รีโนเวตบ้านหลังเล็กให้ ‘น้อยแต่มาก’ กลิ่นอายสแกนดิเนเวียน

บ้านหลังเล็กที่ได้รับการ รีโนเวท ให้ ‘น้อยแต่มาก’  เน้นให้สเปซและฟังก์ชันมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา สร้างบรรยากาศให้โปร่งสบายด้วยแสงธรรมชาติ จัดวางเฟอร์นิเจอร์เพื่อแสดงพื้นที่ใช้สอยแทนการกั้นผนังห้องที่ทำให้อับทึบ ทั้งยังออกแบบให้ทุกพื้นที่ในบ้านสามารถใช้เป็นที่ทำงานได้

หลายครั้งที่ความท้าทายในการออกแบบของเหล่าสถาปนิกคือการ รีโนเวท บ้านเก่าที่ทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และคงท้าทายไปอีกขั้นกับการรีโนเวตบ้านเก่าอายุร่วมสิบปีที่มีสเปซที่สวยงามอยู่แล้ว ให้ยิ่งโดดเด่นขึ้นอีก อย่างเช่นบ้านหลังนี้ ด้วยขนาดพื้นที่ใช้สอยเพียง 160 ตารางเมตร จึงถือเป็นโจทย์ท้าทาย ที่ทำให้ผู้ออกแบบต้องค้นหาคำตอบของการออกแบบ โดยมีความชอบ และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านทั้งสองที่หลงรักสไตล์การตกแต่งอย่างเรียบง่ายเป็นสมการสำคัญ  เพื่อให้ทุกสเปซในบ้านขนาดกะทัดรัดนี้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

เจ้าของ: คุณดุษฎี บุญชัยศรี และ คุณสริตา อุสาหพานิช
ออกแบบ: คุณไธปันฬ์ นพลัดดารมย์ เเละ คุณอิทธิวัฒน์ พูนธนาทรัพย์ จาก Thaipanstudio

น้อยแต่มาก

‘LESS IS MORE’ คือคำอธิบายถึงความชอบและสไตล์การตกแต่งที่เจ้าของบ้าน ส่งต่อให้กับผู้ออกแบบ เพื่อนำไปตีความให้กลายเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่สามารถอยู่อาศัยได้ โดยผู้ออกแบบเริ่มจากศึกษา และค้นหาจุดเด่นเดิมของบ้านไปพร้อมกับการเปลี่ยนให้คำว่า “น้อยแต่มาก” เป็นรูปธรรมด้วยแนวคิดการออกแบบ จนมาลงตัวกับสไตล์ “สแกนดิเนเวียน” ที่เน้นให้สเปซและฟังก์ชันมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา สร้างบรรยากาศการใช้พื้นที่ได้อย่างดีเยี่ยมด้วยแสงธรรมชาติ และการจัดวางเฟอร์นิเจอร์เพื่อแสดงฟังก์ชันแทนการกั้นผนังห้องแบบอับทึบ ช่วยให้พื้นที่ชั้น 1 มีลักษณะคล้ายโถงขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นทุกพื้นที่ถึงกันทั้งหมด โดยมีห้องครัวขนาดใหญ่แยกออกไปชัดเจนด้วยบานประตูกั้น ช่วยป้องกันกลิ่นและควันจากการทำอาหาร

สร้างเส้นสายให้เกิดความรู้สึกเชื่อมกันของสเปซด้วยเส้นท็อปโต๊ะจากไอส์แลนด์ไปยังชั้นวางโทรทัศน์ และต่อไปยังซิงค์นอกตัวบ้าน
เคาน์เตอร์ไอส์แลนด์ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นกับครัวเข้าด้วยกัน โดยเลือกใช้วัสดุกรุเคาน์เตอร์ และเส้นสายที่มีความต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็แบ่งฟังก์ชันชัดเจนด้วยการนำกระจกใสมากั้นพื้นที่

ทุกพื้นที่พร้อมสำหรับทำงาน

พื้นที่อื่น ๆ ของบ้านมีหัวใจสำคัญของการออกแบบอยู่ที่ “การทำให้ทุกพื้นที่ในบ้านสามารถเป็นที่ทำงานได้” เนื่องจากเจ้าของบ้านใช้เวลาทำงานที่บ้านเป็นหลัก ทางผู้ออกแบบจึงไม่อยากจำกัดการทำงานให้อยู่เฉพาะบนโต๊ะทำงานเท่านั้น  ดังนั้นการออกแบบบ้านชั้น 1 จึงเป็นในรูปแบบโอเพ่นแปลน เพื่อให้เอื้อต่อการทำงานและสร้างบรรยากาศในการทำงานที่บ้านไม่ให้จำเจ เนื่องจากสามารถย้ายที่นั่งทำงานได้อย่างอิสระ แต่การสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้อต่อการทำงานนั้น ไม่ได้มีเพียงช่องแสงที่ถูกคิดมาอย่างตั้งใจเท่านั้น เพราะบ้านทั้งหลังมีบรรยากาศราวกับถูกย้อมด้วยสีขาว แล้วเสริมด้วยการเปลี่ยนจากผนังทึบบางส่วน ให้กลายเป็นผนังกระจกใสสูงจรดฝ้าเพดาน เพื่อสร้างความรู้สึกให้พื้นที่ที่จำกัดดูกว้างขวางยิ่งขึ้น  อีกทั้งกระจกใสยังทำหน้าที่เชื่อมสเปซให้เป็นหนึ่งเดียว  ช่วยให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึงพื้นที่อื่นได้อย่างทั่วถึงผ่านกระจกใสและการกระจายแสงของผนังสีขาว ทำให้ช่วงเวลากลางวันไม่จำเป็นต้องเปิดไฟสว่างตลอดเวลา จึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวอบอุ่น

ออกแบบให้มีช่องแสงขนาดใหญ่ เพื่อดึงแสงธรรมชาติให้ส่องเข้ามาในบ้านได้ในปริมาณที่เหมาะสมตลอดทั้งวัน
แม้ว่าผู้ออกแบบจะตั้งใจให้ทุกพื้นที่สามารถทำงานได้  แต่ก็ยังเตรียมพื้นที่บริเวณชานพักบันไดสำหรับวางโต๊ะยาว  และบิลท์อินชั้นหนังสือไว้ เหมาะใช้นั่งประชุมหรือทำงานได้อย่างสบายเป็นกิจจะลักษณะ

เรียบง่ายสไตล์สแกนดิเนเวียน

นอกจากการตกแต่งสไตล์สแกนดิเนเวียน ที่ผู้ออกแบบตีความให้มีบรรยากาศ และฟังก์ชันสามารถตอบโจทย์เจ้าของบ้านได้อย่างดีแล้ว  การตกแต่งภายในยังเน้นเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินอย่างชั้นลอย รวมถึงการจัดวางโต๊ะตัวใหญ่สำหรับใช้นั่งทำงานและประชุม โดยมีชั้นวางหนังสือสีขาวอยู่รายล้อม นอกจากเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินแล้ว ผู้ออกแบบและเจ้าของยังมีโอกาสเลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวชิ้นอื่น ๆ ร่วมกัน เพราะต้องการให้สไตล์และขนาดของเฟอร์นิเจอร์ลงตัวกับพื้นที่ โดยเน้นใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เพื่อไม่ให้บ้านทั้งหลังจมลงไปกับสีขาวจนเกินพอดี นอกจากนั้นยังเลือกกระเบื้องยางลายไม้มาปูพื้น เช่นเดียวกับโต๊ะอาหารและสตูลบาร์ที่ทำจากไม้ เพื่อให้ทุกองค์ประกอบรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างบรรยากาศให้บ้านมีทั้งความอบอุ่นและน่าพักผ่อน แม้ว่าบ้านหลังนี้จะมีพื้นที่จำกัด แต่ผู้ออกแบบก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นความท้าทายได้ ทั้งการเปลี่ยนฟังก์ชันโดยเน้นให้ทุกพื้นที่ทำงานได้  หรือการดึงประโยชน์จากแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการอยู่อาศัย โดยมีปลายทางของการออกแบบคือการสร้างสเปซที่มีคุณภาพ พร้อมมอบความสุขให้กับเจ้าของบ้านอย่างยั่งยืน

ห้องนอนตกแต่งในสไตล์มินิมัลเช่นกันกับส่วนอื่น ๆของบ้าน โดยตั้งใจให้เตียงและโทรทัศน์เป็นเฟอร์นิเจอร์หลัก
บนฉากหลังสีขาว การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ช่วยสร้างบรรยากาศของบ้านให้ดูเป็นมิตรและอบอุ่นยิ่งขึ้น

—-
เรื่อง: Ektida N.
ภาพ: THANAWATCHU
เจ้าของ: คุณดุษฎี บุญชัยศรี และคุณสริตา อุสาหพานิช
ออกแบบ: คุณไธปันฬ์ นพลัดดารมย์ เเละคุณอิทธิวัฒน์ พูนธนาทรัพย์ จาก Thaipanstudio house โทร. 094 793 6464


บ้านโมเดิร์นสีขาวในสเปซปิดล้อมที่เปิดรับประสบการณ์ใหม่