รีโนเวตโรงยิมเก่าให้กลายเป็น บ้านลอฟท์ สุดอบอุ่น

รีโนเวตโรงยิมกลางชุมชนเก่าในอัมสเตอร์ดัมให้กลายเป็น บ้านลอฟท์ หลังใหม่ สร้างประโยชน์ใช้สอยใหม่ให้อาคารเก่า ฝีมือการออกแบบของ Robbert de Goede สตูดิโอออกแบบชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์ นอกจากบรรยากาศสุดอบอุ่น โปร่งสบาย และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลงตัวของพื้นที่พักอาศัย ที่นี่ยังเชื่อมโยงกับบริบทโดยรอบได้เป็นอย่างดี ภายใต้ความเคารพในสภาพแวดล้อมของชุมชนเดิม

ออกแบบ: Robbert de Goede
ภาพ:  Marcel van der Burg

Robbert de Goede สตูดิโอออกแบบชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์ สร้างประโยชน์ใหม่ให้อาคารโรงยิมเก่า ที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างมานานหลายปี ใจกลางพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เดิมพื้นที่นี้มีลักษณะเป็นโกดังอินดัสเทรียล มีผนังรับน้ำหนักก่อทึบสูง มีเพียงหน้าต่างด้านบนที่เปิดรับแสงจากภายนอก รวมถึงเพดานสูงที่เผยให้เห็นโครงสร้างหลังคาเหล็กถักสไตล์ บ้านลอฟท์

ก่อนเริ่มกระบวนการรีโนเวต เจ้าของบ้านชักชวนให้สถาปนิกลงพื้นที่เพื่อศึกษาบริบทโดยรอบ และหารูปแบบฟังก์ชันใหม่ที่เหมาะสมสำหรับอาคารเก่านี้ เพราะหากกำหนดทิศทางฟังก์ชันของอาคารให้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ที่เปิดให้บริการแบบสาธารณะ อาจส่งผลให้ผู้คนเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก และอาจสร้างความอึดอัดให้แก่ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิม ดังนั้น โรงยิมแห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนเป็นบ้านพักอาศัย ตามข้อเสนอของสถาปนิก ที่ต้องการให้งานออกแบบอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเป็นมิตร

จากพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในโกดัง สถาปนิกได้จัดวางฟังก์ชันการใช้งานทั้งแนวราบและแนวตั้งไว้ในแต่ละตำแหน่งที่แตกต่างกันตามลำดับ ก่อนจะขมวดพื้นที่เข้าหากันด้วยคอร์ตสี่เหลี่ยมกลางบ้าน โดยมีชั้นลอยที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่โอบรัดคอร์ตไว้ สำหรับทำหน้าที่เป็นทางสัญจรที่เชื่อมแต่ละชั้นเข้าหากัน รวมทั้งเพิ่มมิติให้กับสเปซกล่องสี่เหลี่ยมเกลี้ยง ๆ ดูเป็นสัดส่วนและน่าใช้งานมากขึ้น โดยยังคงเก็บดีเทลเหล็กของโครงสร้างหลังคาเดิมไว้ และนำมาประยุกต์ใช้กับดีเทลโครงสร้างพื้นชั้นลอยที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างความกลมกลืนระหว่างตัวอาคารเดิมกับโครงสร้างใหม่ที่คิดขึ้น

สร้างฟังก์ชันให้บันไดทางขึ้นพื้นที่นั่งเล่น ด้วยการทำเป็นที่นั่งอัฒจรรย์สำหรับนั่งพักผ่อน ทั้งยังใช้ประโยชน์จากการยกพื้นขึ้น โดยออกแบบให้เป็นห้องออกกำลังกายที่บริเวณชั้นล่าง

ด้วยพื้นที่ภายในกว่า 620 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยที่ค่อนข้างกว้างขวางสำหรับที่อยู่อาศัย สถาปนิกจึงจัดสรรพื้นที่ให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ใหม่ในอนาคต ด้วยการจัดผังชั้นล่างแบบโอเพ่นแปลน ไร้ผนังกั้น เพื่อให้การใช้งานมีความยืดหยุ่น ขณะที่พื้นที่ชั้นบนได้กั้นเป็นห้อง ๆ ไว้ แต่ก็ยังสามารถเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่ในอนาคตได้เช่นกัน

จากสเปซสไตล์ลอฟต์แบบเดิม สถาปนิกได้คงคาแร็กเตอร์บางอย่างไว้ เช่น โครงสร้างเหล็กถักบริเวณหลังคา เพิ่มเติมคือการใช้โครงสร้างเหล็กผสมผสานกับไม้ในส่วนที่ต่อเติมขึ้นใหม่ เพื่อลดทอนความรู้สึกแข็งของโครงสร้างด้วยโทนสีอบอุ่นของไม้ รวมถึงสัมผัสของวัสดุที่ให้ความรู้สึกละเอียดอ่อนนุ่ม เช่น พรมขาวขนอัลปากาที่ปูอยู่บริเวณพื้นที่รับแขก และไม้สนซีดาร์ผิวนวล ที่นอกจากจะนำมาใช้เป็นเฟรมของบานหน้าต่าง-ประตูภายใน  และเฟอร์นิเจอร์อีกหลายตัวแล้ว  ยังนำมากลึงเป็นทรงกระบอกขนาดยาวประกอบเข้าเป็นราวบันไดที่วิ่งไหลจากราวกันตกชั้นบนลงมาจรดราวบันไดชั้นล่าง รวบสเปซคอร์ตเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงไม้โอ๊กเก่าสีเข้มที่นำมาปูพื้นบริเวณชั้นลอยทั้งหมด เปลี่ยนบรรยากาศจากพื้นปูนขัดสไตล์ลอฟต์ที่บริเวณชั้นล่าง ขึ้นมาสู่พื้นที่ใช้งานด้านบนที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงพื้นที่สีเขียวบริเวณพื้นที่ทำงานชั้นบนก็ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านเช่นกัน

นอกจากผังบ้านแบบเปิดโล่งจะสร้างความยืดหยุ่นให้แก่การใช้งานในแต่ละพื้นที่แล้ว สถาปนิกยังจัดวางฟังก์ชันให้อยู่ในตำแหน่งที่คาบเกี่ยวกันระหว่างชั้น เพื่อให้คนในบ้านสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันง่ายขึ้น
เคาน์เตอร์ครัวหินอ่อนสีเทาต่อเนื่องกับโต๊ะไม้สักสีอุ่น ทำให้ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่รับประทานอาหารเบาๆ หรือสังสรรค์อย่างเป็นกันเอง ฝ้าเพดานกรุด้วยไม้โอ๊คผิวธรรมชาติ ตัดกับแนวคานเหล็กสีดำ และพื้นคอนกรีตขัดมันให้ลุคอินดัสเตรียล

เนื่องจากพื้นที่เดิมมีช่องหน้าต่างให้แสงผ่านเข้ามาได้เพียงแค่ชั้นบนเท่านั้น ผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาเรื่องแสงสว่างภายใน ด้วยการเพิ่มช่องแสงสกายไลท์ที่หลังคาบริเวณคอร์ต เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านจากชั้นบนลงสู่ชั้นล่างได้อย่างทั่วถึง นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าในเวลากลางวันแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคากว่า 44 แผง เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในบ้าน รวมถึงระบบบ้านอัตโนมัติ Domotica ที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ภายในบ้านทั้งแสงสว่าง ไฟฟ้า อุณหภูมิ และความชื้น ยังช่วยทำให้บ้านหลังนี้ สามารถประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

จากหลังคาปิดทึบ สถาปนิกได้เพิ่มช่องสกายไลท์กว่า 10 ช่อง เพื่อให้แสงสว่างเข้าถึงทุกพื้นที่ภายในบ้าน รวมถึงโคมไฟแอลอีดีวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร จาก Martinelle Luce นอกจากจะให้แสงสว่างเวลากลางคืนแล้ว รูปทรงวงกลมยังช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของเส้นสายโครงสร้างหลังคาบริเวณคอร์ตให้ดูเป็นมิตรขึ้นด้วย
มุมมองจากระเบียงทางเดินบนชั้นลอย สามารถมองเห็นพื้นที่ทั้งชั้นบนและล่างที่คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างชั้นลอย ทำให้บ้านดูโปร่งโล่ง พื้นปูไม้โอ๊คเก่า เช่นเดียวกับขั้นบันได ส่วนราวจับไม้ Yellow Cedar สีอ่อนสร้างเส้นสายนำสายตาเชื่อมโยงระหว่างชั้น
ภายในห้องแต่งตัวเลือกใช้วีเนียร์ไม้ยูคาลิปตัสปิดทับหน้าบานและภายในตู้ ให้ลุคเรียบขรึม ทั้งยังให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวของยูคาลิปตัสซึ่งเป็นกลิ่นที่เจ้าของบ้านชอบ

นอกจากคุณค่าทางงานสถาปัตยกรรมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในบ้านแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่เคารพต่อบริบทเดิม และรับผิดชอบต่อการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ทั้งในแง่ที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมอย่างเป็นมิตร และการประหยัดทรัพยากรส่วนรวมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ออกแบบ : Robbert de Goede (robbertdegoede.nl)

ภาพ :  Marcel van der Burg (marcelvanderburg.com)

เรื่อง วรรณลีลา


GARAGE HOUSE บ้านกึ่งอู่รถยนต์ที่สร้างการอยู่ร่วมแบบตัดขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง