ภาวะเส้นเลือดรัดหลอดอาหาร (Persistent right aortic arch : PRAA)

ภาวะเส้นเลือดรัดหลอดอาหาร Persistent right aortic arch (PRAA) หรือ Vascular ring anomaly เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่เส้นหนึ่งบริเวณหัวใจ

โดยตามปกติแล้ว เส้นเลือดเส้นนี้ควรจะหายไปเมื่อสัตว์โตขึ้น หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือด Right subclavian artery ซึ่งความผิดปกติทั้ง 2 แบบ จะทำให้เส้นเลือดแดงอ้อมไปรัดบริเวณหลอดอาหาร (Esophagus) เป็นลักษณะวงแหวน (Complete ring around) และมีโอกาสพบมากในลูกสุนัขที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนมากถึง 90% โดยเฉพาะสายพันธุ์ บอสตัน เทอร์เรีย (Boston Terriers), เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherds), ไอริช เซตเทอร์ (Irish Setter) และ เกรทเดน (Great Dane)

การพัฒนาในระยะตัวอ่อน ส่วนโค้งเส้นเลือดแดงเอออร์ต้าด้านขวา (Right aortic arch) มีการเจริญผิดปกติ โดยมีการพัฒนาไปเป็นเส้นเลือดแดงหลัก แล้วทำให้เส้นเลือดแดงด้านซ้าย (Left aortic arch) ฝ่อไป กลายเป็นผังผืด อ้อมไปรัดบริเวณหลอดอาหาร  หรือเกิดการเจริญของแขนงเส้นเลือดแดงผิดปกติ เช่น การเจริญอยู่ผิดตำแหน่ง ทำให้ไปกดบริเวณหลอดอาหาร อาหารจึงไม่สามารถผ่านไปยังกระเพาะอาหารได้ (พบปัญหานี้ประมาณ 95% ของสัตว์ที่เกิดความผิดปกติ) ส่งผลให้สัตว์ไม่สามารถกินอาหารได้เป็นปกติ แต่ยังสามารถดื่มนม หรือน้ำได้  ซึ่งหากมีอาหารค้างบริเวณหลอดอาหารปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่ (Megaesophagus) และจะมีการสำรอกอาหารออกมาทุกครั้งหลังกินอาหาร สามารถเสียชีวิตได้ จากภาวะสำลักอาหารเข้าปอด

ในช่วงแรกเกิดอาหารของลูกสัตว์มาจากนมของแม่สุนัขหรือแม่แมว ทำให้ไม่แสดงอาการความผิดปกติของสัตว์ขึ้น ซึ่งเมื่อลูกสุนัขหรือลูกแมวได้เริ่มกินอาหารกึ่งแข็ง หรืออาหารแข็ง จะเป็นช่วงที่สามารถพบอาการความผิดปกติจากการตีบแคบที่บริเวณหลอดอาหาร และสำรอกออกมาหลังกินอาหารไประยะหนึ่ง

ภาวะเส้นเลือดรัดหลอดอาหาร
ซ้าย : แสดงถึงภาวะปกติ // ขวา : แสดงถึงความผิดปกติของเส้นเลือดแดงบริเวณหัวใจ (ขอบคุณภาพจาก : veteriankey.com)

อาการแสดงของโรคที่พบ

การเกิดความผิดปกติ Persistent right aortic arch (PRAA) หรือ Vascular ring anomaly พบมากที่สุดโดยทั่วไปในลูกสุนัขเพราะจะแสดงอาการผิดปกติครั้งแรกเมื่อเริ่มมีการกินอาหารครั้งแรก หรือในบางกรณีอาจแสดงอาการครั้งแรกเมื่อผ่านไปแล้วถึง 1 ปี ซึ่งอาการแสดงของความผิดปกตินี้ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
– การสำรอกอาหารในลักษณะอาหารไม่ถูกย่อย พบได้หลังจากกินอาหารอย่างน้อย 1 นาที ไปจนถึงหลายชั่วโมง
– แสดงอาการหิวตลอดเวลา แม้จะกินอาหารไปแล้ว
– ร่างกายผอมแห้ง และขาดสารอาหาร
– การเจริญเติบโตช้า หรือแคะเกรน (Stunted growth)
– ปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลักอาหารเข้าในทางเดินหายใจ (Aspiration pneumonia) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการสำรอกอาหาร ทำให้สัตว์หายใจลำบาก ไอ รวมถึงทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วมากขึ้น

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยที่สมบูรณ์สำหรับสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยด้วยปัญหา ภาวะเส้นเลือดรัดหลอดอาหาร หรือ Persistent right aortic arch (PRAA) หรือ Vascular ring anomaly ประกอบด้วย

  • การซักประวัติเบื้องต้น (History taking) เป็นสิ่งสำคัญเพื่อแยกระหว่างการสำรอกหรืออาเจียน ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยการสำรอก เป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปหากเกิดความผิดปกตินี้ ส่วนมากจะพบตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข โดยอาหารที่ออกมาจะมีลักษณะยังไม่ถูกย่อย หรือยังไม่ลงไปถึงกระเพาะอาหาร และมักจะสำรอกออกมาหลังกินอาหารไม่ถึง 1 ชั่วโมง ส่วนการอาเจียน คือการที่อาหารลงไปยังกระเพาะอาหารแล้ว และทำการขย้อนอาหารออกมา
  • ตรวจโลหิตวิทยา (Hematology) ได้แก่ Complete Blood Count (CBC), และ Serum Chemistry หากเกิดความผิดปกตินี้จะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ และ/หรือ ปริมาณจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง (ในกรณีสัตว์ติดเชื้อโรค)
  • อุลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคออกจากปัญหาโรคหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิดชนิดอื่น
  • การฉายรังสีเอกซเรย์บริเวณทรวงอก (Chest X-ray) โดยจะให้สัตว์กลืนแป้งแบเรียมซัลเฟต (BariumSulfate) ซึ่งมีสารแบเรียม (Barium) เป็นส่วนประกอบก่อนจะทำการฉายรังสีเอกซเรย์ เป็นลักษณะผงสีขาวคล้ายแป้ง ไม่ถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร และสามารถขับถ่ายออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระได้ เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการอุดตัน และการบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจากความผิดปกตินี้จะแสดงให้เห็นถึงการเกิดหลอดอาหารตีบแคบได้
  • การใช้กล้องส่องตรวจหลอดอาหาร ( endoscopy) ทำให้เห็นถึงการเกิดภาวะหลอดอาหารตีบแคบ
  • การใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ (Fluoroscopy) ตรวจดูความผิดปกติของหลอดอาหาร สามารถแสดงภาพได้อย่างชัดเจน
  • การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด (Angiography หรือ Venography) คือการเอกซเรย์ดูเส้นเลือดแดงว่ามีความผิดปกติในบริเวณใด โดยใช้สายสวนใส่เข้าไปในเส้นเลือด และใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าไปในเส้นเลือดแดงเพื่อให้เห็นภาพเส้นเลือดแดงที่ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น
  • การใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ (3D computed tomography (CT) scan) จุดประสงค์หลักเพื่อเตรียมการวางแผนผ่าตัด

การรักษา

หากสัตว์มาด้วยภาวะ Aspiration pneumonia เป็นภาวะที่จำเป็นต้องทำการรักษาทันที โดยให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) และให้ออกซิเจน (Oxygen nebulizer) เพื่อป้องกันสัตว์เกิดอันตรายจนถึงเสียชีวิต

การผ่าตัดแก้ไขหลอดอาหารตีบแคบจากการถูกรัดของเส้นเลือดแดงจากหัวใจ ควรทำการผ่าตัดทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยโรค เพื่อป้องกันสัตว์ไม่เจริญเติบโตในอนาคต โดยในช่วงอายุสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดมากที่สุดจะอยู่ในช่วง 2-6 เดือน หากทำการผ่าตัดเมื่อสัตว์อายุน้อยกว่า 2 เดือนจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการวางยาสลบ และการผ่าตัด โดยการผ่าตัดมี 2 แบบ ได้แก่ การผ่าตัดเปิดช่องงอก (Classic Thoracotomy) และ การผ่าตัดบริเวณอกโดยใช้กล้องส่อง (Thoracoscopy) เป็นวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS)

ในประเทศไทยขณะนี้ยังนิยมการผ่าตัดโดยการเปิดช่องอกมากกว่าการส่องกล้อง การเตรียมตัวสัตว์ก่อนจะทำการผ่าตัด จำเป็นต้องให้สารอาหารแบบเหลวและมีปริมาณแคลอรี่สูงกับสัตว์ หลังจากนั้นให้สัตว์นั่งตรงเพื่อให้อาหารลงไปยังกระเพาะอาหารตามหลักแรงโน้มถ่วง โดยในวันที่ทำการผ่าตัด เริ่มด้วยการให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ (Intravenous fluid therapy) หากลูกสัตว์มีอาการอ่อนเพลียหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรให้น้ำเกลือที่มีน้ำตาลกลูโคสร่วมด้วย

การผ่าตัดจะเริ่มทางด้านซ้ายตรงระหว่างกระดูกซี่โครงที่ 4 และ 5 บริเวณทรวงอก เมื่อเปิดไปจะเจอเยื่อหุ้ม mediastinum หุ้มหลอดอาหารอยู่ โดยต้องทำการตัดเยื่อหุ้มนี้ตามแนวยาวของหลอดอาหาร แต่การตัดเยื่อหุ้มนี้ควรระวังเป็นอย่างมาก เพราะมีเส้นประสาทอยู่ใกล้เคียงบริเวณเยื่อหุ้ม 3 เส้น ได้แก่ Phrenic nerve, Vagus nerve, และ Recurrent laryngeal nerve

เมื่อทำการตัดเปิดเยื่อหุ้มแล้ว จะพบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Fibrous tissue) ของหลอดอาหารที่ทำให้หลอดอาหารเกิดการตีบแคบให้ทำการตัดออก และนำท่อเข้าผ่านทางปากลงมายังหลอดอาหาร เพื่อตรวจสอบการลอดผ่านของหลอดอาหาร หากสามารถลอดผ่านได้ปกติให้ทำการเย็บปิดแผลตามปกติ

หากผ่าตัดไม่สำเร็จ หรือไม่ได้รับการผ่าตัด เช่น สัตว์อายุมาก ทำให้ต้องป้อนอาหารในท่าทางคอตรงให้หลอดอาหารเป็นแนวตรงยาวเพื่อให้อาหารลงไปยังกระเพาะอาหารได้ ซึ่งอาหารที่ให้ควรเป็นของเหลว เพื่อลดโอกาสการสำรอกอาหารออกมา หรือสามารถใช้วิธีการใส่สายให้อาหารทางหน้าท้อง (Gastric feeding tube) ทดแทน เพื่อให้ได้รับสารอาหารไปยังกระเพาะอาหารโดยตรง ไม่ผ่านหลอดอาหาร จัดเป็นวิธีสุดท้ายที่จะทำในการแก้ไขปัญหาความผิดปกตินี้หากผ่าตัดไม่สำเร็จ หรือทำการผ่าตัดไม่ได้ ช่วยทำให้สัตว์สามารถมีอายุยืนยาวได้

การดูแลหลังการผ่าตัด และผลจากการผ่าตัด

หลังจากที่สัตว์ได้รับการรักษาจากการผ่าตัด จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงสามารถแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดได้ทันทีโดยให้ยาระงับความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำอย่างน้อย 2-3 คืน หรือมากกว่านั้นหากอาการของสัตว์ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงจะมีการใส่สายระบายทรวงอก (Chest tube) เพื่อนำของเหลว และอากาศออกจากบริเวณทรวงอก ซึ่งจะถูกนำออกหลังจากผ่านไปแล้ว 12-24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด สามารถให้ยาชาเฉพาะที่ได้หากสัตว์แสดงอาการเจ็บปวดบริเวณทรวงอก
หากสัตว์ได้รับการพยากรณ์โรคอย่างแม่นยำจากสัตวแพทย์ จะมีโอกาสมากกว่า 90% ที่สัตว์ได้รับการผ่าตัดสำเร็จ และไม่มีอาการสำรอกขึ้นอีก
เมื่อสัตว์มีอาการคงที่สามารถกินน้ำและกินอาหารเองได้ เจ้าของสามารถพากลับบ้านได้ และห้ามให้สัตว์ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 สัปดาห์ รวมถึงให้อาหารเหลวแทนอาหารเม็ดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้อาหารที่มีความนิ่ม หรืออาหารเม็ดผสมน้ำ ซึ่งการกินอาหารบางครั้งในช่วงแรกสามารถพบการเกิดสำรอกอาหารออกมาได้ และสามารถเปลี่ยนเป็นให้อาหารเม็ดได้ก็ต่อเมื่อสัตว์ไม่มีอาการสำรอกแล้ว

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

น.สพ. วิจิตร สุทธิประภา (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wichit Sutiprapa, DVM, MS, DTBVS
หน่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Surgery Unit, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่