ทำไมสุนัขบางพันธุ์ถึงอินดี้มากกว่าพันธุ์อื่น

เคยสงสัยบ้างไหมครับว่าทำไมสุนัขบางตัว ถึงทำบางพฤติกรรมแตกต่างไปจากตัวอื่น หรือทำไมสุนัขบางพันธุ์ถึงมีพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ

เช่น ทำไม Golden Retriever ส่วนใหญ่ถึงเป็นมิตร และชอบให้มนุษย์สัมผัสตัว ทำไม Shetland Sheepdog ส่วนใหญ่ถึงมีความสุขในการทำตามคำสั่งของเจ้าของ ในขณะพวกไทยหลังอาน Siberian Husky หรือพวก Shiba Inu ส่วนใหญ่ถึงเป็น สุนัขอินดี้ สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองโดยไม่มีมนุษย์ก็ดูมีความสุขดี

** คำว่า “อินดี้” (อังกฤษ: Indy หรือ Indies) เป็นรูปย่อของคำว่า Independence ซึ่งแปลว่า “ความเป็นอิสระจากอิทธิพลของผู้อื่น”

ผมเองก็เคยสงสัยครับ เมื่อสงสัย ทางออกก็คือการหาข้อมูลมา เพื่อทั้งเป็นความรู้ให้แก่ตัวเอง เพื่อนำมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้ทราบกันด้วย ปรากฏว่า เคยมีการทำวิจัยเพื่อศึกษาเรื่องเหล่านี้ครับ โดยภาควิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เขาทำการทดลองโดยการวิเคราะห์แผนภาพวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของสุนัขร่วมกับแบบสอบถาม เพื่อการวิจัยและการประเมินพฤติกรรมสุนัข โดยใช้ตัวอย่างจากการสอบถามเจ้าของสุนัข 2,951 ท่านในประเทศญี่ปุ่น และอีก 10,389 ท่านในสหรัฐอเมริกา

ซึ่งผลลัพธ์แบบสอบถามให้ข้อมูลว่า ในสุนัขกลุ่มสายพันธุ์ดั้งเดิม และกลุ่มสปิทซ์ (เช่น พวกพันธุ์ไทยหลังอาน ชาร์เป่ย บาเซ็นจิ ชิบะอินุ อาคิตะอินุ ไซบีเรียนฮัสกี้ ฯลฯ อะไรพวกนี้แหละครับ) จะได้คะแนนในเรื่องการมีความผูกพันกับมนุษย์ต่ำ ซึ่งจะคล้ายกับนิสัยของสุนัขป่ามากกว่า ที่สามารถทำอะไรได้เองและมีความคิดเป็นของตัวเอง ตรงนี้จะแตกต่างจากกลุ่มสุนัขสายพันธุ์อื่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากยุโรป (เช่นพวกกลุ่มใช้งาน กลุ่มเทอร์เรีย หรือกลุ่มตุ๊กตา ฯลฯ) ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าพัฒนาขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ใด ทำให้พวกนี้จะมีแนวโน้มที่จะมานั่งใกล้มนุษย์หรือเดินตามมนุษย์ไปไหนมาไหนมากกว่า

และเมื่อวิเคราะห์จากแผนภาพวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของสุนัข ก็ให้เหตุผลเพิ่มเติมไว้ครับว่า สุนัขทุกตัวบนโลกนี้ วิวัฒนาการมาจากสุนัขป่าโบราณ ซึ่งสายของการวิวัฒนาการมีดังนี้

สายที่ 1 ก็วิวัฒนาการมาเป็นสุนัขป่าในปัจจุบัน
สายที่ 2 ก็วิวัฒนาการโดยการเข้าสู่มนุษย์ และโดนคัดเลือกในขั้นตอนแรก คือคัดเฉพาะตัวที่เชื่อง ไม่ดุร้ายหรือขี้กลัวเท่ากับสุนัขป่าทั่วไป พวกนี้ก็อยู่ร่วมกับมนุษย์ และมนุษย์ก็นำมาพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปจนวิวัฒนาการมาเป็น

– พวกสายพันธุ์ดั้งเดิม (ทางแถบแอฟริกาก็พัฒนาไปเป็นพวกบาเซ็นจิ ทางเอเชียตะวันออกของเราก็พัฒนามาเป็นไทยหลังอาน ไทยบางแก้ว ชิบะอินุ อาคิตะอินุ สุนัขไต้หวัน หรือทางตะวันออกกลางก็พัฒนาไปเป็นพวกอัฟกันฮาวนด์ หรือซาลูกิ และทางประเทศแถบเหนือก็พัฒนาไปเป็นพวกไซบีเรียนฮัสกี้ หรือมาลามูท ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้นครับ) ซึ่งตรงนี้ถือเป็นวิวัฒนาการในขั้นตอนแรก และพวกสายพันธุ์ดั้งเดิมก็วิวัฒนาการมาโดยอยู่บนหลักของขั้นตอนแรกนี้เท่านั้น

– ในขณะที่พวกสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในแถบยุโรปหรือเอเชียในภายหลัง จะมีการพัฒนาสายพันธุ์อีกขั้นตอนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา นั่นคือนอกจากจะเชื่องและไม่ดุร้ายแล้ว ก็ได้มีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยต้อนแกะ ช่วยเก็บนก ช่วยล่าสุนัขจิ้งจอก ฯลฯ สุนัขเหล่านี้จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยนอกจากจะมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ดุร้ายหรือขี้กลัวแล้ว ก็ยังต้องชอบที่อยู่ใกล้มนุษย์ ทำกิจกรรมร่วมกับมนุษย์ครับ

นี่คงพอจะให้คำตอบได้นะครับว่าทำไมพวกกลุ่มสายพันธุ์ดั้งเดิม และกลุ่มสปิทซ์ หรือพวกสุนัขล่าเนื้อที่ใช้สายตา ถึงค่อนข้างอินดี้กับเจ้าของ มีความเป็นตัวของตัวเอง และแนวทางการฝึกหรือรางวัลบางอย่างที่ได้ผลกับพวกสุนัขใช้งานบางอย่างจึงไม่ค่อยได้ผลดีกับสุนัขในกลุ่มนี้ (คำถามนี้ผมได้รับฟังและได้ประสบเจอมาตั้งแต่เริ่มรับฝึกสุนัขให้คนอื่น รวมทั้งตั้งแต่ได้ลองฝึกเจ้าปืนผา ไทยหลังอานของตัวเอง) นั่นก็เพราะเขามีความเป็นสุนัขดั้งเดิมที่มีสัญชาติญาณเดิม ๆ หรือที่ผมเรียกว่า “ความป่า” อยู่ในตัวมากกว่านั่นเองครับ (รวมไปถึงความขี้กลัวหรือขี้ระแวงในบางอย่างที่มักมีมากกว่าพวกสายพันธุ์ปกติอื่น ๆ ด้วย)

หรือถ้าใครเคยดูสารคดีที่เขาเอาสุนัขป่าที่เชื่องแล้ว (เกิดและโตในที่กักขัง) มาลองแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ของกินที่ถูกซ่อนไว้ จะเห็นเลยครับว่า สุนัขป่าจะพยายามด้วยตัวเองในทุกวิธีจนกว่าจะเอาของกินออกมาให้ได้ โดยไม่สนใจมนุษย์ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ เลย ในขณะที่สุนัขพวกสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทำงานร่วมกับมนุษย์ พอพยายามเอาออกมาในระดับหนึ่งแล้วทำไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะหยุดแล้วหันมามองมนุษย์ เพื่อขอความช่วยเหลือครับ ตรงนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างที่พอเอามาเปรียบเทียบกับการทดลองข้างต้นได้ แม้พวกสายพันธุ์ดั้งเดิมจะไม่อินดี้เท่าสุนัขป่าของจริง แต่ก็ยังมีความคิดในการทำอะไรด้วยตัวเองมากกว่าพวกสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาภายหลังครับ

แต่ทั้งนี้ ผู้อ่านท่านใดที่เลี้ยงสุนัขในกลุ่ม “อินดี้” เหล่านี้ก็อย่ายอมแพ้ หรือเอาบทความวิจัยนี้มาเป็นข้ออ้างในการยอมรับและไม่ฝึกหรือสอนสุนัขของตัวเองนะครับ เราศึกษาเพื่อให้รู้ว่า ทำไมสุนัขของเราถึงเป็นแบบนี้ก็พอครับ อย่างไรเสีย จะกลุ่มสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือกลุ่มที่พัฒนาขึ้นมาภายหลัง เขาก็ยังเป็นสุนัขบ้านครับ ยังอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานของการฝึกสัตว์ครับ นั่นคือ “ถ้าสัตว์รู้สึกว่าพฤติกรรมใดที่ทำแล้วคุ้ม เขาก็จะทำพฤติกรรมนั้นบ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น” ดังนั้น ถ้าหา “จุดคุ้ม” ของสุนัขของคุณที่อยากทำพฤติกรรมที่คุณต้องการได้ สุนัขของคุณไม่ว่าจะพันธุ์อะไร ก็สามารถเป็นสุนัขที่รู้เรื่อง น่ารัก และเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ดีได้ครับ

 

บทความโดย

นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ (ครูนล)
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ฝึกสอนชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Dog Class