ระดับความดุของสุนัข !! ที่คุณต้องรู้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

การเจอสุนัข “ดุ” นั้น เรามักเจอหรือประสบกันมาทุกท่าน แต่ ระดับความดุของสุนัข นั้น อยู่ในระดับไหน เรามาเรียนรู้กันครับ เผื่อในอนาคต ท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เจอสุนัข “ดุ” จะได้ประเมินได้ว่า สุนัขตัวนั้น “ดุ” ในระดับไหน และควรทำอย่างไรกับสุนัขตัวดังกล่าวดี

สำหรับ ระดับความดุของสุนัข บ้านและสวน Pets  สามารถแบ่งออกได้ 6 ระดับ ตามระดับความรุนแรงของการกัดโดย ดร. เอียน ดันบาร์ สัตวแพทย์นักพฤติกรรมสัตว์และครูฝึกสุนัขที่ได้รับปริญญาเอกด้านพฤติกรรมสุนัขโดยตรง ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนและปรับพฤติกรรมสุนัขมาเกือบ 40 ปี มาเผยแพร่ให้ทราบกัน

ระดับ 1 :

ระดับนี้เกิดจากความกลัว ความก้าวร้าว หรือความไม่พอใจของสุนัขต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง จนหันมากัดเรา ซึ่งในระดับนี้เป็นแค่การ “แง่ง” ใส่มากกว่า การงับลงไปบนผิว หรือฟันยังไม่ได้สัมผัสผิว

ระดับ 2 :

ระดับนี้มีการสัมผัสของฟันต่อผิวหนัง แต่มักจะเกิดเป็นเพียงรอยขีดข่วน หรืออาจเกิดเลือดซิบ ๆ เท่านั้น โดยมักเกิดจากการขยับของฟันมาบาด หรือการขยับผิวหนังหนี ทำให้เกิดการบาดของฟันต่อผิวหนัง แต่ไม่ได้เกิดรอยแผลเป็นในแนวลึกฝังลงไปในผิวหนัง

** ในระดับ 1 และ 2 นี้ มักเกิดขึ้นบ่อยที่สุดครับ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถแก้ไข หรือปรับพฤติกรรมให้กลับมาเป็นปกติได้ไม่ยาก ถ้าได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง

ระดับ 3 :

ระดับนี้ขอแบ่งออกเป็น 2 ข้อย่อย คือ

3.1 เกิดรูทะลุผิวหนังจากการกัด 1 ครั้ง แต่รูที่ทะลุผิวหนังนั้น ลึกไม่เกินครึ่งหนึ่งของความยาวของเขี้ยวสุนัข อาจเกิดการฉีกขาดของผิวหนังที่ค่อนข้างลึก แต่อาจเกิดจากการดึงอวัยวะหลบจากการกัด

3.2 เป็นการกัดแบบระดับ 3.1ที่เกิดขึ้นเกินกว่า 1 ครั้ง

** ในระดับ 3 นี้ เกิดจากความกลัวของสุนัข หรือการอาละวาดของสุนัขแบบไม่รู้จักการยับยั้งตัวเอง ระดับนี้สุนัขไม่ได้ก้าวร้าวหรืออันตรายเกินไปนัก ยังสามารถปรับพฤติกรรมกลับมาได้ถ้าได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกัน หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ไม่ดำเนินการแก้ไข ความรุนแรงของการกัดอาจมากขึ้น เมื่อสุนัขเผชิญสถานการณ์ที่ตนเองไม่ชอบ

ระดับ 4 :

เกิดรูทะลุผิวหนัง 1 ถึง 4 รูจากการกัด โดยรูในการกัดลึกกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเขี้ยวสุนัข อาจเกิดรอยช้ำรอบการกัด (มักเกิดจากการที่สุนัขกัดแล้วค้างไว้ไม่ปล่อยในทันที) รวมทั้งอาจเกิดการฉีกขาดของผิวหนังที่ลึก (มักเกิดจากการที่สุนัขกัดแล้วสะบัด)

** ในระดับ 4 นี้ สุนัขไม่รู้จักการยับยั้งความรุนแรงในการกัดของตัวเองและถือว่าเป็นสัตว์อันตราย การปรับพฤติกรรมทำได้ยาก เพราะ การสอนให้สุนัขโตเต็มวัยเรียนรู้ที่จะยับยั้งความรุนแรงในการกัดของตัวเองจะทำได้ไม่ดี รวมทั้งเมื่อเกิดพฤติกรรมเหล่านี้แล้วจะเป็นการยากในทางปฏิบัติที่เจ้าของหรือผู้ที่โดนกัดจะกล้าปฏิบัติตามขั้นตอนในการปรับพฤติกรรม (เพราะกลัวโดนกัดอย่างรุนแรงอีก) สุนัขที่กัดในระดับนี้มีแนวโน้มที่จะกัดแล้วสร้างความเสียในระดับนี้ไปเรื่อย ๆ ทางออกที่ดีที่สุดคือ สุนัขเหล่านี้ควรถูกขังอยู่ในพื้นที่จำกัดและไม่ควรพาไปในสถานที่สาธารณะหรือพาไปเผชิญกับสิ่งเร้าที่เขาไม่ชอบ เพราะเขาอาจจะเครียดและมีอาการต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ รอบตัวเขาได้ และอาจกัดจนเกิดความเสียหายอีก รวมทั้งในเมื่อการออกไปในที่สาธารณะหรือพาไปเผชิญกับสิ่งเร้าที่เขาไม่ชอบเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความเครียดอยู่แล้ว ดังนั้นการให้อยู่ในพื้นที่จำกัดอาจทำให้เขาสบายใจกว่า แต่การอยู่ในพื้นที่จำกัดต้องมั่นใจว่าจะไม่มีใครสามารถเข้าไปได้ (โดยเฉพาะเด็กหรือผู้สูงอายุ)

ระดับ 5 :

สุนัขกัดหลายครั้งและในแต่ละครั้งเป็นความเสียหายระดับ 4 หรือสุนัขกัดครั้งเดียวแต่หลายหน โดยอย่างน้อย 2 หนในความรุนแรงระดับ 4

ระดับ 6 :

เป็นระดับความดุของสุนัขที่รุนแรงมาก เพราะ ผู้ถูกกัดถึงแก่ความตาย

** ในระดับ 5-6 นี้ ถือว่าสุนัขเป็นตัวอันตรายต่อมนุษย์ การปรับพฤติกรรม เพื่อแก้ไขแทบเป็นไปไม่ได้ สุนัขเหล่านี้อาจต้องโดนขังเดี่ยว เพื่อให้อยู่ห่างมนุษย์ ซึ่งทำให้สุนัขมีชีวิตอย่างไม่มีความสุข ในระดับนี้ ดร. เอียนแนะนำให้ฉีดยาให้สุนัขหลับไปอย่างสงบน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด (แต่สำหรับประเทศไทย ที่ถือว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป รวมทั้งสัตวแพทย์ในไทยเองก็ไม่นิยมฉีดยาให้สุนัขหลับไปอย่างสงบ ในกรณีที่สุนัขก้าวร้าวแบบนี้ ตรงนี้อาจต้องแก้ไขโดยเลี้ยงแบบขังเดี่ยว และเลี้ยงเหมือนการเลี้ยงพวกเสือหรือสิงโตไปเลยครับ)

แน่นอนครับว่า ผู้อ่านท่านใดที่มีความรู้ความสามารถในการฝึกหรือปรับพฤติกรรมสุนัข อ่านถึงตรงนี้แล้วท่านอาจคิดว่าท่านสามารถปรับพฤติกรรมสุนัขที่กัดระดับ 5-6 ให้กลับมาปกติได้ ผมเองก็ไม่ห้ามปรามนะครับ เพราะท่านอาจมีความสามารถในระดับนั้นจริง ๆ แต่ขอให้ใช้ความระมัดระวังให้มาก ๆ แล้วกันครับ

ส่วนตัวผมเอง แม้จะเป็นครูฝึกและนักปรับพฤติกรรมสุนัข แต่ก็ยอมรับครับว่าถ้าเจอสุนัขที่กัดระดับ 4-6 นี่ก็ไม่อยากเสี่ยงตัวเองเหมือนกัน แต่เชื่อว่าถึงจะยอมเสี่ยงและฝึกจนทำให้สุนัขไม่กัดผมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สุนัขเลิกกัดคนอื่น ๆ ได้เช่นกันครับ สุนัขระดับนี้ถึงปรับให้ดีขึ้นแล้วคงต้องย้ายไปอยู่ในมือของผู้ฝึกที่ทราบถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมสุนัขและการฝึกสุนัขอย่างดีอย่างเดียวครับ ปรับพฤติกรรมแล้วส่งคืนเจ้าของคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้นสักเท่าไรเพราะคงกลับไปกัดรุนแรงเหมือนเดิม

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจถึงระดับและความรุนแรงของการกัดโดยสุนัขดีขึ้นนะครับ

 

บทความโดย

นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ (ครูนล)
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ฝึกสอนชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Dog Class