บ้านสามชั้นที่ถูก ต่อเติม จากบ้านจัดสรรเดิมเป็นพื้นที่พิเศษของครอบครัวขยาย

จากบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมต้องมีการ ต่อเติม เพราะด้วยความที่ปัจจุบันผู้อยู่อาศัยภายในบ้านนั้นแบ่งออกเป็นสองครอบครัวที่มีเด็กอยู่ 2 คน รวมทั้งผู้สูงอายุอีก 1 ท่าน จึงทำให้บ้านขนาด 150 ตารางเมตร เดิมนั้นเริ่มที่จะไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยภายในบ้านอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองการสร้างบ้านอีกหลังในที่ดินที่ยังเหลืออยู่จึงเกิดขึ้น เป็นส่วนต่อเติมที่เข้ามาเติมเต็มทั้งการใช้งาน และเสริมให้บ้านเดิมนั้นกลายเป็นบ้านแฝดสองหลังที่ลงตัวทั้งรูปลักษณ์และการใช้ชีวิต

บ้านบนพื้นที่สวนเดิม

ผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ออกแบบต่อเติมบ้านหลังนี้คือ TOUCH Architect สิ่งที่ถูกและพื้นที่ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างบ้านอีกหลังก็คือพื้นที่สามเหลี่ยมทางทิศตะวันออกของบ้านที่เดิมเคยเป็นพื้นที่สวนเดิมนั่นเอง

ทุกที่ในบ้านคือPlaygroundของเด็กๆ

การออกแบบนั้น เน้นการใช้งานสำหรับเหล่าเด็ก ๆ ที่จะได้มีพื้นที่เล่น เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อม ๆ กับบ้าน บ้านหลังใหม่นี้จึงเป็นบ้านที่มีพื้นที่แคบยาวออกแนวสูงจนถึงชั้นที่สามแต่กลับโปร่งโล่งด้วยการเชื่อมโยงพื้นที่และเปิดโถงจาก Play Area จนถึงชั้นบนที่เป็น Living room รวมทั้งการเลือกใช้บานกระจกเปิดรับแสงธรรมชาติเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ภายในภายนอกเข้าด้วยกันอีกทาง

เปิดโล่งตั้งแต่พื้นจนถึงดาดฟ้า

การออกแบบโดยยึดหลักMontessori(แนวการศึกษาที่เน้นความอิสระและสร้างสรรค์ของผู้เรียน)ทำให้พื้นที่เล่น สวน และองค์ประกอบถูกร้อยเรียงเป็น Playgroud ขนาดใหญ่ที่ลูก ๆ สามารถเรียนรู้ไปกับทุกพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็น Play Area ที่ชั้นล่าง สวนริมรั้ว หรือแม้แต่สวนดาดฟ้าที่ชั้นบน ประกอบกับพื้นที่นอกรั้วที่มีต้นไม้ใหญ่ถึง 3 ต้น จึงทำให้แม้พื้นที่สวนของบ้านหลังนี้แผ่ไกลออกไปจากรั้วของบ้านเอง

ร้อยเรียงพื้นที่ด้วยเปลือกอาคาร

องค์ประกอบที่เข้ามาช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวและเชื่อมโยงบ้านสองหลังเข้าด้วยกันนั้น สถาปนิกได้เลือกใช้แผ่นโลหะฉลุที่เรียกว่า Perforated Plate ประกอบกับการออกแบบระแนงโลหะที่ร้อยรัดมาตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงด้านข้างอาคาร ก่อนจะล้อไปกับแนวบันไดสู่ชั้นบนของบ้าน องค์ประกอบนี้ช่วยสร้างภาษาที่ต่อเนื่องร้อยเรียงให้บ้านและส่วนต่อเติมกลายเป็นพื้นที่เดียวกันได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวในบริเวณลานจอดรถและระเบียงของบ้านเดิม รวมทั้งพื้นที่ส่วนตัวที่ชั้นบนของบ้านหลังใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

ผนังสีขาวและไม้สีอ่อน

การเลือกใช้สีขาวและไม้สีอ่อนนั้น นอกจากจะสร้างบรรยากาศที่ดูสงบแต่สดใสให้กับพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านแล้ว ยังเข้ากันได้ดีกับเงาร่มไม้ที่พาดผ่านเข้ามาในทุกเช้าจากหน้าต่างบานใหญ่ทางฝั่งตะวันออก องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีห้องอยู่ที่ชั้นล่างติดกับ Play Area และเด็ก ๆ ที่พื้นที่สีขาวเหล่านี้จะไม่ปิดกั้นจินตนาการ สามารถใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติได้ แม้จะอยู่ในบ้านก็ตามที

โครงสร้างเหล็กเพิ่มอิสระให้กับงานออกแบบ

อีกองค์ประกอบที่โดดเด่นอย่างแตกต่างของบ้านหลังนี้ก็คือบันไดที่วางตัวอย่างเป็นอิสระต่อกันรวมทั้งการสร้างพื้นที่ที่ดูบางเบาจากชั้นล่างจนถึงดาดฟ้า ซึ่งจุดนี้ก็ต้องยกให้กับข้อดีของการเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก ด้วยข้อดีในการลดขนาดเสาและคานลงทำให้การจัดการพื้นที่ภายในเป็นไปได้ง่ายกว่าโครงสร้างคอนกรีตโดยทั่วไป และโครงสร้างเหล็กยังเอื้อให้การก่อสร้างชุดบันไดที่อยู่คนละจุดกันนั้นเป็นไปได้โดยสะดวกอีกด้วย

ครอบครัวขยายบ้านจึงต้องต่อเติม

และนี่ก็คือบ้านอีกหลังที่ถูกออกแบบมาอย่างน่าสนใจ ด้วยการตีความบ้านหลังเดิมและเลือกสรรพื้นที่ต่อเติมได้อย่างลงตัว เชื่อมโยงบ้านหลังเก่าเข้ากับพื้นที่ใหม่ สร้างพื้นที่ให้คนหลากวัยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน เมื่อครอบครัวเติบโต บ้านเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามเช่นกัน


ออกแบบ : TOUCH Architect
ภาพ : Anan Naruphantawat
เรียบเรียง : Wuthikorn Suthiapa