การผลิตพืชผักและผลไม้เพื่อส่งออก ตอนที่ 1 : การขอมาตรฐานสินค้าเกษตร

สำหรับเกษตรกรที่ทำธุรกิจเกษตรมาแล้วระยะหนึ่งอาจจะเริ่มมองหาช่องทางการผลิตสินค้าให้ได้ มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร อาจจะเพื่อส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นต้น

ซึ่งการขอรับรอง มาตรฐานสินค้าเกษตร มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สินค้านั้นมีคุณภาพเหมาะสมกับการความต้องการเฉพาะตามข้อกำหนดในมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับมาตรฐานพืชผักผลไม้มีหลากหลายแบบครับ ไม่ว่าจะเป็น GAP, GLOBAL G.A.P, ORGANIC EU, GMP, HACCP, BRC, EL, CM ผู้อ่านคงเริ่มมีคำถาม เกี่ยวกับชื่อย่อ มาตรฐานต่างๆ ที่กล่าวไปเหล่านี้และทำไมถึงต้องทำ ซึ่งในบทความนี้ผมจะมาเล่าให้ผู้สนใจทำธุรกิจส่งออกผักผลไม้สดได้เข้าใจกัน

มาตรฐานสินค้าเกษตร

กลุ่มมาตรฐาน แหล่งผลิตพืช

GAP (GOOD AGRICULTURAL PRACTICES)

คือมาตรฐานสำหรับการส่งออกผักผลไม้สดซึ่งจำเป็นจะต้องขอการรับรอง GAP พืชอาหาร ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับสำหรับการส่งออกในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ข้อกำหนดมาตรฐานจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพ ความปลอดภัยสินค้า การสอบกลับ สุขอนามัยในแปลง การจดบันทึกเป็นต้น ซึ่งผู้ต้องการใบรับรอง สามารถติดต่อได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ในแต่ละท้องที่ ค้นหาข้อมูลติดต่อสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ได้ที่เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร https://www.doa.go.th/th/

GLOBAL G.A.P.

มาตรฐานของกลุ่มห้างค้าปลีกที่เป็นสมาชิกของ GLOBAL G.A.P. สามารถดูรายชื่อ ห้างค้าปลีกที่เป็นสมาชิกและที่ปรึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานประจำประเทศไทย ได้ใน  www.globalgap.org  มาตรฐานนี้ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ เป็นความสมัครใจระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย จะตกลงกัน GLOBAL G.A.P. เป็นมาตรฐานการรับรองแหล่งผลิตพืชอาหาร ที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก มีข้อกำหนด คล้ายกับ GAP ของกรมวิชาการเกษตร

เนื่องจาก GAP ของกรมวิชาการเกษตร ได้นำข้อกำหนดใน GLOBAL G.A.P. มาใช้ แต่ GLOBAL G.A.P. จะมีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติมากกว่า ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ไม่ถนัดการจัดทำระบบเอกสาร มาตรฐานนี้สามารถขอการรับรองได้จากหน่วยงานเอกชน ที่เรียกว่าหน่วยตรวจรับรอง ซึ่งสามารถดูรายชื่อ หน่วยตรวจรับรองที่ได้รับอนุญาตได้ใน เว็บไซต์ GLOBAL G.A.P. เช่นเดียวกัน

มาตรฐานสินค้าเกษตร

ORGANIC

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นมาตรฐานรับรองแหล่งผลิตพืชที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี นอกจากไม่ใช้สารเคมีแล้ว เมล็ดพันธุ์ต้องไม่มีการคลุกสารเคมี หรือมาจากกระบวนการปลูกที่ใช้สารเคมี และมีระยะปรับเปลี่ยนจากการปลูกแบบใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้สารเคมีในแปลงปลูกสลายตัวไปในระดับที่ปลอดภัย จึงจะได้รับการรับรอง ซึ่งผู้ปลูกต้องเลือกขอการรับรองตามตลาดที่สนใจ เช่น ตลาดในประเทศสามารถขอมาตรฐาน ORGANIC THAILAND ก็เพียงพอ

หากต้องการส่งตลาด EU ต้องขอเป็นรับรองมาตรฐาน ORGANIC EU ซึ่งสามารถขอรับบริการฝึกอบรมและตรวจรับรองได้จากหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท ECOCERT บริษัท BIOAGRICERT ซึ่งหากต้องการส่งสินค้า ORGANIC ไปต่างประเทศ โรงคัดบรรจุต้องขอการตรวจรับรองมาตรฐานด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าในกระบวนการคัดบรรจุจะไม่มีการปะปนกันระหว่างพืชที่ได้รับรองและไม่ได้รับการรับรอง รวมถึงในกระบวนการคัดบรรจุ พืช ORGANIC ต้องไม่สัมผัสสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้

มาตรฐานสินค้าเกษตร

ไม่ว่าผู้ปลูกจะส่งสินค้าไปยังประเทศไหน ควรต้องขอการรับรองมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนเป็นพื้นฐาน เนื่องจากทำง่ายและเป็นมาตรฐานบังคับในการส่งออกตามกฎระเบียบของ กรมวิชาการเกษตร ในหลายกลุ่มประเทศ หลังจากนั้นจึงพิจารณาขอการรับรองตามลักษณะการปลูก หรือความต้องการของลูกค้าปลายทาง ในตอนต่อไป ผมจะมาพูดถึงมาตรฐานสำคัญที่โรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออกต้องมีครับ

คุณดนุพล แสงไชย เป็นที่ปรึกษาวางระบบคุณภาพสำหรับธุรกิจส่งออกผักผลไม้สด ทั้งในฟาร์มและโรงคัดบรรจุ เช่น ระบบ GAP, GLOBAL G.A.P, ORGANIC EU, GMP, HACCP, BRC, EL, CM มีลูกค้าใช้บริการงานที่ปรึกษาวางระบบคุณภาพ ทั้งสวนและโรงคัดบรรจุ จนถึงปัจจุบัน 13 บริษัท ซึ่งมีทั้งบริษัทที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ จนถึงบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกมาแล้วมากกว่า 10 ปี ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักผลไม้สดใน ตรา คิววีเอฟ จำหน่ายสินค้าไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเป็นที่ปรึกษามาตรฐาน GLOBAL G.A.P. รายแรกของประเทศ E-mail : [email protected]

เรื่อง : ดนุพล แสงไชย

ภาพ : ดนุพล แสงไชย / คลังภาพบ้านและสวน

วิธีแยกเพศมะละกอ และช่วงเวลาเก็บผลที่ทานอร่อย

มาสวมบท “หมอพืช” ตรวจสุขภาพผักและทำความรู้จัก“โรคพืช”