รีโนเวตบ้านเก่า 80 ปี มาเป็น บ้านโนบิตะ แสนอบอุ่น

บ้านเก่าที่ทรุดโทรม น้ำท่วม แคบ มืดทึบ และเพดานต่ำ กลายร่างมาเป็นบ้านน่ารักๆ จนมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า บ้านโนบิตะ ที่มีสวนญี่ปุ่นอันร่มรื่นได้อย่างไร เรามาดูความเป็นไปและแนวทางการรีโนเวตบ้านเก่าหลังนี้กันเลย

สถาปนิก: Jun Sekino A+D โดยคุณจูน เซคิโน

ออกแบบสวน: D.garden design โดยคุณเปรมฤดี ชีวโกเศรษฐ

เจ้าของ: คุณปัญจมา – คุณชัชวาล เลิศบุษยานุกูล

ฟาซาดด้านหน้า ด้วยความต้องการที่จะรักษาบรรยากาศของบ้านไม้หลังเดิม จึงนำไม้จากบ้านเดิมมาติดเป็นเส้นแนวตั้ง มีการฟินิชชิ่งเพื่อให้ทนแดดทนฝน แต่ให้ดูเป็นธรรมชาติที่สุด ด้านล่างที่จอดรถเป็นการเสริมโครงสร้าง ซึ่งต้องทำงานร่วมกับวิศวกรในการคำนวณแรงทั้งหมดเพื่อให้จอดรถได้สองคัน
หนึ่งในจุดไฮไลต์ของบ้านคือสวนกรวดด้านข้าง เป็นการแก้ปัญหาพื้นที่ที่มีแสงน้อยจนกลายมาเป็นสวนกลิ่นอายญี่ปุ่นในที่สุด มีส่วนยื่นมานั่งเล่นห้อยขาได้แบบบ้านโนบิตะ ที่ชานเป็นส่วนหนึ่งของสวน ยาวตลอดแนวบ้าน
ภายในบ้านจะเห็นองค์ประกอบของไม้ สีขาว และช่องแสงทั้งสองด้านที่ทำให้บ้านดูอบอุ่น งานเหล็กที่เพิ่มมาเพื่อความแข็งแรงถูกทำให้กลมกลืนไปกับระดับฝ้าและเพดาน

ก่อนจะเป็นบ้านหลังงาม

แม้ คุณชัชวาลและคุณปัญจมา เลิศบุษยานุกูล เจ้าของบ้านทั้งสองท่านจะหวั่นใจอยู่บ้างในการรีโนเวตบ้านหลังนี้ แต่ด้วยความต้องการที่จะเก็บความทรงจำเดิมเอาไว้ จึงตัดสินใจรีโนเวตบ้านหลังนี้ ซึ่งเดิมทีเป็นบ้านของคุณตาและคุณยายอันเป็นที่รักซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ไม่ได้มีคนอยู่อาศัย มีพื้นที่ใช้เก็บของ และมีปัญหาน้ำท่วมยามฝนตก เนื่องจากทางครอบครัวได้อยู่อาศัยรวมกันที่บ้านอีกหลังในพื้นที่รั้วเดียวกัน โจทย์การทำงานของสถาปนิกจึงต้องเข้าไปพิจารณาความเป็นไปได้ของบ้านเก่า ก่อนจะเริ่มชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

 

พื้นที่นั่งเล่น มุมหนึ่งมีส่วนนั่งเล่นที่เป็นกระจกยื่นออกไปรับวิวแบบเบย์วินโดว์ ได้จังหวะรับกับสัดส่วนภายในบ้าน
ระบบไฟเดินลอยตัวตามจุดที่กำหนดอย่างเรียบร้อย พื้นเป็นหินขัดสีขาว ชุดครัวจาก Ikea และโต๊ะอาหารท็อปหินจากแบรนด์ Mahasamut ซึ่งมีในงานบ้านและสวนแฟร์
โถงด้านหน้าที่ต่อเติมยื่นออกมา

ไทม์แมชชีน ชุบชีวิตบ้านเก่า

ปัญหาที่ คุณจูน เซคิโน สถาปนิก พบก็คือเพดานเตี้ย มึดทึบ พื้นปาร์เกต์สภาพแย่มาก มีเชื้อราขึ้น งานระบบไม่สามารถใช้ได้ พื้นที่มีความแคบ ไม่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบัน คุณจูนเล่าให้ฟังว่า “เราคุยกับเจ้าของบ้านว่า คาแร็กเตอร์ของบ้านเราจะไม่ทำลาย จั่วก็ยังเป็นจั่ว ความเป็นบ้านไม้ เราก็ไปแงะฝาไม้ดู ก็เอารูปเก่าๆ มาให้ดูกัน ซึ่งรูปเก่าๆ นี้มีผลต่อความรู้สึกผมมาก รู้สึกเหมือนไทม์แมชชีนเลย”

ชั้นล่างเป็นโอเพ่นแปลน ระยะประตูบานเลื่อนคือพื้นที่บ้านเดิม เสาเดิมของบ้านกลายมาเป็นเสาอยู่ภายในช่วยในการแบ่งพื้นที่ทางความรู้สึกด้วย
มุมจากห้องนอนลูกสาวทั้งสองคน เดิมที่ห้องส่วนนี้เป็นห้องนอนหลักของบ้านเดิม พร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่แบ่งเป็นสัดส่วน และจะเห็นเพดานที่ยกสูงขึ้นชัดเจนบนชั้นสองจากห้องนอนลูกนี้

ศึกษาของเดิม เพิ่มเติมของใหม่

โครงสร้างเสาคานเดิมจึงถูกเก็บไว้หมด แต่มีการเสริมคาน เสริมโครงสร้าง รื้อฝ้าชั้นหนึ่งออก เอาไม้มาเรียงใหม่ทีละแผ่น จัดการวงกบไม้ใหม่ วางพื้นที่การใช้งานใหม่ ต่อเติมขยายพื้นที่ออกไป เหมือนทำบ้านหลังใหม่ในบ้านหลังเดิม แต่ต้องศึกษาสิ่งที่มีอยู่เดิมก่อน ต่างจากการทำบ้านใหม่ที่ออกแบบปุ๊ป ก็ขนวัสดุมาก่อสร้างได้เลย อย่างหลังคาก็ทำโครงสร้างใหม่และทำมุมลาดเอียงใหม่ให้เหมาะสมกับวัสดุในปัจจุบัน รวมไปถึงการต่อเสาเพื่อยกเพดานชั้นสองให้สูงขึ้นด้วยประมาณ 1.50 เมตร

ห้องทำงานบนชั้นสอง ได้บรรยากาศเก่าจากวงกบไม้ ผนังเป็นโครงสร้างเบาแนบชิดไปกับเสาไม้ ประตูมีช่องแสงจากกระจกลอนเพื่อให้ห้องดูมีมิติ
ห้องนอนใหญ่ของเจ้าของบ้านมีความเรียบง่ายมาก จังหวะช่องแสงสอดรับกับผังใช้งานภายใน
ทางเข้าห้องน้ำชั้นสอง เมื่อมองจากโถงบันไดเข้าไป
ห้องน้ำภายในดูสะอาดตาเป็นอย่างมาก มีองค์ประกอบของความทันสมัย ปะทะกับความเก่าของวงกบไม้อย่างกลมกลืน
ลานทางเชื่อมชั้นสองซึ่งต่อไปยังเรือนที่พักคนงาน สถาปนิกยังคงโมเสกเดิมไว้ และจัดการลานซักรีดให้ดูดีด้วยตะแกรงเหล็กสีขาวช่วยบังสายตา

ขยาย 100 ตารางเมตร เป็น 300 ตารางเมตร

บ้านเก่าจัดว่าเป็นบ้านที่เล็ก จึงมีการขยายพื้นที่ออกไป โครงสร้างบางส่วนมีการเพิ่มเสาไมโครไพล์เพื่อรับแรง ผังบ้านมีการขยายโถงหน้าด้านออกไปในส่วนของที่วางรองเท้า เชื่อมต่อกับพื้นที่จอดรถใหม่ที่ยื่นออกมา ด้านข้างก็ขยายจากแนวเสาเดิมเช่นกัน ที่น่าสนใจคือการสร้างความกว้างในความรู้สึกโดยการนำแสงเข้ามา ทำผนังกระจก ด้านหนึ่งเปิดรับวิวสวนแบบเต็มๆ จากสวนข้างบ้าน ขณะที่อีกด้านเป็นการเปิดพื้นที่เดิมให้เห็นทางเชื่อมของอาคารด้านหลัง เสมือนคอร์ตขนาดเล็ก ช่วยให้บ้านโปร่งทั้งสองด้าน

บ้านโนบิตะ
หนึ่งในจุดไฮไลต์ของบ้าน คือสวนกรวดด้านข้าง เป็นการแก้ปัญหาพื้นที่ที่มีแสงน้อยจนกลายมาเป็นสวนกลิ่นอายญี่ปุ่นในที่สุด

จากพื้นที่แสงน้อยมาเป็นสวนแห้ง

พื้นที่ด้านข้างของบ้านหลังนี้ติดอยู่กับอาคารสูง ทำให้มีแสงส่องมาได้ไม่มาก การปูพื้นหญ้าจึงไม่น่าจะเป็นทางเลือกในการดูแลรักษาระยะยาว ประกอบกับพื้นที่บ้านอยู่ระดับต่ำกว่าถนน ซึ่งตอนฝนตกอาจมีน้ำที่ระบายไม่ทันมาทำให้เกิดความเสียหายได้ ไอเดียสวนพื้นกรวดจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในครั้งนี้

หลังจากนั้นทางเจ้าของบ้านจึงไปคุยเรื่องการจัดสวนกับ คุณเปรมฤดี ชีวโกเศรษฐ โดยพัฒนาเป็นสวนญี่ปุ่นที่ดูแลง่าย และปรับหลายสิ่งให้เป็นไทย อย่างต้นขนุนดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ พรรณไม้มีทั้งไผ่ หนวดปลาดุกแคระ ที่ง่ายต่อการดูแล ไม่ดูเป็นญี่ปุ่นมากเกินไป มีส่วนชานและทางเดินเล็กๆ ให้ออกมาใช้งาน และเป็นส่วนหนึ่งในความน่ารัก จนสถาปนิกแอบตั้งชื่อเล่นให้บ้านหลังนี้ว่า “บ้านโนบิตะ” เพราะมีลักษณะคล้ายกับบ้านโนบิตะในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน

จากชั้นหนึ่งเดินขึ้นมาจะเห็นห้องพระอยู่ตรงกลาง โดยมีกระจกลอนพรางตา แบ่งพื้นที่ไปยังด้านซ้ายและขวา ชุดบันไดเป็นของเดิมของบ้าน

กลับไปยังรายละเอียดใน บ้านโนบิตะ

การตกแต่งภายในของบ้านหลังนี้เน้นความสบายๆ น่ารักๆ จากโครงสีขาวที่มีองค์ประกอบเล็กๆ เป็นเส้นสายที่ซ่อนอยู่จากลายไม้ ช่องแสงวงกบ มีการใช้กระจกลอนเพื่อเพิ่มมิติให้พื้นที่ ตะแกรงสีขาวให้รู้สึกย้อนยุคเช่นเดียวกับพื้นหินขัดแบบร้านจีนสมัยก่อน ขณะที่โครงสร้างเหล็กถูกซ่อนให้เผยตัวออกมาเท่าที่จำเป็น กลมกลืนไปกับสีขาวภายใน เหมือนร่างกายใหม่อันแข็งแรงที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับกระดูกและดีเอ็นเอเดิมของบ้านแห่งความทรงจำหลังนี้


เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


สัมภาษณ์คุณจูน เซคิโน ต่อได้ที่คลิกนี้เลย

รวมบ้านรีโนเวท เปลี่ยนบ้านพังเป็นบ้านสวย

10 จุดการรีโนเวทบ้านไม่ควรพลาด