YUNOMORI ONSEN & SPA SATHORN พลิกโฉมอพาร์ตเมนต์เก่าให้กลายเป็นสปาสะท้อนปรัชญา “วะบิ-ซะบิ”

ยูโนะโมริ ออนเซ็น แอนด์ สปา สาขาสาทร (Yunomori Onsen & Spa Sathorn) ในลำดับที่ 3 ต่อจากสาขาสุขุมวิท ซอย 26 และสาขาพัทยา ของ ยูโนะโมริ ที่ขึ้นชื่อด้านบริการสปาและทรีตเม้นต์ที่ผสานศาสตร์แห่งการบำบัดจากสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

หนึ่ง การแช่น้ำแร่ร้อน หรือออนเซ็นฉบับดั้งเดิมจากญี่ปุ่น

สอง การนวดแผนไทยตำรับโบราณอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของยูโนะโมริ

กับการขยับขยายสาขาแห่งล่าสุดมาตั้งอยู่บนทำเลที่มีระยะทางห่างเพียงเล็กน้อยจากปากซอยสาทร 10 หรือซอยศึกษาวิทยา ก็ยังคงวางใจให้ 67s มาเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลงานออกแบบอย่างต่อเนื่อง

Yunomori Onsen & Spa Sathorn

ภายหลังสำรวจความเป็นไปได้ในการเก็บรักษากลุ่มอาคารสามหลังที่มีอยู่เดิมเอาไว้ เพื่อปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสำหรับโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นโจทย์ตั้งต้นโครงการ คุณปกรณ์ รัตนสุธีรานนท์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ 67s พบว่า ความตั้งใจดังกล่าวดูจะไม่สอดคล้องไปตามโปรแกรมที่ถูกวางเอาไว้

นั่นจึงนำมาสู่ทางเลือกที่สองในตอนท้าย คือการปรับปรุงเฉพาะอาคารอพาร์ตเมนต์หลังเดิมที่ตั้งอยู่ด้านในของที่ดิน ให้กลายเป็นส่วนสปาและห้องนวด แล้วรื้อทุบอาคารสองหลังที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทิ้ง ก่อนจะก่อสร้างอาคารหลังใหม่ให้เหมาะสำหรับการทำออนเซ็นที่ต้องอาศัยโครงสร้างเฉพาะตัวขึ้นมาทดแทน

เขาอธิบายถึงข้อจำกัดและวิธีแก้ปัญหาครั้งนี้ว่า “ตัวโปรแกรมของยูโนะโมริในส่วนออนเซ็นนั้นต้องการพื้นที่ งานระบบ และโครงสร้างใหม่ จึงไม่สามารถใช้รูปแบบโครงสร้างเดิมของอาคารเก่าได้ ต้องรื้อถอนสองอาคารด้านหน้าที่เป็นอาคารหลังเตี้ยออก แล้วสร้างอาคารขึ้นใหม่เพื่อรองรับโครงสร้างพิเศษของออนเซ็น ส่วนอาคารด้านหลังที่เป็นอพาร์ตเม้นต์ เราตัดสินใจเก็บไว้แล้วปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องนวดสปา”

Yunomori Onsen & Spa Sathorn
อาคารด้านหน้าเป็นส่วนออนเซ็นจึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ปิด ก่อนมาพบกับสเปซเปิดโล่งที่คอร์ตยาร์ดด้านหลัง
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
ทางเดินอิฐที่เชื่อมคอร์ตยาร์ดระหว่างอาคารด้านหน้าและด้านหลัง
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
สร้างความต่อเนื่องของวัสดุธรรมชาติอย่างอิฐ คอนกรีต  ดิน  และไม้  สู่การออกแบบภายในห้องอาหาร Happy Rice เด่นด้วยเคาน์เตอร์ไม้ลวดลายฟองน้ำใจกลางสเปซ
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
ผนังหลังที่นั่งทำจากวัสดุดินฉาบที่ใช้เทคนิคการพ่นทรายผสมสีไล่เฉดและใช้เกรียงปรับแต่งผิวหน้า

Yunomori Onsen & Spa Sathorn

การตัดสินใจเก็บอาคารเก่าแล้วปรับปรุงใหม่ให้ทำหน้าที่แตกต่างไปจากจุดประสงค์เดิม ย่อมยากจะเลี่ยงการปะทะกับปัญหาโครงสร้างที่ไม่เอื้อสำหรับการใส่โปรแกรมใหม่เข้าไปในพื้นที่

สถาปนิกเล่าว่า “การปรับเปลี่ยนเป็นห้องนวดไทย ข้อจำกัดจะค่อนข้างน้อย เพราะเป็นห้องที่ไม่จำเป็นต้องมีงานระบบที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่มันจะมีเรื่องการจัดพื้นที่ โดยเฉพาะการยกพื้น เพราะการนวดไทยจะวางฟูกลงบนพื้น ซึ่งด้วยความรู้สึกอาจทำให้ผู้ใช้งานกังวลถึงความสะอาด ยังมีเรื่องโครงสร้างของอาคารที่จะมีปัญหาความสูงของฝ้าเพดาน จึงต้องพยายามหาบาลานซ์ สุดท้ายการแก้ปัญหาของเราคือการไม่ทำฝ้า และดึงความสนใจให้มาอยู่ในระดับล่าง เวลาเรานอนบนฟูก ตัวจะอยู่ในระดับพื้น ดังนั้นองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งเพดานและพื้นเราจะทำให้น้อยที่สุด เพื่อเคลียสเปซไม่ให้ขโมยความสนใจ”

“ส่วนอโรมา พอเป็นโครงสร้างเก่าของอพาร์ตเม้นต์จะมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องห้องน้ำที่เขาทำมาดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่ด้วยตำแหน่งของห้องน้ำเดิมทำให้เราต้องวางแนวท่อ ประกอบกับมาเจอเรื่องฝ้าเตี้ย การออกแบบหลบห้องน้ำที่จะมีอย่างน้อย 4 ห้องต่อหนึ่งชั้น แล้วเราต้องมาเพิ่มห้องน้ำเป็น 8 ห้อง จึงต้องวางแผนเรื่องช่องชาร์ปกันเยอะเหมือนกัน”

Yunomori Onsen & Spa Sathorn
ห้องนวดไทยออกแบบเรียบน้อย เพื่อขับให้ความรู้สึกและสัมผัสของความเป็นญี่ปุ่นโดดเด่นพร้อมกลิ่นอโรมา  แสงสีขาวโทนอุ่น 2700k สามารถปรับระดับให้สว่างพอเหมาะ  ซ่อนไว้กับผนังสองชั้นที่สื่อสารถึงหน้าต่างกรอบบานไม้สนขนาดบาง  ช่วยให้ดูโปร่งเบาและกระตุ้นให้เกิดความสงบในสไตล์เซน
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
แม้จะเป็นอาคารอพาร์ตเมนต์เดิม  แต่เมื่อกรุผนังไม้สีอ่อนและใช้การออกแบบไฟหลืบตาม แนวทางเดิน ก็ช่วยสร้างมิติ และความน่าสนใจให้สเปซ
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
ห้องน้ำในส่วนสปา  แก้ปัญหาความทึบของอาคารด้วยการเปิดช่องระหว่างผนังกับเพดานเพื่อดึงแสงธรรมชาติจากด้านบนสาดลงมากระทบพื้นและผนังอิฐ

Yunomori Onsen & Spa Sathorn

ยูโนะโมริ ออนเซ็น แอนด์ สปา ประกอบด้วยอาคารสองหลังที่ขั้นกลางด้วยสวนสไตล์เซน ตัวอาคารใหม่ทางด้านหน้าคือส่วนออนเซ็น และโถงต้อนรับความสูง 4 ชั้น ส่วนตัวอาคารความสูง 8 ชั้นทางด้านหลัง คือส่วนสปาที่แบ่งออกเป็นห้องนวดไทยและห้องอโรมา คละกันไปบนพื้นที่ระหว่างชั้น 2-7 เพิ่มมาด้วยโปรแกรมสำหรับส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นในชื่อ “Happy Rice” บริเวณชั้น 1 เชื่อมกับคอร์ตยาร์ด ห้องรับรองสำหรับการผ่อนคลายบนชั้น 7 และรูฟท็อปบาร์ที่มองเห็นตัวอาคารมหานครได้อย่างแจ่มแจ้ง

Yunomori Onsen & Spa Sathorn

“โครงการนี้ทำให้เราได้สำรวจและค้นหาวิธีที่จะผสมผสานความเป็นไทยกับญี่ปุ่นเข้าด้วยกันได้อย่างไรมาตลอด จากสาขาพัทยาที่เราอิงไปทางความเป็นไทย หรือการอาบน้ำแบบไทย เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติ จนมาถึงสาขาสุขุมวิท ซอย 26 และสาทร ที่เราจะอิงไปทางความเป็นญี่ปุ่นมากกว่า แล้วค่อยนำความเป็นไทยเข้ามาผสม”

“การที่เราพยายามเก็บอาคารเดิมไว้ แล้วสอดแทรกเอเลเมนต์ใหม่ ๆ เข้าไปผสมผสาน นำไปสู่การค้นพบความงามของ คินสึงิ ที่มันไม่สมบูรณ์แบบ แบบวะบิ-ซะบิ”

Yunomori Onsen & Spa Sathorn
รูฟท็อปบาร์ที่นำองค์ประกอบของวัสดุโทนอุ่นอย่างไม้ไผ่ และกระเบื้องพื้นโมเสกหินอ่อนคละรูปทรงสีขาว  สื่อสารถึงผิวสัมผัสและลวดลายที่เสมือนรอยแตกร้าวและบาดแผลที่สวยงามตามศาสตร์คินสึงิ  มาสร้างมู้ดแอนด์โทนชวนผ่อนคลาย  และสะท้อนแนวคิดความไม่สมบูรณ์แบบของปรัชญาวะบิ-ซะบิ

Yunomori Onsen & Spa Sathorn

คินสึงิ ที่สถาปนิกหมายถึง คือศาสตร์และศิลปะแห่งการผสานซ่อมแซมรอยแตกร้าวของเครื่องปั้นดินเผาด้วยครั่งผสมทองคำของญี่ปุ่นในสมัยโบราณ แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาเป็นแนวคิดร่วมกับความไม่สมบูรณ์แบบในปรัชญา “วะบิ-ซะบิ” โดยเล่าเรื่องผ่านการเลือกวัสดุที่ใช้ในงานตกแต่ง การจัดลำดับพื้นที่ และการออกแบบบรรยากาศที่เอื้อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสประสบการ์แห่งการผ่อนคลายในสองศาสตร์ผ่านสเปซที่เรียบน้อยและดิบกระด้าง

“คุณลักษณะของสเปซที่นี่จะมีเรื่องความรัสติก ความมืดสลัว มีความเงียบ เราจึงสร้างมู้ดของทั้งหมดให้เหมือนการเดินทาง ตั้งแต่ชั้นล่างของตึกนวดตามโปแกรมคือร้านอาหารก็จะสว่าง แต่ละชั้นที่ขึ้นไปก็จะค่อย ๆ มืดลง เงียบลง นำไปสู่การออกแบบแสงสว่าง และ Light source ที่ปรากฏบนชั้น หรือห้องนวดที่จะเป็นความสว่างแบบ Indirect สุดท้ายเมื่อกลับไปที่ชั้นดาดฟ้าซึ่งเป็นรูฟท๊อปก็จะกลับไปสว่างอีกครั้ง เป็นเซอร์ไพรส์ที่เราต้องการให้ทุกคนกลับไปพบกับความสว่างที่ไม่เจิดจ้า แต่สบายตา”

“ในการจัดลำดับการเข้าถึง ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่เราต้องทำตามกฏหมายให้พื้นที่ด้านล่างของอาคารใหม่เป็นที่จอดรถ ทำให้ทุกอย่างถูกยกขึ้นไปบนชั้น 2 แต่ด้วยโปแกรมที่ได้รับจากเจ้าของ ซึ่งจะต้องทำให้สอดรับกับข้อกฏหมาย ทางแก้ของเราจึงใช้พื้นที่เต็มรอบอาคาร ด้วยโปรแกรมของออนเซ็นที่เรามีช่องเปิดมากไม่ได้ เราจึงเลือกเปิดพื้นที่ของตึกเพียงด้านเดียวคือด้านหลังคอร์ตยาร์ด ตามระยะร่นระหว่างอาคารเก่ากับอาคารใหม่ เราจึงทำพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นไฮไลต์ระหว่างสองอาคาร เดินเข้ามาจะพบกับพื้นที่ปิด ก่อนจะมาระเบิดสเปซที่คอร์ดยาร์ด และพยายามวางตำแหน่งของล็อบบี้และส่วนร้านอาหารให้ได้รับประโยชน์จากการเปิดโล่งตรงนี้มากที่สุด และทำระเบียงยื่นออกมาให้พื้นที่มัน Interlock เข้าไปในร้านอาหารด้วย”

Yunomori Onsen & Spa Sathorn
โถงต้อนรับชั้น 1  สะท้อนการนำแรงบันดาลใจจากศาสตร์การทำเครื่องปั้นดินเผาบิเซ็นยากิ (Bizen Yaki) มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ เด่นด้วยเคาน์เตอร์ไม้ทำมือจนเกิดลวดลายบน พื้นผิวคล้ายฟองน้ำ  ตั้งเคียงผนังคอนกรีตที่เกิดลวดลายจากการหล่อไม้แบบจากต้นไผ่
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
สร้างความเชื่อมต่อทางมุมมองกับบรรยากาศโดยรวมด้วยผนังทำผิวสัมผัสดิบกระด้างตามแนวล็อกเกอร์
Yunomori Onsen & Spa Sathorn
ปิดทึบด้านข้าง  เปิดโปร่งด้านบน  วิธีทลายข้อจำกัดของรูปแบบพื้นที่ออนเซ็นที่สามารถสร้างช่องเปิดได้น้อย  ให้สะท้อนแนวคิดความเป็นป่าหรือโมริผ่านการแทรกพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร  ผู้ออกแบบอธิบายว่า  “เป็นความพยายามจัดการพื้นที่ ให้คอร์ตยาร์ดเกิดความต่อเนื่องกับเอ๊าต์ดอร์ โดยที่ต้นไม้สามารถอยู่ได้โดยไม่ตาย”

Yunomori Onsen & Spa Sathorn

ออกแบบ-ตกแต่ง: Sixseven S
คุณปกรณ์ รัตนสุธีรานนท์ และคุณกรกนก เมฆศิลป์
67studio.com
ออกแบบแสงสว่าง: Atelier AT คุณอธิคม ศรีรธรรม

YUNOMORI ONSEN & SPA SATHORN
ยูโนะโมริ ออนเซ็น แอนด์ สปา สาขาสาทรซอย 10

54 ซอยศึกษาวิทยา ถนนสาทรเหนือ
แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
โทร.0-2164-2643-47
www.yunomorionsen.com

เรื่อง: นวภัทร

ภาพ: ศุภกร


KOFF AND THINGS.TH คาเฟ่เชียงใหม่ อบอุ่นด้วยงานไม้ สวยได้ฟีลเกียวโต