โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง (Legg-Calve-Perthes Disease)

โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง หรือ Legg-Calve-Perthes Disease, Perthes disease หรือ coxa plana เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาขาดเลือดไปเลี้ยงในตำแหน่งของหัวกระดูก (femur) ทำให้บริเวณที่เกิดมีอาการกระดูกตาย

ซึ่งหัวของกระดูก femur โดยปกติจะสวมเข้าไปในเบ้า (Acetabulum) ของกระดูก pelvis ซึ่งเป็นบริเวณของข้อสะโพก (Hip joint) มีลักษณะของข้อเป็น ball and socket ถ้าหากหัวกระดูก femur มีการพัฒนาของเนื้อตายหรือมีเลือดมาเลี้ยงน้อยลง จะทำให้การทำงานของข้อผิดปกติไป และอาจทำให้เกิดข้ออักเสบตามมา กระดูกที่ตายส่งผลให้เกิดการสูญเสียความแข็งแรง และการยุบตัวของหัวกระดูก femur ได้ ซึ่งชื่อโรค เป็นการตั้งชื่อ โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง (Legg-Calve-Perthes Disease) โดยการรวมนายแพทย์ 3 คนที่ค้นพบโรคนี้ขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันใน ค.ศ. 1910

โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง
ลักษณะปกติของข้อสะโพก (ขอบคุณภาพจาก vcahospitals.com)

สาเหตุการเกิดโรค

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีการศึกษาถึงสาเหตุอาจจะเกิดจากมีการรบกวนการไหลเวียนของเลือดมายังส่วนของสะโพกโดยตรง หรือมีการขัดขวางการไหลเวียนเลือดจากการอุดตันของก้อนเลือดที่แข็งตัวภายในหลอดเลือดเอง  ทำให้กระดูกมีความอ่อนแอ และเสื่อมสภาพลง ซึ่งอาจนำไปสู่การหักของกระดูกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการพัฒนาของเยื่อไฟบรัส (Fibrous tissue) ซึ่งจะช่วยทำให้ส่วนของกระดูกแข็งแรงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของกระดูกอาจเหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบตามมาได้ และอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งอาจเกิดจากการถ่ายถอดลักษณะทางพันธุกรรม มักเกิดในสุนัขพันธุ์เล็ก โรคนี้มักจะเกิดตามมาหลังจากมีการบาดเจ็บของขาหรือข้อสะโพก

อาการของโรค

เนื่องจากโรคนี้ก่อให้เกิดความที่ผิดปกติของขาและอาการของโรคพัฒนารุนแรงขึ้นภายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ สุนัขมักแสดงอาการไม่อยากลงน้ำหนักขาข้างที่ผิดปกติ ในบางกรณีอาการเจ็บปวดและการเดินที่ผิดปกติสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แต่โดยปกติจะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างของข้อสะโพก บางครั้งอาการเจ็บจะรุนแรงขึ้นเมื่อขาข้างที่ผิดปกติถูกจับบังคับหรือจับคลำ โดยเฉพาะในระยะท้ายของโรค สุนัขมักจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในขาข้างที่ผิดปกติเนื่องจากไม่ได้ใช้ขาเป็นเวลานาน

โรคนี้มักพบได้ในสุนัขพันธ์เล็ก เช่น Chihuahua, Bichon Frise,  Poodle, Pomeranian และ Terriers ในช่วงอายุระหว่าง 5-8 เดือน หรืออาจเจอได้ก่อนอายุ 3 เดือนหรือหลัง 18 เดือน และมีโอกาสเกิดในทั้งเพศผู้และเพศเมียเท่า ๆ กัน อีกทั้งยังสามารถเกิดในแมวได้เช่นกัน

การตรวจวินิจฉัย (Diagnosis)

ตรวจวินิจฉัยโดยดูลักษณะอาการที่ปรากฏร่วมกับประวัติการรักษาทางยา อาการมักเกิดที่ขาหลังและค่อย ๆ พัฒนาอย่างช้า ๆ ก่อนนำไปสู่การที่สุนัขไม่สามารถลงน้ำหนักขาหลังได้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นขาเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นควรมีการตรวจโดยการจับคลำบริเวณส่วนของข้อสะโพก เพื่อดูการเคลื่อนที่ ดูมวลกล้ามเนื้อ และดูความสมมาตรของขา ซึ่งจะตรวจยืนยันได้โดยการถ่ายภาพทางรังสี (X-rays) ซึ่งจะเห็นลักษณะที่ผิดปกติของข้อสะโพกที่เปลี่ยนไปจากเดิม นอกจากนี้ยังควรถ่ายภาพทางรังสีซ้ำ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย

ในระยะแรกของการเกิดโรคการถ่ายภาพทางรังสีจะเห็นลักษณะของหัวกระดูก femur แบนกว่าปกติ และเมื่ออาการของโรครุนแรงขึ้นจะเห็นเป็นลักษณะเหมือนรอยแมลงแทะ (Moth eaten) บริเวณหัวของกระดูก femur ซึ่งเกิดจากการสลายของกระดูก และในระยะท้ายของโรคจะเห็นลักษณะของหัวกระดูก femur มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป และบ่งบอกถึงการอักเสบของข้อ

การรักษา

ในกรณีที่โรคไม่รุนแรง จะเริ่มต้นด้วยการรักษาทางยา การให้ยาลดปวดจะช่วยให้สุนัขผ่อนคลายขึ้น ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และอาจเพิ่มการจัดการเรื่องอาหารเข้ามาด้วย เพราะ ไม่ควรให้สุนัขที่ป่วยมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เนื่องจากอาจจะมีผลต่อการทำงานของข้อต่อที่มากขึ้น

ในกรณีรุนแรง สัตวแพทย์แนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งวิธีที่แนะนำให้ใช้สำหรับผ่าตัดแก้ไขโรคนี้ คือ การตัดส่วนหัวของกระดูก femur ที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและมีการอักเสบออก (Femoral head and neck osteotomy: FHO) โดยการผ่าตัดนี้ส่วนหัวของกระดูก femur จะถูกตัดออกและปล่อยมีการหายแบบสร้างเนื้อเยื่อที่เหนียวเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันขึ้นมาแทน

การผ่าตัดวิธี Femoral head and neck osteotomy: FHO (ขอบคุณภาพจาก vetspace.2ndchance.info)

สำหรับอีกทางเลือกหนึ่งในการผ่าตัด คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก (Total hip replacement: THR) ซึ่งในการผ่าตัดจะมีการใส่ข้อสะโพกใหม่เข้าไป เพื่อให้ข้อสะโพกกลับมาทำงานได้อีกครั้ง ซึ่งการผ่าตัดทั้ง 2 วิธีนี้ให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ต่างกันมาก แต่วิธี FHO มักเป็นวิธีแรกที่นิยมใช้ในการแก้ไข เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่หากทำแล้วสุนัขยังแสดงอาการเจ็บอยู่อาจพิจารณาทำ THR

การดูแลหลังผ่าตัด (Post-operative care)

หลังผ่าตัดสุนัขควรได้รับการกายภาพบำบัดร่วมกับการให้ยาลดปวด นอกจากนี้อาจจะมีการแนะนำให้กินการให้สารสกัดที่มีผลในการปกป้องบริเวณข้อต่อ (Chondroprotective agents) หรือที่เรียกว่ายาบำรุงข้อต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อปกป้องกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัด (Complication)

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดพบได้ค่อนข้างน้อย อาจพบเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ที่รู้สึกไม่สบายตัวหลังทำหรือสนใจขาที่ทำมากกว่าปกติและบางตัวอาจต้องให้ยาลดปวดลดอักเสบนานกว่าปกติ บางครั้งอาจจำเป็นต้อง การผ่าตัดครั้งที่ 2 เพื่อนำส่วนของกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ที่งอกมาใหม่ออก เนื่องจากทำให้สุนัขเจ็บและไม่สบายตัว

สุนัขที่เป็นโรคควรนำไปเป็นพ่อพันธุ์หรือไม่

เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ จึงไม่ควรนำสุนัขที่เป็นโรคไปใช้ในการสืบทอดสายพันธุ์

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว.สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่