ระบบผนังกันความร้อน มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งสำหรับการก่อสร้างบ้านใหม่ และการรีโนเวตบ้านที่อาจมีปัญหาเรื่องความร้อน ควรเลือกแบบไหน
ระบบผนังกันความร้อน นั้นโดยหลักจะแบ่งออกเป็น ฉนวนโดยตัววัสดุ และฉนวนโดยเทคนิคการก่อสร้าง ซึ่งอย่างหลังนั้นสามารถปรับใช้ได้กับวัสดุที่เราคุ้นชินอยู่แล้วเช่นอิฐมอญและอิฐบล๊อคต่างๆ ทั้งนี้ระบบผนังกันความร้อนมีข้อดีข้อสังเกตแตกต่างกันไปตามแต่ความสบายใจและการเลือกใช้งาน

ก่ออิฐสองชั้น
ระบบผนังกันความร้อน แบบการก่ออิฐสองชั้นโดยมีระยะห่างระหว่างชั้นนั้น ช่วยป้องกันความร้อนแและป้องกันเสียงได้เพราะพื้นที่ว่างตรงกลางจะทำหน้าที่เป็นฉนวนนั่นเอง สามารถใช้ได้ทั้งอิฐมอญ อิฐมวลเบา หรืออิฐบล็อกก็ตาม แต่มักนิยมใช้กับอิฐมอญมากกว่าด้วยการก่ออิฐแบบครึ่งแผ่นสองแถว
- ข้อดี เป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนที่หลายคนสบายใจในความแข็งแรง
อิฐมวลเบา
ด้วยคุณสมบัติของความมีรูพรุนจึงทำให้อิฐมวลเบานั้นมีคุณสมบัติของฉนวนที่ดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่หากจะให้ดีการก่ออิฐมวลเบาสองชั้นติดกันจะทำให้สามารถป้องกันความร้อนและเสียงได้มากกว่า
- ข้อดี มีน้ำหนักเบา ก่อสร้างได้รวดเร็ว แต่บางท่านอาจไม่ถูกใจวิธีการเจาะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆบนผนังอิฐมวลเบา แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลือกใช้พุกที่เหมาะสม
ก่ออิฐภายนอกเลือกใช้ผนังกันความร้อนที่ภายใน
คล้ายการก่ออิฐสองชั้น แต่เลือกที่จะก่ออิฐภายนอกเพื่อความปลอดภัยแข็งแรง และใช้ผนังเบาที่มีฉนวนกันความร้อนที่ภายใน
- ข้อดี เหมาะกับงานรีโนเวท ปรับปรุงคุณสมบัติเดิมของผนังโดยการเพิ่มชุดฉนวนที่ภายใน สามารถกันความร้อนได้ดีในขณะที่ยังคงคุณสมบัติความแข็งแรงของผนังอิฐฉาบปูนอยู่เช่นเดิม

ก่ออิฐสองชั้นคั่นกลางด้วยฉนวน
เป็นวิธีการที่นิยมในประเทศแถบยุโรปโดยการก่ออิฐสองชั้นและฉีดพ่นโฟมฉนวนเข้าไปภายใน วิธีการนี้จะเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันความร้อนและเสียงได้ดียิ่งขึ้นกว่าเพียงก่ออิฐสองชั้นเสียอีก
- ข้อดี เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง
แผ่นฉนวน PU Foam
มักมาในรูปแบบของแผ่น Sandwish ที่มีฉนวนอยู่ภายในอาจเป็นเมทัลชีตหรือแผ่นโพลีไวนิลก็ได้ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งแบบสำหรับหลังคาและผนัง
- ข้อดี มีขนาดที่บางกว่าหากเทียบกับวิธีทำฉนวนแบบอื่นๆ
ภาพปก:Kooltherm K108 Cavity Board
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut