บ้านในวันนี้ เป็นทาวน์โฮมที่ถูกรีโนเวทใหม่ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน และ เตรียมพร้อมสำหรับครอบครัวใหม่ ทาวน์โฮมน่าอยู่ ที่แบ่งพื้นที่ใช้งานทั้งส่วนพักอาศัย และ พื้นที่ทำงาน ได้อย่างสวยงามกลมกลืน ด้วยของมือสองจากหลากหลายที่มา
เจ้าของ : คุณหญิงเดียว-นันทิชา วัฒนะสิมากร และ คุณปอนด์-ชาติวุฒิ เจิมธเนศ

หลายคนค้นพบความชอบของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก แต่อีกหลายคนอาจต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง อาจจะคล้ายกับเจ้าของบ้านในวันนี้ ที่พบว่าการทำขนม ซึ่งเป็นงานอดิเรกก็คืองานที่เธอรัก จนเกิดเป็น Cafe Phom Kanom Ter (คาเฟ่ผมขนมเธอ) ร้านเค้กแสนอร่อย และ น่ารักย่านประชาชื่น ที่หลาย ๆ คนติดใจในรสชาติ จนต้องฝากตัวเป็นลูกค้าขาประจำ ก้าวแรกที่พวกเราเดินเข้าบ้าน กลิ่นขนมอบใหม่จากเตาหอมฟุ้งไปทั่วบ้าน พาพวกเราจินตนาการไปไกล กับเค้กอันแสนหอมหวาน เจ้าของบ้านทั้งสองคนต่างเชื้อเชิญพวกเราเข้าบ้านอย่างเป็นกันเอง คุณหญิงเดียว-นันทิชา วัฒนะสิมากร และ คุณปอนด์-ชาติวุฒิ เจิมธเนศ อินทีเรียดีไซเนอร์ คู่รักที่ทำให้ ทาวน์โฮมน่าอยู่ หลังนี้ นอกจากจะอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมๆของขนมอบแล้ว ยังอบอวลไปด้วยความรักที่พวกเรามองเห็น และ สัมผัสได้รอบตัว


“บ้านนี้เป็นบ้านที่พ่อแม่ซื้อไว้ให้พี่น้องของหญิงเดียวอยู่ด้วยกัน 5 คน เรามาอยู่บ้านนี้กันตั้งแต่เด็ก เพื่อน ๆ พี่ชายก็แวะเวียนมาที่บ้านเป็นประจำ พอพี่ ๆ แต่ละคนแต่งงานมีครอบครัว ก็แยกย้ายกันไป พอวันที่เราจะแต่งงาน ก็เริ่มคุยกับปอนด์ว่า อยากรีโนเวตบ้านใหม่ เนื่องจากของเดิมกั้นห้องไว้สำหรับทุก ๆ คน ก็ต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะหญิงเดียวก็ยังทำเค้กที่นี่ ครัวด้านหลังก็แน่นมาก อยากจะย้ายมาไว้หน้าบ้าน เพื่อความสะดวกในการเข้าออก และ จะได้ขยับขยายต่อเติมส่วนอื่น ๆ ของบ้านอีกด้วย”




บ้านทาวน์โฮม 3 ชั้น ถูกปรับฟังชันก์ใหม่ ให้ชั้นล่างเป็นส่วนทำขนม มีพื้นที่กว้างเพียงพอสำหรับวางเตาอบขนม และ อุปกรณ์ทำขนมขนาดใหญ่ ถัดมาด้านในเป็นส่วนนั่งเล่น ทุบห้องน้ำเดิมออก เพื่อให้ห้องนั่งเล่นมีพื้นที่กว้างขึ้น และ ต่อเติมหลังบ้านออกไปเพื่อให้เป็นครัว รวมไปถึงต่อเติมห้องน้ำใหม่ด้านหลังบ้าน แน่นอนว่าผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการออกแบบ และ รีโนเวตบ้านจะเป็นใครไม่ได้ นอกจากคุณปอนด์ แต่คุณหญิงเดียวซึ่งเรียนจบด้านอินทีเรียร์เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานด้านนี้แล้ว แต่ก็เป็นฝ่ายช่วยออกความคิดเห็น และ ใส่ดีเทลความน่ารักเข้าไปในบ้าน




“หญิงเดียวจะชอบซื้อของมือสอง จริงๆ แล้วน่าจะเป็นกิจกรรมโปรดประจำครอบครัวมากกว่า เพราะเวลากลับบ้านที่อุดรฯ เราก็ชอบพากันไปร้านเฟอร์นิเจอร์มือสองญี่ปุ่น แล้วของที่ซื้อแต่ละชิ้น ไม่ใช่แค่ชิ้นเล็กๆ แต่มีทั้งตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เปียโน อิเล็กโทน ชอบซื้อจาน ชาม แก้วกาแฟสวยๆ ซึ่งของพวกนี้จะมีแบบละไม่กี่ชิ้น หรือแม้แต่เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ชอบไปเดิน Flea Market เจอของวินเทจจากบ้านนั้นบ้านนี้ ที่เขาเอาออกมาขาย ก็ซื้อแล้วขนกลับมา” ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมข้าวของในบ้านนี้ต่างดูแปลกตา ถึงจะหลากหลายที่มา หลายสไตล์ แต่เมื่อจัดวางอยู่ด้วยกันแล้วกลับดูสวยงามน่าสนใจ



ชั้น 2 ปรับเป็นห้องทำงานของคุณปอนด์ มีโต๊ะทำงานตัวใหญ่กลางห้อง ล้อมไปด้วยเก้าอี้ 6 ตัว ที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นความตั้งใจในความไม่ตั้งใจที่เจ้าของบ้านชี้ชวนให้ดูไปขำไป “เก้าอี้ 2 ตัวนั้น คุณพ่อซื้อส่งมาจากอุดรฯ ตัวใหญ่นั่นมีเพื่อนรุ่นพี่ทำให้บอกว่าเห็นแล้วคิดถึงเรา ส่วนตัวสีน้ำเงินเป็นเก้าอี้เก่าที่อยู่กับบ้านนี้มาตั้งแต่แรก อายุก็น่าจะเกิน 20 ปีแล้ว แต่รู้สึกว่าของถึงแม้จะเก่า แต่ยังสภาพดีใช้งานได้ ก็ยังไม่อยากทิ้งไป”




ในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าของบ้าน และ ดีไซเนอร์ด้วยตัวเอง น่าจะถือว่าได้เปรียบ “จะบอกว่าตอนทำบ้านนี้ไม่มีแบบเลย คือมีแค่แบบโครงบ้านที่ต้องมาวัดขนาดใหม่ ส่วนที่เหลือเรียกได้ว่า ลุยกันหน้างานล้วนๆ (หัวเราะ) คือปกติเวลาทำงานให้ลูกค้า เราก็ต้องเขียนแบบ ทำภาพสามมิติ ประเมินราคาให้เรียบร้อย ลูกค้าก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนว่าจะได้บ้านแบบไหน แต่พอมาถึงบ้านตัวเอง ขั้นตอนพวกนั้นหายไปหมดเลย เรียกได้ว่ามายืนชี้กันหน้างานด้วยความชะล่าใจ (หัวเราะ) อาจจะมีผิดแผนตามน้ำไปบ้าง แต่ก็ถือว่าออกมาได้เสร็จสมบูรณ์ตามที่คิดไว้”


ถึงจะไม่ใช่บ้านหลังใหญ่หรูหรา แต่พวกเราสามารถรับรู้ได้ถึงความรัก ความอบอุ่นที่เจ้าของบ้านมีให้กัน ได้ลงมือออกแบบต่อเติมบ้านของตัวเอง ได้เลือกกระเบื้อง เลือกชุดครัว จัดวางของแต่งบ้านแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง บ้านจะหลังเล็ก หลังใหญ่ไม่สำคัญ ขอแค่เป็นบ้านที่อบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะที่มีให้กันก็พอ
เจ้าของ : คุณหญิงเดียว-นันทิชา วัฒนะสิมากร และ คุณปอนด์-ชาติวุฒิ เจิมธเนศ
ออกแบบ : คุณชาติวุฒิ เจิมธเนศ Goal Interior Design Studio
เรื่อง ; jOhe
ภาพ ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
บ้านไม้หลังเล็ก กลางร่องสวนเก่า
6 บ้านหลังเล็กไซส์กำลังดี จัดสรรพื้นที่ให้ทุกตารางนิ้วเป็นพื้นที่ความสุข