Moonler เล่าเรื่องงานคราฟต์เชียงใหม่ผ่านเฟอร์นิเจอร์ไม้จามจุรี

คอลเล็กชั่นเฟอร์นิเจอร์ไม้จามจุรีจากแบรนด์ไทย Moonler นำเสนออีกมิติของงานคราฟต์ บอกเล่าเรื่องราวของผืนป่าอันอุดม และวิถีช่างไม้ของเชียงใหม่ พลิกภาพจำงานหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความเป็นไปได้ใหม่ภายใต้รูปลักษณ์ความงามอันเป็นสากล และตอบรับกับวิถีชีวิตร่วมสมัย

Moonler เปิดตัวมายาวนานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ จากจุดเริ่มต้นในปี 2008 ที่ความหลงใหลในงานไม้ของคุณภูวนาถ ดำรงพร และหุ้นส่วนได้ทำให้เกิดเวิร์กช็อปเฟอร์นิเจอร์ไม้จามจุรีเล็กๆ ย่านบ้านถวายในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนองานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่แตกต่างจากในท้องตลาดทั้งในด้านคุณภาพ และรูปลักษณ์ การเติบโตและขยับขยายหลายต่อหลายครั้งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พาให้วันนี้มูนเลอร์กลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ในดอยสะเก็ด ที่ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบหัตถอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ผสมผสานงานฝีมือที่โดดเด่น และคุณภาพในแบบอุตสาหกรรม ไปพร้อม ๆ กับสั่งสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับหลากหลายนักออกแบบทั้งไทย และต่างประเทศ

เมื่อ 3 ปีก่อน คุณรัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ นักออกแบบผลิตภัณฑ์มือรางวัล ได้เข้ามารับหน้าที่ดีไซน์ไดเร็กเตอร์คนล่าสุด เขารู้จักกับมูนเลอร์ผ่านโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักออกแบบโครงการหนึ่งของภาครัฐ และในช่วงนั้นเอง พวกเขาร่วมมือกันสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นใหม่ขึ้น 10 ชิ้น เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ “10 Years Moonler” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของมูนเลอร์ ยุคแห่งการรีแบรนด์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวงานคราฟต์จากเชียงใหม่ในอีกมิติที่ต่างออกไป พร้อมๆ กับการออกสำรวจเส้นทางใหม่ในโลกการออกแบบ ที่ดีไซน์ไดเร็กเตอร์คนใหม่นี้จะพามูนเลอร์ไป

Moonler
งานนิทรรศการ 10 Years Moonler

วัตถุดิบหลักของมูนเลอร์คือ ไม้จามจุรีหรือฉำฉา ซึ่งเนื้อไม้มีสีสัน ลวดลายสวยงามคล้ายไม้วอลนัท แข็งแรง ดัดงอได้ดี หลายพื้นที่จึงนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ทดแทนเมื่อไม้สักหายากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยความที่เป็นไม้ท้องถิ่น จึงไม่มีการทำอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ ผ่านการอบดูแลเนื้อไม้ตามมาตรฐาน เราจึงมักไม่พบไม้จามจุรีแปรรูปเหมือนไม้นำเข้าชนิดอื่นอย่าง ไม้โอ๊ก ไม้แอชหรือไม้บีช และเมื่อกลายเป็นวัตถุดิบเฟอร์นิเจอร์ในชุมชนช่างทั่วไป จึงพบปัญหาไม้บิดตัว เนื้อไม้มีรอยปลวกหรือมอด ไม่ได้คุณภาพอย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้จากอุตสาหกรรมทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การใช้ไม้ท้องถิ่นที่มีขนาดหน้ากว้างของไม้ให้เลือกได้ไม่จำกัด แทนการใช้ไม้แปรรูปที่มีหน้ากว้างมาตรฐานแบบโรงงานเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปกลายเป็นข้อได้เปรียบ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ และความเป็นไปได้ใหม่ในการสร้างสรรค์งานออกแบบ ยิ่งเมื่อผสานกับงานฝีมือของช่างไม้ไทย จึงกลายเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้เป็นอย่างดี

ถึงวันนี้ มูนเลอร์ยังคงมุ่งหน้าทำงานร่วมกับนักออกแบบใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิดของงานออกแบบร่วมสมัย บอกเล่าความเป็นไทยที่ไม่ใช่แค่เรื่องของรูปทรง หรือภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ชาวโลกคุ้นตา แต่คืองานคราฟต์ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือคนไทย ซึ่งมีเสน่ห์เฉพาะตัว และมีความพิเศษบางอย่างที่ผู้ใช้งานจะสามารถสัมผัสได้อย่างแน่นอน

“งานคราฟต์ในเชียงใหม่มีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานประเภท ODM คือรับผลิตให้แบรนด์อื่น จริงๆ มีต่างชาติมาซื้อของจากเชียงใหม่ไปขายต่อในยุโรปในอเมริกาเยอะมาก แต่ก็ไม่เคยเคลมว่าเป็นงานคราฟต์ของไทย แต่ตัวผมเองก็ไม่ได้เชื่อว่างานหัตถกรรมไทยต้องมีรูปแบบไทยๆ เท่านั้น ผมว่าแค่มันได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือคนไทยก็พิเศษแล้ว” – รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ

Moonler
PANNA โดย รัฐธีร์ โต๊ะไม้ที่โดดเด่นด้วยท็อปโต๊ะ ซึ่งเกิดจากการพลิกด้านปีกไม้กลับเข้ามาชนกันด้านใน เกิดรอยแยกคล้ายร่องหิน กลายเป็นฟังก์ชั่นสำหรับร้อยสายไฟได้ในตัว โครงสร้างโต๊ะหนักแน่น เรียบง่าย ถอดประกอบได้
Moonler
PHAKA โดย รัฐธีร์ เก้าอี้ไม้ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการค้นหาสัดส่วนที่ลงตัวสำหรับทั้งความงามทางสายตา และความสบายในการใช้งาน พร้อมบอกเล่าความเป็นมูนเลอร์ยุคใหม่ ด้วยโครงสร้างเรียบง่าย เชื่อมกับพนักพิง และที่นั่งไม้แผ่นใหญ่ผ่านการขัดเกลาให้โค้งเว้าแบบไร้รอยต่อ สะท้อนให้เห็นถึงรายละเอียดที่แตกต่าง อันเป็นข้อได้เปรียบของการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบไม้

Moonler
PEBBLE โดย Atelier2+ เก้าอี้ไม้สามขาที่ดูคล้ายการวางอิงก้อนหินให้เกิดเป็นโครงสร้าง งานชิ้นนี้เกิดจากฝีมือและสัญชาตญาณของช่างชั้นครู ที่นักออกแบบเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์โดยไร้แบบแผนที่ชัดเจน จนกลายเป็นชิ้นงานที่สะท้อนความเป็นหัตถกรรมอย่างสุดโต่ง
Moonler
DARAKORN โดย รัฐธีร์ ผลงานชิ้นแรกที่รัฐธีร์ออกแบบให้ Moonler ชั้นวางของที่ตั้งใจเชิดชูความงามของวัสดุเนื้อไม้ โครงสร้างของชั้นเปรียบเสมือนกรอบภาพที่ขับเน้นปีกไม้แผ่นใหญ่ให้โดดเด่น และแผ่นไม้เองก็กลายเป็นแกนกลางของโครงสร้างที่หลุดออกจากเส้นตั้งฉากแบบชั้นวางของทั่วไป

Moonler
MESA โดย รัฐธีร์ โต๊ะกลางที่เกิดจากความตั้งใจสร้างสรรค์ประติมากรรมที่มีฟังก์ชั่น หรืองานศิลปะที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย แผ่นไม้ที่ประกอบขึ้นเป็นโต๊ะในรูปทรงอสมมาตร นำเสนอความงามที่หลุดพ้นจากกรอบขนบ สื่อถึงความไม่สมบูรณ์แบบของธรรมชาติ ทั้งยังช่วยให้เกิดการใช้งานที่ยืดหยุ่นอีกด้วย
Moonler
SALMON โดย o-d-a ม้านั่งที่เกิดจากการเลื่อยตัดซุง 1 ท่อนให้กลายเป็นส่วนที่นั่ง 2 ชิ้น และส่วนขาอีก 8 ชิ้น แนวคิดเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนของรูปทรงสมมาตร แต่โดดเด่นด้วยความชำนาญอันแม่นยำคือหัวใจที่สะท้อนความงามของเนื้อไม้ เส้นสายของลายไม้ สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือของช่าง ไม่ต่างจากการใช้มีดแล่ปลาของเชฟซูชิผู้เชี่ยวชาญ

ปัจจุบัน นอกจากโรงงานหลักที่เชียงใหม่ มูนเลอร์มีโชว์รูมที่ภูเก็ต และกำลังจะเปิดโชว์รูมที่กรุงเทพฯ เพิ่มอีกแห่งเร็ว ๆ นี้ ติดตามชมผลงานอื่นๆ ในคอลเล็คชั่นล่าสุดได้ที่ www.moonler.com

—-

ภาพ: Moonler
เรื่อง: MNSD

ติดต่อ:
Chiang Mai Factory & Showroom
51 หมู่1 ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
โทร. 09-6556-3978 , 08-1791-9661

Phuket Showroom
Bypass Biz Town 156/65 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
โทร. 09-5392-6942
อีเมล: [email protected]