ร่างกายแมว

8 ความพิเศษของร่างกายแมว ที่ทาสแมวอาจไม่เคยรู้

ร่างกายแมว
ร่างกายแมว

แมว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Felis catus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 9,500 ปีก่อน

แต่ถึงแม้ว่ามนุษย์และแมวจะรู้จักกันมาตั้งแต่อดีตกาล ก็ยังมีความพิเศษ ลึกลับ และซับซ้อนอีกมากมายเกี่ยวกับ “ร่างกายแมว” ที่ทาสแมวหลายคนอาจไม่เคยรู้ บ้านและสวน Pets จึงได้รวบรวมข้อมูลบางส่วนมาฝากกันค่ะ

แมวไม่มี “กระดูกไหปลาร้า”

กระดูกไหปลาร้า คือ กระดูกส่วนที่เชื่อมต่อกระดูกหน้าอกส่วนบนไปยังกระดูกหัวไหล่ ทำให้สรีระร่างกายของช่วงอกผายออกหรือช่วงขาหน้าถ่างออก ซึ่งสำหรับแมวที่ไม่มีกระดูกปลาร้า หรือกระดูกไหปลาร้าถูกลดรูปไปตามธรรมชาตินั้น กลับกลายมาเป็นข้อดีที่ทำให้เจ้าแมวสามารถมุดผ่านช่องว่างขนาดเล็กเท่าไหร่ก็ได้ตราบใดที่หัวของมันสามารถผ่านได้ อีกทั้งการที่ขาลู่แนบไปกับลำตัว ยังช่วยลดแรงต้านในอากาศทำให้สามารถวิ่งและเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การที่แมวที่ไม่มีกระดูกปลาร้ายังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แมวสามารถกลับตัวในอากาศเวลาตกจากที่สูงได้อีกด้วย

“พุงย้อย ๆ” ช่วยให้แมวเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

หลายคนอาจคิดว่าพุงแมวที่ห้อย ๆ ย้อย ๆ นั้น เกิดจากความอ้วนหรือผลของการผ่าตัด แต่ที่จริงแล้วสัตว์ในตระกูลเสือทุกตัวสามารถมีเจ้าพุงย้อย ๆ นี้ได้ โดยถุงที่ห้อยลงใต้ท้องบริเวณระหว่างขาหลังนี้ มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า “ถุงหน้าท้องของแมว (Primordial Pouch)” ซึ่งเป็นไขมันช่วงท้องของสัตว์ ที่ช่วยในการปกป้องอวัยวะภายใน และทำให้ขาหลังสามารถยืดตัวได้อย่างเป็นอิสระ ร่างกายจึงเกิดความยืดหยุ่น สามารถเคลื่อนไหว กระโดด หรือวิ่งด้วยความเร็วสูงได้ นอกจากนี้สำหรับแมวป่า หรือแมวจรแล้ว ถุงหน้าท้องยังเป็นเสมือนแหล่งพลังงานสำรอง เพราะ สามารถรองรับการขยายของกระเพาะที่ต้องการเก็บอาหาร เวลาที่ไม่สามารถออกล่าเหยื่อเป็นเวลานาน ๆ ได้อีกด้วย

แมวมี “นิ้วเท้า” ขาหน้า-ขาหลังไม่เท่ากัน

อุ้งเท้าแมวคู่หน้าจะมี 5 นิ้ว ส่วนเท้าคู่หลังมี 4 นิ้ว แต่ละนิ้วจะมีเล็บที่เป็นโปรตีนเคราตินเช่นเดียวกับมนุษย์ ใช้ทำหน้าที่ในการยึดเกาะและดักจับเหยื่อ โดยสภาวะปกติกล้ามเนื้อบริเวณเล็บจะดึงเล็บหดเข้าไป แต่เมื่อต้องการดักจับเหยื่อ หยิบ จับ เล่น โกรธ หรือเวลาต้องการลับเล็บ กล้ามเนื้อที่นิ้วจะยืด ทำให้นิ้วกางออก ซึ่งอาจจะกางเฉพาะเพียงขาหน้าก็ได้ แต่ถ้าหากจะปีนต้นไม้ แมวจะกางเล็บออกทั้ง 4 ขา เพื่อช่วยให้ร่างกายสมดุล

“สฟิงซ์” เป็นแมวสายพันธุ์เดียวที่มีต่อมเหงื่อ

ร่างกายแมว สายพันธุ์ทั่วไป จะไม่มีต่อมเหงื่อที่ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย เวลาที่อากาศร้อน แมวสายพันธุ์อื่น ๆ จะมีอาการหอบหายใจ เพื่อระบายความร้อนออก แต่สฟิงซ์เป็นแมวสายพันธุ์เดียวที่มีต่อมเหงื่อ ทำให้สฟิงซ์ไม่มีอาการหอบ เพื่อระบายความร้อนเหมือนกับแมวหรือสุนัขตัวอื่น ๆ นอกจากนี้ ต่อมเหงื่อที่อยู่บนร่างกาย ยังทำให้ผิวหนังของแมวสฟิงซ์มีลักษณะมันวาวเล็กน้อย เพราะ ผลิตน้ำมันออกมาเคลือบ เพื่อปกป้องผิว ดังนั้น เจ้าของจึงควรหมั่นดูแลทำความสะอาด โดยการอาบน้ำมากกว่าแมวปกติ รวมถึงทาครีมกันแดดสำหรับผิวเด็กก่อนออกแดด

ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย “สฟิงซ์ (Sphynx)”

“ลูกแมว” มีพลังความน่ารักจากธรรมชาติ

แมวสามารถผลิตสารความเป็นเด็ก (neoteny) หรือการคงรูปเยาววัยคล้ายกับทารกได้ โดยจะแสดงผ่านลักษณะในวัยเด็ก อย่าง ส่วนหัวที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนร่างกาย ดวงตาที่กลมโตมีความแวววาว ปากนิดจมูกหน่อย ลำตัวสั้น แขนขาเล็กบอบบาง ผิวหนังนิ่มนวล และมีขนนุ่มฟูปุกปุยอยู่ตลอดเวลา จนแม้ว่าแมวจะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยแล้วก็ตาม ลักษณะที่คล้ายกับเด็กนี้ ก็อาจจะยังคงหลงเหลืออยู่ ทำให้สัตว์ดูน่ารัก ไม่เป็นภัย และทำให้ผู้คนที่พบเห็นเกิดความรู้สึกรักและอยากดูแล

ยิ่งเจอแสงแดด “แมวยิ่งลูกดก”

แมวเพศเมียจะเริ่มแสดงอาการเป็นสัดเมื่ออายุประมาณ 4-10 เดือน ซึ่งช่วงเวลาการเป็นสัดของแมวจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล (seasonally polyestrous) หมายความว่า แสงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบฮอร์โมนเพศในแมว โดยกำลังแสงที่เพียงพอและยาวนานกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน จะมีผลต่อต่อมไพเนียลภายในสมองที่จะทำให้หลั่งสารเมลาโตนินลดลง จนกระตุ้นกระบวนการสร้างฮอร์โมนเพศและกระตุ้นให้แมวเป็นสัด สำหรับเมืองร้อนอย่างบ้านเราที่มีตั้งแต่ร้อนน้อย ร้อนปานกลาง และร้อนมาก แมวจึงมีโอกาสแสดงสัดได้ตลอดปี หง่าวกันบ่อย ๆ และมีลูกดกกว่าประเทศในเขตเมืองหนาว

“หนวดแมว” เรดาร์พิเศษที่ใช้รับความรู้สึก และวัดขนาดพื้นที่

หนวดแมว มีลักษณะหนาและแข็งแรง (Vibrissae หรือ Tactile hairs) เป็นอวัยวะพิเศษที่ใช้รับความรู้สึก (Sensory Receptor) และ สำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว รวมถึงตรวจจับการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้แม้ในที่มืด นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนเรดาร์วัดความแคบ-กว้าง และ ความสูงของพื้นที่ โดยทั่วไปหนวดแมวจะมีความยาวเท่ากับความกว้างของลำตัว เมื่อเวลาที่ต้องผ่านช่องแคบ ๆ แมวจะเอาหัวมุดเข้ามุดออก เพื่อเช็คขนาดและกะระยะก่อนมุดผ่านเข้าไป ซึ่งถ้าหากว่าแมวสูญเสียหนวดไป ก็จะทำให้แมวหมดความมั่นใจ การตอบสนองช้าลง และ ใช้ชีวิตได้ไม่ปกติเช่นเดิม

“อึแมว” มีผลต่อความกล้าได้กล้าเสียของมนุษย์

งานวิจัยในวารสารของราชสมาคมกรุงลอนดอนฉบับบี (Proceedings of the Royal Society B ) เปิดเผยว่า นักธุรกิจมืออาชีพมีโอกาสจะตัดสินใจลงทุน หรือเริ่มก่อตั้งกิจการใหม่ได้มากกว่า หากเป็นผู้ที่มีเชื้อโปรโตซัวท็อกโซพลาสมากอนดี (Toxoplasma gondii) ในร่างกาย ซึ่งเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อปรสิต Tosoplasma gondii ที่สามารถพบได้บ่อยในตัวแมว และสามารถส่งผ่านออกมาทางอุจจาระของแมวได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้ที่ติดเชื้อบางคนอาจมีอาการหุนหันพลันแล่น และมีแนวโน้มที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนตร์มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อได้มากกว่า 3-4 เท่า และเชื้อตัวนี้อาจเชื่อมโยงกับโรคจิตเภทบางอย่าง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ยอมตกเป็นทาส และคลุกคลีอยู่กับแมวตลอดวันแบบไม่มีเบื่อด้วยก็ได้

 

เรื่อง : Sarida_