EASTERNGLASS CAFE คาเฟ่ในโรงงานทำแก้วแฮนด์เมด ได้อารมณ์อินดัสเทรียลสุดเท่แบบแท้ ๆ

ปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในยุคโควิด-19 ให้คนไทยรู้จักแบรนด์แก้วทำมือสุดประณีตรายใหญ่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ กับการเปลี่ยนพื้นที่ในโรงงานให้เป็นคาเฟ่ เต็มอิ่มกับบรรยากาศอินดัสเทรียลสุดเท่ ๆ พร้อมเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโรงงานแก้วบูรพา หรือ EasternGlass Manufacturer Co., Ltd ที่ดำเนินงานมากว่า 70 ปี EasternGlass Cafe

จากพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนของสำนักงานด้านหน้า มาวันนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่ให้กลายเป็น EasternGlass Cafe สไตล์อินดัสเทรียลสุดเท่ ให้บรรยากาศของการมาเยือนโรงงานแท้ ๆ เชื่อมต่อกับโกดังขนาดใหญ่ เปิดต้อนรับลูกค้าให้เข้ามาพักผ่อนจิบกาแฟอร่อย ๆ พร้อมกับช้อปปิ้งแก้วแฮนด์เมดสวย ๆ เกรดส่งออกสุดประณีต โดยฝีมือจากช่างเป่าแก้วชาวไทย ซึ่งยังคงดำรงวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมมาตลอด ที่นี่จึงถือเป็นโรงงานผลิตแก้วทำมือเพียงแห่งเดียวและเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ตลอดการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การทำโป๊ะแก้วครอบโคมไฟสมัยคุณปู่ เรื่อยมาถึงรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ และคุณอา ที่เน้นส่งออกผลิตภัณฑ์แก้วหลากหลายรูปแบบ จนถึงทายาทรุ่นที่สามในยุคปัจจุบัน สินค้าของโรงงานเน้นส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ กระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงแรม ร้านอาหาร และแบรนด์ของตกแต่งบ้าน ในแถบประเทศยุโรปและสแกนดิเนเวียน โรงงานจึงถึงคราวต้องปรับตัวเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้ ด้วยการบริหารของคุณปีเตอร์-พีรัท จงอัศญากุล โดยเขาได้เล่าถึงการกลับมาตีตลาดในไทย และเปิดพื้นที่ให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสคาเฟ่ในโรงงานว่า
คุณปีเตอร์-พีรัท จงอัศญากุล ทายาทรุ่นที่ 3 กับความพยายามนำพาแบรนด์ไปสู่ทิศทางที่ทำให้คนไทยรู้จัก EasternGlass ในฐานะโรงงานแก้วทำมือ ที่มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ
“ช่วงหลังเราเพิ่งเห็นเทรนด์เมืองไทยว่า ลูกค้าให้ความสนใจกับการตกแต่งบ้านมากขึ้น รวมทั้งเหล่าดีไซเนอร์ที่ต้องการพร็อปส์ที่เป็นงานคราฟต์ จึงมองเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะนำเสนอโปรดักต์ที่มีอยู่ออกมาแสดงให้คนไทยเห็นว่าเมืองไทยก็มีผู้ผลิตแก้วแฮนด์เมดเหมือนกัน ประจวบเหมาะกับสถานการณ์โควิด เราไม่สามารถส่งออกและไม่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศ จึงต้องปิดโรงงานชั่วคราว ก่อนจะตัดสินใจรีโนเวตส่วนของออฟฟิศให้กลายเป็นคาเฟ่สไตล์อินดัสเทรียล ซึ่งเป็นบรรยากาศแบบโรงงานจริง ๆ โดยพยายามคงดีเทลความเป็นอินดัสเทรียลของโรงงานไว้ แล้วนำบรรดาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ทำแก้วมาจัดแสดงเป็นดิสเพลย์ให้คนได้เห็น เพราะบางคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า การทำแก้วนั้นเขาทำกันอย่างไร เครื่องมือที่ใช้มีหน้าตาเป็นอย่างไร”
เครื่องปั๊ม เครื่องตัด ที่หนีบแก้ว ไม้ซางเป่าแก้ว และโมสำหรับขึ้นรูปทรงแก้วแต่ละแบบ จึงได้รับการนำมาประดับเป็นส่วนหนึ่งของคาเฟ่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตรงกลางคาเฟ่ ที่โดดเด่นด้วยเครื่องตัดและปั๊มขนาดใหญ่ รวมถึงบนผนังปูนเปลือยด้านหลังเคาน์เตอร์ที่เต็มพรืดไปด้วยเหล่าที่หนีบแก้วและไม้ซาง ส่วนผนังอีกมุมทำชั้นเหล็กข้ออ้อย จัดวางโมไว้หลายชิ้นสูงจนจรดเพดาน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโรงงาน และทำให้รู้ว่าขั้นตอนการทำแก้วจะต้องใช้เครื่องมือใดบ้าง โดยต้องผ่านฝีมือและขั้นตอนที่พิถีพิถัน ท่ามกลางบรรยากาศดิบเท่ ปลอดโปร่งจากฝ้าเพดานขนาดสูงแบบโกดัง และผนังกระจกใสกรอบเหล็กยอมให้แสงลอดผ่านเข้ามาได้ ทำให้เกิดแสงเงาสวย ๆ โดยเฉพาะแสงแดดอุ่น ๆ ยามตะวันบ่ายคล้อย
ก่อนพาทุกคนเดินเข้าสู่อาณาจักรแห่งแก้วที่อยู่ภายในโกดังขนาดใหญ่ ละลานตาไปด้วยแก้วหลากดีไซน์หลายสีสันนับพัน ๆ ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นต่างมีเอกลักษณ์ในตัวเอง อันเกิดจากขั้นตอนการทำมือทุกใบ สีสันจึงอาจมีบ้างที่ไม่เท่ากัน หรือบางชิ้นอาจมีลวดลายที่เกิดจากฟองอากาศอันถือเป็นเรื่องปกติ ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น หรือลม โดยผลงานที่ได้กลับมีความสวยงาม จนก้าวพ้นคำว่ามีตำหนิ เพราะนี่คืองานศิลปะและเสน่ห์ของงานแก้วทำมือที่ควรให้คุณค่า แตกต่างจากการผลิตด้วยเครื่องจักรจำนวนมาก ๆ
การให้คุณค่ากับงานแฮนด์เมด อย่างที่คุณปีเตอร์และโรงงานแก้วบูรพาตั้งใจสื่อสารมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนถึงทายาทรุ่นปัจจุบัน ท่ามกลางยุคโควิดเช่นนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากเกินไป เมื่อธุรกิจต้องการการปรับตัว ไปพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครคาดเดามาก่อน การเปิดคาเฟ่เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้ ให้ลูกค้าได้เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานถึงที่ และเข้าถึงผลิตภัณฑ์แก้วแฮนด์เมดได้ง่ายขึ้น น่าจะเป็นแนวทางอันดีควบคู่ไปกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้เช่นเดิม หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
ที่ตั้ง
อยู่ภายในถนนส่วนบุคคล ระหว่างซอยเพชรเกษม76/1 และเพชรเกษม76 ถนนเพชรเกษม แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพฯ
เปิดบริการทุกวัน 8.00 – 17.00 น.
โทร. 09-2240-4141
เรื่อง : ภัทรภร
ภาพ : นันทิยา