พื้นที่ธรรมชาติ ในบ้านทรอปิคัลโมเดิร์น ที่เปิดโปร่งสบายตา

บ้านทรอปิคัลโมเดิร์น สำหรับครอบครัวพ่อแม่ลูกหลังนี้จึงมีความพิเศษในเส้นสายที่บางเบา และมีบรรยากาศคล้ายพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ แม้จะอยู่ภายในบ้านก็ตาม ตอบรับกับแสงแดดและสายลมธรรมชาติอย่างพอดิบพอดี โดยบริษัทสถาปนิกที่รับหน้าที่รังสรรค์โจทย์นี้ได้อย่างลงตัวและน่าสนใจก็คือ Junsekino Architect and Design นั่นเอง

ด้วยความที่คุณเติร์ท-ศักรภพน์ และคุณโจ-บุญสิตา จารยะพันธุ์ เจ้าของบ้านทำอาชีพเกี่ยวกับการบิน จึงทำให้โจทย์ของบ้านหลังนี้เริ่มต้นที่ความเบาสบายและกลมกลืนไปกับธรรมชาติตามสไตล์ที่อยากสร้างให้เป็นพื้นที่ซึ่งสื่อแทนความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งยังต้องดูแลรักษาได้ง่ายและสามารถมองเห็นกันและกันได้จากทุกจุดภายในบ้าน การจัดวางพื้นที่ภายในบ้านหลังนี้จึงใช้พื้นที่ส่วนกลางที่เป็นดับเบิ้ลวอลลุ่มสร้างเป็นพื้นที่หลัก จากหน้าบ้านนั้น เมื่อเดินผ่านพื้นที่จอดรถและประตูหน้าบ้านเข้ามา จะพบกับโถงบันไดที่มองเห็นต้นซิลเวอร์โอ๊คโดดเด่นอยู่กลางบ้าน ก่อนจะหันกลับไปพบกับพื้นที่หลักของบ้านที่เป็นทั้งพื้นที่นั่งเล่น ทานข้าว และห้องครัว ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นพื้นที่เดียวแบบดับเบิ้ลสเปซ โดยมีทางเชื่อมไปยังบ้านเดิมที่ฝั่งซ้าย และสระว่ายน้ำที่อยู่ติดกับต้นซิลเวอร์โอ๊คที่ฝั่งขวา จนเมื่อขึ้นไปยังชั้น 2 บ้าน จะเป็นห้องนอน 3 ห้อง และทางเชื่อมออกไปยังระเบียงขนาดใหญ่ที่หน้าบ้าน ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนี้ถูกห่อหุ้มอยู่ในฟาซาดเหล็กฉีก ซึ่งทั้งเป็นส่วนกรองแสงแดดและสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่ในบ้านไปในตัว

ความโดดเด่นของพื้นที่ภายในบ้านหลังนี้คือการออกแบบที่ใส่ใจกับแสงธรรมชาติและการเปิดรับลมให้ไหลผ่านบ้านอย่างพอดี การวางองค์ประกอบต่าง ๆ ในบ้านจึงต้องออกแบบให้เป็นเส้นสายที่บางเบาของบ้านออกแบบเพื่อสร้างให้อาคารนั้นไม่ปิดกั้นผู้อยู่อาศัยกับธรรมชาติโดยรอบ ซึ่งนอกจากมุมมองแล้ว ยังมีการเปิดรับแสงธรรมชาติผ่านสกายไลท์ในหลายส่วน รวมทั้งการใช้เหล็กปรุเป็น ฟาซาด โดยรอบบ้านที่ช่วยกรองแสงแดดให้เบาบางลง แต่ไม่ปิดกั้นลมที่ไหลเวียน สร้างให้เกิดบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาให้กับบ้านในแบบ ทรอปิคัลโมเดิร์นอย่างพอดี

พื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมโยงกับบ้านเดิม

ทางด้านซ้ายของบ้านหลังนี้คือบ้านเดิมที่พ่อและแม่ของคุณเติร์ท ยังอาศัยอยู่ การออกแบบระเบียงรอบบ้านจึงไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่ร่นเข้ามาเพื่อสร้างระยะชายคาที่พอดีกับร่มเงา เปรียบเสมือนหน้าบ้านอีกฝั่งหนึ่งที่เชื่อมโยงยุคสมัยของครอบครัวเข้าหากัน โดยที่หน้าบ้านฝั่งนี้จะตั้งอยู่ในแกนเดียวกับโต๊ะทานข้าว และสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นเหมือนกับพื้นที่รวมตัวของคนจากบ้านทั้งสองหลังในวันสบาย ๆเช่นกัน

พื้นที่ที่พอดี และดีเกินพอ

ด้วยพื้นที่ใช้สอย 416 ตารางเมตร บ้านหลังนี้เรียกได้ว่าใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าในทุกจุด ด้วยการออกแบบคล้ายการวางผังในรูปแบบที่คล้ายกับคอนโดมิเนี่ยมเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษา ห้องนอนที่ชั้นบนออกแบบเรียบง่ายเพราะส่วนใหญ่แล้วเจ้าของบ้านจะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางที่ชั้นล่างเป็นหลัก แต่ก็มีลานอเนกประสงค์บนระเบียงใหญ่เหนือที่จอดรถสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาพื้นที่ทั้งหมดร่วมกันแล้วก็บอกได้เลยว่าดูสบายตาสบายกายอย่างพอดีจริงๆ

ธรรมชาติแบบทรอปิคัลโมเดิร์นเป็นสิ่งที่พิเศษ คือเสน่ห์ของภูมิอากาศไทยที่หลายครั้งมักถูกหลงลืม ปัจจุบันเรากลัวร้อน กลัวชื้น ทั้งที่อาศัยกันอยู่ในเขตร้อนชื้น การเปิดรับธรรมชาติจึงทำให้บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมแบบไทยๆที่ออกแบบได้อย่างละเมียดและลงตัว


ออกแบบ: Junsekino Architect and Design
ตกแต่ง:  Junsekino Interior Design
เจ้าของ: คุณศักรภพน์ และคุณบุญสิตา จารยะพันธุ์
ภาพ: นันทิยา บุษบงค์
เรื่อง: Wuthikorn Sut