3 เกร็ดข้อ กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน

มีหลายท่านที่สนใจความรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขมากพอสมควร โดยเฉพาะพวกที่มีลักษณะร่อนเร่ไปมาไม่มีเจ้าของที่แน่นอน (จรจัด) ว่าจะมี กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน หรือสามารถดำเนินการอย่างไรกับสุนัขเหล่านี้ได้บ้าง

วันนี้ บ้านและสวน Pets เลยขอเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางด้าน กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน มาให้เป็นความรู้แก่ผู้อ่านเพิ่มเติมอีกนะครับ โดยจะพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เข้าใจโดยทั่วกันครับ

เกร็ดที่หนึ่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้ใจบุญที่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ ไม่ถือว่าผู้นั้นเป็น “เจ้าของสุนัข” ตัวนั้นครับ

เดิมทีนั้นในข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ได้ให้ความหมายว่า เจ้าของสุนัข หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสุนัข หรือผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย

ทีนี้ ก็มีคนเอาไปฟ้องศาลปกครองครับ โดยมองว่าผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตาไม่ควรถือว่าเป็นเจ้าของตัวนั้น ซึ่งศาลปกครองก็ได้พิพากษาว่า การที่กรุงเทพมหานครไปกำหนดความหมายผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำว่า ถือเป็นเจ้าของสุนัข อาจทำให้คนเหล่านั้นทำผิดข้อบัญญัติ กทม. ไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งเรื่องการควบคุมสุนัข และการที่ต้องพาสุนัขของตัวเองไปฝังไมโครชิพและจดทะเบียนตัวสุนัขด้วย (ซึ่งในความเป็นจริง คนที่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ คงไม่ได้นำสุนัขจรจัดเหล่านั้นไปฝังไมโครชิพหรือจดทะเบียนตัวอย่างแน่นอน) ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการจัดการ ควบคุม ดูแลสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย การเขียนนิยามศัพท์ในข้อบัญญัติดังกล่าวที่รวมคนให้อาหารสุนัขเป็นประจำว่าถือเป็นเจ้าของสุนัขด้วย จึงถือเป็นการผลักภาระมาให้แก่ประชาชนครับ ดังนั้นศาลจึงพิพากษาให้เอาคำนิยามในส่วนนี้ออกจาก ข้อบัญญัติ กทม. ข้างต้น

ดังนั้น แปลว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2556 เป็นต้นมา ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขตัวนั้นครับ กรณีนี้อธิบายโดยอ้างอิงตามคำพิพากษาศาลปกครองที่ อ.764/2556 ครับ

 

เกร็ดที่สอง แล้วแบบนี้ หากสุนัขจรจัดในประเทศไทยเรา (ไม่ใช่แค่ใน กทม. นะครับ แต่หมายความถึงสุนัขจรจัดทั่วประเทศ) เกิดไปกัดคน กัดเด็ก หรือกัดสัตว์อื่นเข้าจนเกิดความเสียหาย จะเรียกร้องความเสียหายจากใครได้บ้าง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ขึ้นชื่อว่าสุนัขจรจัด แน่นอนครับว่าไม่มีเจ้าของแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าสุนัขจรจัดไปทำอะไรไม่ดีเข้า แล้วจะไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบนะครับ นั่นเพราะ สุนัขถือเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครับ ต้องมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ปรากฏอยู่ (เครื่องหมายที่ว่าก็คือ เครื่องหมายห้อยคอรูปกาชาดที่แสดงว่าสุนัขฉีดพิษสุนัขบ้าแล้วนั่นเองครับ) เมื่อมีการพบเห็นสุนัขที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง และถ้าไม่มีเจ้าของมารับคืนภายใน 5 วัน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสุนัขตัวนั้นได้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครับ

แปลในมุมกลับกัน หมายความว่า ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้ดำเนินการควบคุมสุนัขจรจัด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรค ที่เกิดจากสุนัขจรจัด หรือเพื่อป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ในเขตท้องถิ่นของตนเอง จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หากสุนัขจรจัดไปก่อความเสียหายอันถือเป็นการกระทำละเมิดต่อประชาชนไม่ว่าจะทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือในด้านอื่น ๆ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายครับ กรณีนี้อธิบายโดยอ้างอิงตามคำพิพากษาศาลปกครองที่ อ.1751/2559 ครับ

ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เขียนถึงก็คือ

(1) นายกเทศมนตรีสำหรับในเขตเทศบาลต่าง ๆ

(2) ประธานกรรมการสุขาภิบาลสำหรับในเขตสุขาภิบาล

(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(4) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร

(5) ปลัดเมืองพัทยาสำหรับในเขตเมืองพัทยา

(6) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น

เมื่อทราบแบบนี้แล้ว เราก็พอจะได้ไอเดียแล้วนะครับ ว่าถ้าเราเจอสุนัขจรจัดแถวบ้านเรา เราควรร้องเรียนไปที่ไหนหรือหน่วยงานใดให้จัดการ

 

เกร็ดที่สาม ถ้าเป็นสุนัขมีเจ้าของชัดเจน แต่เจ้าของละเลยไม่ควบคุมสุนัขของตัวเอง ปล่อยออกมาอยู่ในทางสาธารณะ แบบนี้ก็ต้องดูเป็นกรณีไปครับว่า ในท้องที่นั้น ๆ มีกฎหมายประจำท้องถิ่นควบคุมเรื่องการปล่อยสุนัขไว้หรือไม่ ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้ (เช่นใน กทม. ที่มีข้อบัญญัติการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข เป็นต้น) ก็แน่นอนครับว่า ถ้าเจ้าของปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุม แบบนี้ผิดกฎหมายของท้องถิ่นแน่นอน แจ้งเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีได้เลยครับ

แต่ถ้าท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่มีกฎหมายประจำท้องถิ่นควบคุมเรื่องการปล่อยสุนัขเอาไว้ล่ะ แบบนี้ก็ต้องมาพิจารณาแบบนี้ครับ

– ถ้าสุนัขตัวนั้นเคยมีประวัติกัดหรือแสดงอาการดุร้ายจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว แบบนี้สุนัขตัวนั้นเข้าข่ายการเป็น “สัตว์ดุ” ตามประมวลกฎหมายอาญาครับ การปล่อยปละให้ไปเที่ยวโดยลำพัง ซึ่งอาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ก็ถือว่าผิดกฎหมายอาญา มาตรา 377 ครับ อาจโดนลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– ถ้าสุนัขตัวนั้นไม่เคยมีประวัติกัด หรือแสดงอาการดุร้ายจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว แบบนี้สุนัขตัวนั้นก็ไม่เข้าข่ายการเป็น “สัตว์ดุ” ตามกฎหมายอาญาครับ ยังสามารถไปเที่ยวตามลำพังได้

ระดับความดุของสุนัข !! ที่คุณต้องรู้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าสุนัขตัวไหนจะถือเป็นสัตว์ดุหรือไม่ใช่สัตว์ดุตามที่กล่าวมาก็ตาม แต่ถ้าเกิดจับพลัดจับผลูไปทำร้ายคนอื่นเข้า แน่นอนครับว่าผิดกฎหมายแน่ ๆ

ตัวอย่างเช่น เจ้าของสุนัข ปล่อยสุนัขโดยปราศจากการควบคุมใด ๆ ในทางสาธารณะ แล้วสุนัขดันวิ่งไปกัดเด็ก จนได้รับบาดแผลหน้าเสียโฉมไปตลอดชีวิต เจ้าของสุนัขก็ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือถ้าหากเด็กเสียชีวิต เจ้าของสุนัขก็ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือถ้าดันวิ่งไปกัดสุนัขอีกตัวจนถึงแก่ความตาย นอกจากเจ้าของสุนัขตัวที่กัดจะผิดฐานกระทำทารุณสัตว์ (เพราะสุนัขอีกตัวถึงแก่ความตาย) แล้ว เจ้าของสุนัขก็ยังผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ฐานประมาททำให้เสียทรัพย์อีกด้วยครับ ทั้งนี้เพราะ หากเจ้าของไม่ประมาทและควบคุมสุนัขของตัวเองให้ดี เหตุการณ์ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นครับ

แถมยังอาจจะมีของแถมให้เจ้าของโดนฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 อีกด้วยครับ เพราะถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้นครับ

ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เจ้าของจึงไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สุนัขไปท่องเที่ยวโดยลำพังปราศจากอุปกรณ์ควบคุมครับ

หวังว่าความรู้เรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านให้ควบคุมและดูแลสุนัขของตนเองเวลาออกไปนอกบ้านมากขึ้นนะครับ ขอบคุณครับ

 

บทความโดย

นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ และผู้ฝึกสอนในชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Class