ไอโซพอด (Isopod) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

โลมาไม่ใช่ปลา  “ไอโซพอด ไม่ใช่ แมลง” แต่เป็นสัตว์เลี้ยงดึกดำบรรพ์ จากยุค คาร์บอนิเฟรัส

บ้านและสวน Pets x Exofood Thailand ขออาสาพาคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไป 300 ปีก่อน ในยุคคาร์บอนิเฟรัส เพื่อทำความรู้จักเจ้า ไอโซพอด ให้มากขึ้นกันค่ะ

ไอโซพอด หรือ Isopods มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกแปลว่า “Equal Foot” เนื่องจากพวกมันมีจำนวนเท้าแต่ละข้างเท่ากันนั่นเอง แต่สำหรับคนไทยเราคุ้ยเคยกับเจ้าตัวนี้ใน ชื่อ “ตัวกะปิ” (Pill Bugs) สัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ เกิดขึ้นมาบนโลกตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟรัส (Carboniferous) เมื่อราว 300 ล้านปีก่อน เป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียน (Crustaceans) จำพวกเดียวกับกุ้ง ปู มันจึงไม่เกี่ยวข้องกับแมลงเลยสักนิด ถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตามพื้นดิน โขดหินและต้นไม้เหมือนแมลงก็ตาม โดยพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิต ที่คอยกินสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วและย่อยสลายสารอินทรีย์ ( Detritivores ) มันจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อการย่อยสารอินทรีย์ในระบบนิเวศมาก ๆ

ไอโซพอด กลายมาเป็น Exotic Pets ได้อย่างไร ?

อยู่ดี ๆ เจ้าไอโซพอด ที่เอาแต่หลบซ่อนอยู่ใต้ดินนั้นก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่กำลัง ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากทั่วโลก เหตุผลที่ทำให้มันกลายเป็นที่นิยม เนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่มีสีสันและลวดลายที่สวยแปลกตา ทำให้หลายคนโดนตก กลายเป็นทาสไอโซพอดโดยสมบูรณ์ รู้ตัวอีกทีก็มีเป็นสิบสายพันธุ์ และยังเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการพื้นที่หรือต้องการการดูแลที่มากมาย แค่มีกล่องเพียงหนึ่งใบ ก็สามารถเลี้ยงไอโซพอดได้หลายสิบตัว

ไอโซพอด มีกี่สายพันธุ์ ?

ไอโซพอดนั้นมีมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ทั้งที่อยู่บนบกและในน้ำ แต่ในปัจจุบันไอโซพอดที่นิยมเลี้ยงเป็น Pet นั้นเป็นสายพันธุ์ที่อยู่บนบกซึ่งมีมากกว่า 5,000 สายพันธุ์เลยทีเดียว แต่ที่ฮิตจริงๆ ก็มีอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ เช่น  Armadillidium, Cubaris, Porcellio,เป็นต้น  แต่ละพันธุ์ก็จะมีชื่อต่อท้าย ส่วนใหญ่ก็จะถูกตั้งตามลักษณะ สีและแหล่งที่มา ยกตัวอย่างเช่น

ไอโซพอด
(ซ้าย) Armadillidium vulgare Magic Potion (กลาง) Cubaris sp. Amber (ขวา) Porcellio laevis Dairy Cow ขอบคุณภาพจาก : isopod.com

Armadillidium :  ไอโซพอดขนาดใหญ่ที่สุด สามารถม้วนเป็นลูกบอลกลม ๆ ได้หากถูกรบกวน

ตัวอย่างชื่อสายพันธุ์ :

  • Armadillidium vulgare Magic Potion
  • Armadillidium sp. Cookies and Cream
  • Armadillidium sp. Spotted Albania

Cubaris : ไอโซพอดตระกูลเดียวกันกับ Armadillidium สามารถม้วนเป็นลูกบอลกลม ๆ ได้เช่นกัน

ตัวอย่างสายพันธุ์ :

  • Cubaris sp. Rubber Ducky
  • Cubaris sp. Panda King
  • Cubaris sp.Platin Tung Song
  • Cubaris murina Papaya, Cubaris sp Red Tiger

Porcellio :  ไอโซพอดขนาดกลาง ไม่สามารถหมุนเป็นลูกบอลได้  นิยมเลี้ยงเป็น Tankmates เพื่อดูแลระบบนิเวศในตู้

ตัวอย่างสายพันธุ์ :

  • Porcellio laevis Dairy Cow
  • Porcellio Laevis Giant Orange
  • Porcellio laevis Marbled

ซึ่งไอโซพอดแต่ละสายพันธุ์ ก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไปเนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน การจัดตู้เพื่อเลี้ยงไอโซพอด จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และอาหารที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์

ประเทศไทย เป็นแหล่งที่อยู่ของ Isopods ที่สวยที่สุดในโลก

ว่ากันว่าประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของไอโซพอดที่มีสีสันและลวดลายที่สวยที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Cubaris sp “Rubber Ducky” เจ้าไอโซพอด สีเหลืองแสนน่ารักหน้าตาคล้ายเป็ดยาง  ตามมาด้วย Cubaris sp. “Amber” ไอโซพอดสีเหลืองอำพัน ที่ต่างก็มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ราคาในท้องตลาดสูงจนน่าตกใจ ในต่างประเทศราคาตามเว็บก็พุ่งไปอยู่ที่ตัวละ 120$ เหรียญ + กันเลยทีเดียว

ไอโซพอด เลี้ยงเป็น Pet ก็ดี เลี้ยงเป็น Tankmates ก็เวิร์ก!

ไอโซพอด นอกจากเลี้ยงเป็น Pet แล้ว ยังได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็น Tankmates / Secondary Inhabitants  หรือการเลี้ยงคู่กับสัตว์ชนิดอื่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ต้องอยู่ในตู้ ที่มีการจำลองระบบนิเวศหรือการจัดตู้แบบ Bioactive ไม่ว่าจะเป็น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก  สัตว์เลื้อยคลาน แมงหรือแมลง เช่น งู หอยทาก กิ้งก่า แมงมุม เป็นต้น โดยให้  ไอโซพอด ทำหน้าที่เป็น Bioactive Terrarium Cleanup Crew คอยกำจัดซากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และย่อยสลายสารอินทรีย์  ดูแลระบบนิเวศในตู้เลี้ยงดีอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องเลือกสายพันธุ์ของไอโซพอดให้เหมาะกับการเลี้ยงเป็น Tankmates ด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้ ไอโซพอด เจริญเติบโดได้ไม่ดี และไม่ขยายพันธุ์

ตามธรรมชาติ ไอโซพอด จะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน โขดหิน ต้นไม้ในป่าทึบ เป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยกินสิ่งซากพืชซากสัตว์และย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยไอโซพอดนั้นเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมการตอบสนองโดยมีการสัมผัสเป็นสิ่งเร้าในเชิงบวก (Thigmotaxis) มันจึงชอบที่จะสัมผัสกับวัตถุรอบตัวเพื่อช่วยรักษาและป้องกันการสูญเสียความชื้น และพฤติกรรมนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

การจัดตู้เลี้ยงไอโซพอด จึงต้องจำลองระบบนิเวศน์หรือสิ่งแวดล้อมแบบที่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน อาหาร อุณหภูมิ ความชื้นและแสง เพื่อให้เจ้าไอโซพอดเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีตลอดทั้งปี

การเลี้ยงไอโซพอด

อุปกรณ์

  • กล่องพลาสติก หรือกล่องอะคริลิคเจาะรู
  • ดิน หรือ พีทมอส (Peat Moss)
  • เวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite)
  • ใบไม้อบแห้งบด
  • มอส สแฟกนั่มมอส หรือพืชคลุมดิน
  • กระดองปลาหมึกแบบบด และ แบบชิ้น
  • ขอนไม้ผุ
  • ก้อนหิน หินปะการัง
  • สปริงเทล⁣
  • กระบอกฉีดน้ำ

วิธีการเลือกกล่องเลี้ยง

การเลือกกล่องสำหรับเลี้ยงไอโซพอดนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับจำนวนของไอโซพอดที่จะเลี้ยงและอย่าลืมนึกถึงลูกๆ หลานๆ ที่จะเกิดมาในอนาคต สามารถ ใช้ได้ทั้งกล่องพลาสติกและกล่องอะคริลิคใส และไม่ควรเลือกกล่องที่ใหญ่จนเกินไป เพราะอาจทำให้เราหาเจ้าไอโซพอดไม่เจอ หากเลี้ยงในห้องอุณหภูมิปกติสามารถเจาะรูได้ทั้งด้านข้างและฝากล่อง แต่หากเลี้ยงในห้องแอร์แนะนำให้เจาะรูบริเวณด้านข้างแทนเพื่อกักเก็บความชื้น

ขอบคุณภาพจาก : edmmundoj.com

ขั้นตอนการเตรียมดิน

การเตรียมดินสำหรับเลี้ยงไอโซพอดนั้น ให้นำดินหรือพีชมอส 3 ส่วน ผสมกับ เวอร์มิคูไลท์ 1 ส่วน เพื่อช่วยกักเก็บความชื้นและสารอาหารในดิน ระหว่างคลุกเคล้าดินและเวอร์มิคูไลท์ ให้พรมน้ำใส่เพื่อให้ดินมีความชื้น แต่ระวังอย่าพรมจนแฉะเกินไป จากนั้นนำไปใส่ในกล่องพลาสติกที่เตรียมไว้ โดยให้ดินสูงจากพื้นประมาณ 1 นิ้ว

Tips หากต้องการประหยัดงบ ไม่อยากซื้อส่วนผสมปรุงดินมากมาย ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปกดปุ่มซื้อดินเลี้ยงไอโซพอดสำเร็จรูปได้เลย โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีสูตรที่แตกต่างกันไป

ขั้นตอนการตกแต่ง

หลายคนชอบขั้นตอนนี้มากกว่าตอนเลี้ยงซะอีก การแต่งบ้านให้ไอโซพอดนั้น แนะนำแบ่งกล่องเป็นโซนชื้นและโซนแห้ง ให้ไอโซพอดเลือกอยู่ได้ตามชอบใจในโซนชื้น ให้ปูมอส สแฟกนั่มมอส หรือพืชคลุมดินอื่นๆ พรมน้ำให้พืชกักเก็บความชื้น ส่วนโซนแห้ง วางขอนไม้พุ ก้อนหิน หินปะการัง ไว้ให้ไอโซพอดซ่อนตัว โรยใบไม้อบแห้งบด วางกระดองปลาหมึกแบบชิ้น กระดองปลาหมึกแบบบด

ได้เวลาย้ายเข้าบ้านใหม่

จัดตู้เสร็จแล้ว เตรียมแหล่งอาหารเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาย้ายเข้าบ้านใหม่ จับเจ้าไอโซพอดลงกล่อง จากนั้นมันก็จะพากันเดินเลือกมุมที่ถูกใจ หลายคนถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้มันสบายดี แฮปปี้กับชีวิตความเป็นอยู่ในกล่องที่เราจัดไว้ ความจริงแล้ว ไอโซพอด ก็เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ เราสามารถสังเกตมันได้จากการเคลื่อนไหว หรือการเดินของมัน มันจะเดินหาจุดที่ถูกใจ (จุดที่มีอุณหภูมิ มีความชื้นเหมาะสม) หากเจอแล้วมันก็จะเคลื่อนที่ช้าลง ดังนั้นลองสังเกตดูหากเจ้าไอโซพอดที่เลี้ยงเอาไว้ มีพฤติกรรมแปลกๆ เคลื่อนที่เร็วเกินไปแม้ไม่ได้ถูกรบกวน อาจมีบางอย่างผิดปกติ ลองตรวจเช็กสภาพแวดล้อมภายในกล่อง ทั้งเรื่องของความชื้น อุณหภูมิ และอาหารดู

สปริงเทล⁣”  Matetanks  คู่หูไอโซพอด

จัดกล่องเลี้ยงไอโซพอด อย่าลืมสิ่งมีชีวิตสำคัญอย่าง “สปริงเทล⁣” หรือแมลงหางดีด ที่เรียกได้ว่าเป็น Matetanks คู่หูของไอโซพอดเลยก็ว่าได้มันเป็นตัวย่อยสลาย คอยกินอินทรียวัตถุที่สลายตัวเหมือนกับไอโซพอด รวมไปถึงเชื้อราแบคทีเรีย มันจึงช่วยแก้ปัญหาเชื้อราในกล่องเลี้ยงได้

ไอโซพอด กินซากพืช ซากสัตว์ แล้วเราจะให้อะไรเป็นอาหาร ?

เมื่อไอโซพอด เป็นสัตว์กินซากพืชซากสัตว์ ย่อยสลายอินทรียวัตถุ แล้วเราต้องให้อะไรเป็นอาหาร บอกเลยว่าเลี้ยงไอโซพอดไม่ต้องเล่นใหญ่เหมือนให้อาหารงู  แถมไม่ต้องให้อาหารเช้าเย็นเหมือน Exotic Pets ทั่วไป แค่เตรียมอาหารให้พร้อมตอนจัดกล่องเลี้ยง และเราก็ได้จัดเตรียมไปแล้ว ก็คือกระดองปลาหมึก ขอนไม้พุๆ และ ใบไม้อบแห้ง แต่เราก็สามารถให้อาหารสดกับไอโซพอดได้  เช่น ผักผลไม้ชิ้นเล็ก ๆ ล้างให้สะอาดปราศจากสารเคมี กุ้งตากแห้ง ปลาตากแห้ง  หรือจะเป็นตัวหนอนอบแห้งก็ได้นะ แต่อย่าให้เยอะเกินไป ไม่งั้นอาจเกิดเชื้อราได้

Tips อาหารปลานั้นทำมาจากโปรตีนและสาหร่าย ถามว่าไอโซพอดกินได้ไหม? กินได้แต่ไม่ค่อยแนะนำ แนะนำเป็นอาหารสด อาหารแห้งอย่างพวกกระดองปลาหมึก
ไม้ ใบไม้ กุ้ง-ปลาตากแห้ง หนอน BSF อบแห้ง หนอนนกอบแห้ง แตงกวา แครอท จะดีกว่า

อยากให้ไอโซพอดออกลูกไว อย่ารบกวนเวลาจู๋จี๋

หากอยากให้ไอโซพอดออกลูกไว ๆ แน่นอนที่สุดข้อแรกคือ อย่าเลี้ยงตัวเดียว ผ่ามม ! อาจเริ่มจากการเลี้ยงประมาณ 10 – 15 ตัว เตรียมดิน อาหาร อุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม และที่สำคัญอย่าไปกวนเวลาจู๋จี๋ของพวกมัน เพราะ ทุกครั้งที่เราเปิดกล่อง แง้มดูด้วยความตื่นเต้น อาจกลายเป็นการรบกวนพวกมันได้ ทางที่ดีปล่อยไว้ แอบดูจากนอกกล่องก็พอ

ไอโซพอด ไม่ชอบให้กวนใจ แต่ก็ห้ามละเลย

ถึงไอโซพอดจะไม่ชอบให้เราไปกวนบ่อย ๆ แง้มกล่องดูเช้า กลางวัน เย็น แต่จะทิ้งไม่สนใจเลยก็ไม่ได้  คนเลี้ยงไอโซพอดต้องคอยใส่ใจเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้นในดินและแสงอยู่เสมอ เลี้ยงในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมกับแต่ละสายพันธุ์   ตรวจเช็กบ่อย ๆ ว่าดินในกล่องมีความชื้นเพียงพอหรือเปล่า ถ้าแห้งเกินไปให้พรมน้ำเพิ่มได้ แต่อย่าพรมให้โดนตัวไอโซพอดโดยตรง และสำหรับเมืองไทยที่อากาศร้อน หากไม่ได้เลี้ยงในห้องแอร์ เทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิคือการวางกล่องเลี้ยงลงในถาด เทน้ำให้สูงเท่าดินในกล่องและนำไปวางไว้ในจุดที่แสงส่องไม่ถึงก็จะช่วยรักษาอุณหภูมิและความชื้นในกล่องเลี้ยงได้

บทความโดย
Exofood Thailand

ขอบคุณข้อมูลจาก
neherpetoculture.com/isopodcare
isopod.com/cubaris
animalfoodplanet.com/can-isopods-be-pets/
neherpetoculture.com/isopodcare