WEATHER HOUSE บ้านสีขาวดีไซน์จากลวดตาข่ายถัก อยู่กับธรรมชาติได้ทุกฤดูกาล

บ้านที่ห่อหุ้มด้วยแผง ลวดตาข่ายถัก นี้  ใครได้เห็นแล้ว อาจต้องแอบงงว่า นี่คือ “บ้าน” หรือ “สวนสาธารณะ” กันแน่! เพราะถูกตกแต่งด้วยต้นไม้ พร้อมกับมีสนามหญ้าเล็ก ๆ ให้นั่งชมวิวบนชั้นดาดฟ้า ซึ่งมีแนวคิดมาจากบริบทของเมือง ที่เต็มไปด้วยสวนสาธารณะน้อยใหญ่ ร่วมถึงการอยากหยิบยกธรรมชาติให้เข้ามาใกล้ตัวมากที่สุด

โดยที่นี่ตั้งอยู่ในเขตที่พักอาศัยในย่านชินากาวะ ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เต็มไปด้วยบ้านเรือน อาคารสำนักงาน และตึกสูงระฟ้า แต่ถ้าหากเราซูมเอ๊าต์ออกมาดู จะเห็นว่าพื้นที่เมืองถูกสอดแทรกด้วยสวนสาธารณะทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เชื่อมโยงกันด้วยทางเท้า สถาปนิกเจ้าถิ่นอย่าง n o t architects studio จึงเกิดไอเดียในการออกแบบบ้านที่มี ลวดตาข่ายถัก ทำหน้าที่เป็นผนังบ้านแบบโปร่ง โดยให้ชื่อว่า “Weather House” เพื่อช่วยเปิดมุมมอง ไปพร้อมกับแรงบันดาลใจที่มาจากบริบทของเมือง ทำให้การอยู่อาศัยไม่ต่างจากการเดินเล่นในสวนสาธารณะ โดยสามารถใช้ชีวิตในบ้าน ที่ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของวัน ฤดูกาล และสภาพแวดล้อม
ตัวบ้านถูกห่อหุ้มด้วยแผงลวดตาข่ายโปร่ง เป็นเหมือนผนังบางเบาที่สร้างขอบเขตให้กับบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็เปิดรับให้บริบทโดยรอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับสภาพแวดล้อมภายใน และเนื่องจากตัวบ้านตั้งอยู่ติดกับถนนสาธารณะ เมื่อปลูกไม้เลื้อยปกคลุมพื้นที่บางส่วนของผนังลวดตาข่ายด้านติดถนน ยิ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “บ้าน” กับ “พื้นที่สาธารณะ” ดูคลุมเครือ จนคล้ายกับว่า ตัวบ้านกลมกลืนไปกับบริบทแวดล้อมโดยรอบของชุมชน
หัวใจสำคัญของบ้านนี้ คือระเบียงทางเดิน และบันได ที่มีความลาดชันแตกต่างกัน เพื่อจำลองบรรยากาศเหมือนสภาพแวดล้อมที่พบเจอได้ในสวนสาธารณะ โดยระเบียงทางเดินด้านหน้าบ้านนั้น เจ้าของบ้านสามารถใช้งานได้เต็มที่ในช่วงหน้าร้อน กลายเป็นชานกว้างสำหรับนั่งชมวิว หรือการสังสรรค์ และในบางช่วงของทางเดินที่อยู่กึ่งกลางแจ้งนี้ ยังถูกออกแบบให้แคบลงในช่วงหน้าฝน หรือฤดูหนาวที่มีหิมะตก เรียกว่าการใช้งานของแต่ละสเปซภายในบ้าน จะแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของญี่ปุ่น นอกจากนี้ การออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างอิสระของสมาชิกแต่ละคนและในแต่ละช่วงเวลา ก็อาจช่วยสร้างรูปแบบปฏิสัมพันธ์ และไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ให้ครอบครัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ทั้งนี้เพื่อความเป็นส่วนตัว สถาปนิกได้ออกแบบให้มีผนังคอนกรีตทึบ ตรงด้านที่อยู่ติดกับอาคารหลังอื่นด้วย แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะออกแบบช่องเปิดอย่างประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่เพื่อเปิดรับวิวกว้าง ๆ และเชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้านกับระเบียงเข้าด้วยกัน พื้นที่ระเบียงแต่ละชั้นเฉือนมุมด้านหน้าออกให้เกิดช่องแสงส่องลงไปยังลานชั้นล่าง ขณะที่บันไดชั้นบนสุดได้ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถเดินเชื่อมโยงไปยังชั้นดาดฟ้าที่มีเนินสนามหญ้าขนาดใหญ่ สำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อน ราวกับอยู่บนเนินเขาที่มองเห็นวิวอาคารบ้านเรือน ให้อารมณ์เสมือนพาครอบครัวไปนั่งพูดคุยกันอยู่ในสวนสาธารณะสักแห่งในเมือง
ออกแบบ: n o t architects studio (www.tomiarc.com)
ภาพ: Yasuhiro Takagi
เรียบเรียง: j – bob