ประโยชน์ของ “พรีไบโอติก” ต่อทางเดินอาหารของสุนัข

เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตหลากหลายยี่ห้อที่บรรยายสรรพคุณถึงจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลัส และคงจะสงสัยว่าจุลินทรีย์เหล่านั้นทำงาน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ทำไมเราถึงต้องรับประทานนมเปรี้ยวกันด้วย

แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่ร่างกายมนุษย์เท่านั้นที่มีจุลินทรีย์เหล่านี้ ในร่างกายของสัตว์เลี้ยงของเราไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์อื่น ๆ จุลินทรีย์เหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญมากเช่นเดียวกัน การศึกษาพบว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมากมายในร่างกายของสุนัข โดยจริง ๆ แล้วจำนวนของพวกมันมากกว่าจำนวนเซลล์ของตัวสุนัขเองถึง 10 เท่าเลยด้วยซ้ำ และจุลินทรีย์เหล่านี้มีอยู่ในแทบทุกระบบของร่างกาย ทั้งบนผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ หรือ ทางเดินอาหาร จุลินทรีย์เหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับเซลล์ของสุนัขหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบพึ่งพาอาศัยกัน หรืออยู่แล้วก่อโรค ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและปริมาณของเชื้อ โดยส่วนใหญ่มักจะก่อประโยชน์หากมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม

ตัวอย่างที่น่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดน่าจะเป็น จุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร เพราะเป็นประชากรหลักของจุลินทรีย์ในร่างกาย การที่เรากินโยเกิร์ตเข้าไป ก็เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีต่อลำไส้ และช่วยลดสัดส่วนของจุลินทรีย์ก่อโรคให้น้อยลง โดยจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้จะช่วยเรื่องการนำสารอาหารไปใช้ การทำงานของทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันของทางเดินอาหารด้วย เช่นจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสารอาหารบางอย่างให้กลายเป็นกรดไขมันสายสั้น ๆ (short-chain fatty acid; SCFA) เพื่อเป็นอาหารให้กับเยื่อบุผนังลำไส้ และตัวลำไส้เองก็จะผลิตเมือกเพื่อเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายนั่นเอง ที่น่าสนใจก็คือ จุลินทรีย์ในลำไส้ของกลุ่มสุนัขที่แข็งแรงปกติ และในกลุ่มที่เป็นโรคก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย ดังนั้นในอาการป่วยบางอย่างในสุนัข เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้อักเสบจากไวรัส โรคมะเร็ง หรือแม้กระทั่งในกลุ่มสุนัขที่อ้วน และกลุ่มที่น้ำหนักปกติก็จะมีสัดส่วนและชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันได้มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้มากขึ้นมาก จึงเป็นที่มาของการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อันประกอบด้วย พรีไบโอติก โพรไบโอติก หรือซินไบโอติก เป็นองค์ประกอบ โดยมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติที่จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกัน และการทำงานของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น

 

Probiotics (โพรไบโอติก)

คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อบริโภคเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภคได้ในภาวะต่าง ๆ โดยต้องมีความทนต่อทั้งความเป็นกรดและด่าง สามารถจับกับบริเวณผิวเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้าน หรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคได้ ทั้งนี้ส่วนของโพรไบโอติกจึงค่อนข้างยากต่อการรักษาความคงตัวของตัวเชื้อ เพราะเชื้ออาจโดนทำลายด้วยน้ำย่อยในทางเดินอาหาร และตายก่อนที่จะลงไปถึงจุดหมาย ซึ่งก็คือลำไส้ใหญ่นั่นเอง

Prebiotics (พรีไบโอติก)

คือ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จะเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ในรูปแบบที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงและจะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ กระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์ที่ดีได้ กล่าวง่าย ๆ ก็คือ พรีไบโอติกก็คืออาหารของโพรไบโอติกนั่นเอง

Synbiotics (ซินไบโอติก)

คือ ส่วนผสมระหว่างพรีไบโอติกและโพรไบโอติก โดยจะสามารถใช้คำว่าซินไบโอติกได้ก็ต่อเมื่อผลรวมระหว่างสองสิ่งที่แสดงออกมาแล้วเป็นผลบวกให้เห็นจริงแล้วเท่านั้น

จากนิยามของทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาในข้างต้น จะพบว่าทั้งโพรไบโอติกและซินไบโอติกมีตัวเชื้อจุลินทรีย์เป็นองค์ประกอบ จึงยากแก่การนำมาผสมในอาหารสัตว์แล้วยังคงประสิทธิภาพอยู่ได้ แต่พรีไบโอติกนั้นเป็นส่วนประกอบของอาหารโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มของไฟเบอร์ ซึ่งก็คือคาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถย่อยได้ด้วยกระบวนการย่อยของสัตว์เอง แต่ต้องผ่านการย่อยของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่และผลผลิตจากการย่อย สามารถนำไปเป็นอาหารสำหรับเซลล์เยื่อบุลำไส้และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้  ทำให้แบคทีเรียเหล่านั้นยังคงเป็นประชากรหลักในลำไส้ต่อไป

พรีไบโอติกนั้นมีหลายชนิดแต่ชนิด ที่พบได้บ่อยได้แก่ oligosaccharides (โอลิโกแซ็กคาไรด์) ซึ่งสามารถพบได้ในอาหารจำพวก ผลไม้ ผัก เช่น ต้นหอมญี่ปุ่น และธัญพืช สารนี้เป็นน้ำตาลที่มีความซับซ้อน ทำให้เอนไซม์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่สามารถย่อยได้ จึงสามารถผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ได้นั่นเอง น้ำตาลในกลุ่มนี้ ได้แก่ mannanoligosaccharide (MOS) และ Fructooligosaccharides (FOS) เมื่อไปถึงลำไส้ใหญ่ก็จะผ่านกระบวนการหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็น กรดไขมันสายสั้น ๆ อันได้แก่ กรดแลคติก กรดอะซิติก และบิวทิเรต ที่น่าสนใจคือแบคทีเรียเหล่านี้จะอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งยังช่วยกำจัดเชื้อก่อโรคที่เข้ามารุกรานอีกด้วย

ยังมีการศึกษาในลูกสุนัข 2 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มที่ได้รับ FOS 1% ในอาหาร และไม่ได้รับ FOS ในอาหาร หลังจากทำการทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็ให้ลูกสุนัขเหล่านี้ กินจุลินทรีย์ก่อโรคเข้าไปในร่างกาย พบว่าในกลุ่มที่เสริม FOS ในอาหารมีอาการจากการติดเชื้อก่อโรคน้อยกว่า และมีการทดลองในหนูพบว่าในกลุ่มที่ได้รับ FOS เชื้อก่อโรคจะเพิ่มจำนวนในลำไส้ได้น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ FOS

เนื่องจากสุนัขเป็นสัตว์ที่กินเนื้อในสัดส่วนที่มาก อาหารสำหรับสุนัขนั้นมักจะต้องมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่สูง ซึ่งการบริโภคโปรตีนที่มากก็จะก่อให้เกิดของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน เช่น แอมโมเนีย และกรดไขมันบางชนิดในลำไส้ส่วนปลายของสุนัข พบว่าการเสริม FOS ในอาหารทำให้ของเสียเหล่านี้ลดลงได้ โดยทำให้กลุ่มของจุลินทรีย์ที่ย่อยคาร์โบไฮเดรต (Bifidobacterium) มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อคานสัดส่วนกับแบคทีเรียที่ย่อยโปรตีน ทำให้อุจจาระของสัตว์เป็นก้อนสวยขึ้น และกลิ่นเหม็นลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าการเสริม FOS ลงในอาหารสุนัขยังทำให้การดูดซึมของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม และแมกนีเซียมในอาหารดีขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับผลของ FOS ในสุนัขที่อ้วน และมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ในการนำน้ำตาลในเลือดไปสร้างเป็นพลังงานและลดระดับน้ำตาลในเลือดลง ความอ้วนจะส่งผลให้การจับของอินซูลินและตัวรับของอินซูลินยากขึ้น ส่งผลให้ออกฤทธิ์ได้ลดลง เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินขึ้น หากเกิดอย่างต่อเนื่องนานเข้าอาจจะทำให้ตับอ่อนทำงานหนักและเกิดการอ่อนล้าของเซลล์ตับอ่อนขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ การเสริม FOS ในสุนัขกลุ่มนี้ สามารถทำให้ภาวะการดื้อต่ออินซูลินดีขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้น้ำหนักลดลงก็ตาม แต่จะช่วยลดโอกาสในการเป็นเบาหวานในอนาคตได้

อาหารที่เสริม FOS ลงไป 0.6% ในอาหารได้รับการยืนยันว่าสามารถช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ของสัตว์ โดยจะทำให้เป็นกลุ่มของแบคทีเรียที่ดี โดยพบว่าหลังจากการเสริม FOS ในอาหารเม็ดแล้ว ทำให้ประชากรของแบคทีเรียที่ดี เช่น ไบฟิโดแบคทีเรีย หรือ แลคโตบาซิลัส เพิ่มมากขึ้นถึง 2-3 เท่า และช่วยทำให้การย่อยอาหารที่ลำไส้เล็กมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามปริมาณ 0.6% ของ FOS นั้นเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูงจึงต้องหาข้อมูล หรือคำนวณให้ดีก่อน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ไอแอมส์ และมาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์
https://www.mars.com/
https://www.iams.asia/th/