อกแต่ละก้อนที่ต่อกันกลายเป็นโครงสร้างหลักของชิ้นงาน ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีศาสตร์แห่งศิลป์อย่างเครื่อง CNC 7 แกน ซึ่งมีศักยภาพในการขึ้นรูปประติมากรรม หรือรูปทรงออร์แกนิกที่ซับซ้อนเข้ามาช่วยในการขึ้นรูป เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างหัตถอุตสาหกรรมครัวเรือนที่สร้างบล็อกฉนวนแฮนด์เมด และบริษัทที่ผลิตด้วยเครื่องจักร

คอลเล็กชั่นใหม่


ในคอลเล็กชั่นประกอบด้วยโต๊ะ เก้าอี้เลาจน์แชร์ เก้าอี้เดย์เบด และเก้าอี้สตูล ชิ้นงานแต่ละชิ้นมีผิวสัมผัสที่ไล่จากความหยาบกระด้างที่ฐาน ขึ้นไปสู่ผิวสัมผัสที่เนียนละเอียดในรูปทรงโค้งเว้า เส้นสายลื่นไหล ไม่ต่างจากนกฟีนิกซ์ที่ฟื้นคืนชีพจากเถ้าถ่าน จากฐานชิ้นงานที่ออกแบบให้เป็นรูปทรงดิบๆ ของบล็อกไม้คอร์ก ไล่ขึ้นไปสู่เส้นสายโค้งมนน่าสัมผัส ที่บอกเล่าการใช้งาน พร้อมเชิญชวนให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับร่างกายมนุษย์

จากเปลือกไม้ที่ผ่านการเผาไหม้จนกลายเป็นตอตะโกไปจนถึงส่วนที่มีผิวสัมผัสประณีต จากความดิบกระด้าง สู่การสร้างสรรค์ดุจประติมากรรม เศษเปลือกไม้ไหม้ที่เหลือทิ้ง ได้รับการปรับเปลี่ยนสู่คุณค่าใหม่ คอลเล็กชั่นนี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์การคืนชีพจากเถ้าถ่าน ที่อุทิศให้กับไม้คอร์กจากโปรตุเกส เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นบอกเล่าถึงความพิเศษของวัสดุ ผู้คน และชุมชนในอุตสาหกรรมไม้คอร์ก เต็มเปี่ยมไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์ ทั้งยังบอกเล่าถึงประสบการณ์โดยตรงของนักออกแบบ ที่มีต่อหายนะทางธรรมชาติอย่างไฟป่าที่ยังเกิดขึ้นแทบทุกปี

Noé Duchaufour-Lawrance นักออกแบบสัญชาติฝรั่งเศส ที่ทำงานออกแบบมาหลากหลาย ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรมไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมาย แม้เขาจะมีพื้นฐานการศึกษาด้านการออกแบบเข้มข้น แต่เขายังเชื่อในออกแบบที่สะท้อนถึงสัญชาตญาณ และความรู้สึก เขาก่อตั้งสตูดิโอ Made in Situ ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส สตูดิโอที่ให้ความสำคัญกับมรดกของพื้นที่ ช่างฝีมือ และความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติท้องถิ่น ดังนั้น แต่ละชิ้นงานการออกแบบ จึงคือผลพวงจากการผจญภัยและบันทึกการสำรวจทุกความสนใจในแขนงต่าง ๆ ของเขาเอง

ออกแบบ: Noé Duchaufour-Lawrance จาก MADE IN SITU
ภาพ: Filipa Alves, Nuno Sousa Dias, MIS
เรื่อง: MNSD

MADE IN SITU
Travessa do Rosário, 16 – Loja
1250 – 197 Lisboa, Portugal
www.madeinsitu.com


DOT LINE PLANE เปลี่ยนโกดังแบตเตอรี่เป็นสตูดิโอออกแบบที่ทำงานได้ทั้งวัน