คุยกับ ANTON NEGODA ชาวรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญบ้านไม้ไผ่ บนเกาะพะงัน

บ้านไม้ไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ไปปลูกสร้างบนเกาะสวย ๆ อย่างพะงันแล้วละก็ เชื่อว่าเป็นฝันของใครหลาย ๆ คนที่รักทะเลเป็นแน่แท้ วันนี้ room ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับชาวรัสเซียที่ลงมือปลูกบ้านไม้ไผ่ด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญในที่สุด บ้านไม้ไผ่ที่ปลูกเองได้ จนถึงวิธีการจัดการไม้ไผ่จะเป็นอย่างไร เลื่อนลงไปอ่านได้เลย

Bamboo design : derived from passion

“ผมไม่ได้เรียนเรื่องการก่อสร้าง แต่ผมจบด้านการทำอาหารมา ไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้ผมกลับหลงใหลในการสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ เรียกว่าตอนนี้ผมปรุงไม้ไผ่แทนอาหารก็แล้วกัน

Anton Negoda ชายหนุ่มชาวรัสเซีย เปิดบทสนทนากับเราได้น่ารักมาก ๆ เขาเริ่มหลงรักและสนใจในวัสดุไม้ไผ่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่มาเกาะพะงันใหม่ ๆ

“ตอนมาถึงที่นี่ครั้งแรก หลังจากเดินทางหลายประเทศในเอเชีย ผมมีความรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน รู้สึกอบอุ่น และถูกยอมรับจากพลังงานธรรมชาติบนเกาะ ในช่วงเริ่มแรกผมสนใจในการทำ dome สำหรับ Inipi ( sweat lodge ) ceremony ซึ่งมันคือพิธีกรรมโบราณของชาวอินเดียนแดง เพื่อชำระล้างจิตวิญญาณ กาย ใจ ให้บริสุทธิ์ ด้วยการเข้าไปนั่งในกระโจม หรือโดมที่มีหินร้อนอยู่ข้างใน คล้ายกับการซาวน่า หรือสตรีม ซึ่งรูปแบบของกระโจมก็เป็นตัวแทนของครรภ์มารดา 

ซึ่งโครงสร้างของโดม หรือกระโจมนั้น ผมทำจากไม้ไผ่ ซึ่งขนาดที่ใช้ในพิธีกรรมไม่ได้ใหญ่มาก คนเข้าไปได้ประมาณ 10 คน หลังจากนั้นผมก็ทดลองทำขนาดที่ใหญ่ขึ้นในรูปทรงแบบโดมเหมือนเดิม แต่ปิดด้านนอกด้วยใบจาก ซึ่งโปรเจ็กต์แรกที่ทำ ผมสร้าง Play House ในโรงเรียนอนุบาล หลังจากนั้นผมก็ทดลองสร้างในขนาดที่ใหญ่ขึ้น กับรูปแบบการใช้งานที่ต่างออกไป ทั้งในศูนย์วิปัสสนา วัด โรงโยคะ โรงเรียนอนุบาล ไม่ใช่สำหรับ Sweat Lodge เท่านั้น ซึ่งในแต่ละครั้ง มันเหมือนเป็นการทดลอง ใน 2 ปีนี้ผมมีความเข้าใจและค้นพบเทคนิคต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูกมากขึ้น และที่น่าประทับใจมาก ๆ ก็คือตอนนี้ผมมีลูกทีมถึง 6 คน ที่มาช่วยทำในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เคยจับงานไม้ไผ่มาก่อนเลย พวกเขาถนัดแต่งานคอนกรีต แต่ว่าตอนนี้พวกเขากลับหลงรัก และได้แรงบันดาลใจในงานไม้ไผ่เหมือนผม”

งานไม้ไผ่ช่วงแรกของ Anton ตอนที่เริ่มทำ Sweat Lodge เป็นไม้ไผ่ที่บาง แต่พอเขาขยับขึ้นมาทำงานที่ใหญ่ขึ้น เขาก็เริ่มหาข้อมูลการทำโครงสร้างไม้ไผ่ที่แข็งแรงและทนทาน อีกทั้งยังมีความยั่งยืน ใช้งานได้ยาวนาน ด้วยเทคนิคที่แตกต่างออกไป 

“ หลายคนคิดว่างานไม้ไผ่ไม่คงทน เสียหายได้ง่ายจากสภาพอากาศและแมลง เพราะความคิดเหล่านี้ทำให้บ้านไม้ไผ่ไม่เป็นที่นิยม แต่ความจริงแล้วถ้าเราทรีตไม้ไผ่อย่างดี และสร้างถูกหลักการ โครงสร้างไม้ไผ่ก็สามารถอยู่เป็น 100 ปี ได้เช่นกัน 

เรียนรู้การจัดการกับไผ่ด้วยตนเอง

“ในการก่อสร้างผมใช้ไม้ไผ่จากสองที่คือ จากบนเกาะ กับที่กรุงเทพ สำหรับไม้ไผ่ที่หาได้ในพื้นที่ วิธีการทรีตของผมคือ เอาไม้ไผ่ไปแช่น้ำทะเลประมาณสองเดือน แล้วนำมาตากให้แห้งสนิท ประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งใช้เวลายาวนานมาก ถ้าเทียบกับไม้ไผ่ที่ทรีตด้วยเคมีจากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงสองอาทิตย์ แต่ไม้ไผ่ของที่นี่ด้วยความที่ผมดูแลเองทุกขั้นตอน ผมจะใช้มันในส่วนที่ต้องการการออกแบบพิเศษ เช่น ส่วนตกแต่ง ส่วนดีไซน์โค้ง ส่วนที่ต้องการความประณีต 

“โดยปกติแล้วในไม้ไผ่มีความหวานอยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แมลงชอบกิน น้ำทะเลจะดึงความหวานนั้นออกมา แล้วแทนที่ด้วยคริสตัลของเกลือ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมในการทรีตเนื้อไม้ให้คงทน และที่ผมต้องใช้ไม้ไผ่จากสองที่ก็เพราะว่า ในการก่อสร้างแต่ละครั้งเราใช้ไม้ไผ่เยอะมาก ๆ และไม้ไผ่จากกรุงเทพฯที่สั่งมา ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไผ่ที่ปลูกและดูแลเพื่อใช้ในการก่อสร้างโดยเฉพาะ จึงมีรูปทรงที่ตรงและแข็งแรงกว่าไม้ไผ่จากที่นี่ 

“ดังนั้นการที่สร้างบ้านไม้ไผ่บนเกาะและโดนไอเกลือจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าไม้ไผ่ไม่ชอบแดดและฝน มีวิธีป้องกันคือการออกแบบหลังคาที่ใหญ่และกว้างเพื่อปกป้องโครงสร้าง ถ้าคุณสังเกตดูจะเห็นว่าปกติงานไม้ไผ่เขาจะขึ้นแค่โครงสร้างหลักก่อน และทำหลังคา แล้วค่อยลงมีทำส่วนที่เหลือ นี่คือหนึ่งในข้อเสียของไม้ไผ่ที่ไม่ทนทั้งแดดฝนและแมลง แต่ถ้าเราทรีตไม้ดีตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหา 

“แต่ข้อดีของมันสำหรับผมก็มีเยอะมาก อย่างแรกเลยคือมันเป็นธรรมชาติ สวย ทำงานง่าย เป็นไม้ที่แข็งแรงแต่เบาเพราะข้างในกลวง ทำให้เวลาทำงานโครงสร้างสูงไม่ต้องใช้คนเยอะ หรือต้องใช้เครื่องจักรยกขึ้นไป อย่างที่สองคือเป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่กี่ปีก็แข็งแรงพร้อมใช้งาน ไม่เหมือนไม้อื่น ๆ ที่อาจต้องรอถึง 40-100 ปี เพราะมันมีวงจรการโตที่นานกว่า”

Anton เสริมเพิ่มเติมว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่าบ้านไม้ไผ่ดูแลยาก แต่จริง ๆ ก็ไม่ต่างจากวัสดุธรรมชาติทั่วไป หรือบ้านคอนกรีต ที่ยังไงคนรักบ้านก็ต้องดูแล และอาจจะต้องเปลี่ยนบางส่วนทุก ๆ  2-3 ปี เช่น หลังคาใบจาก อันนี้ควรเปลี่ยนทุก ๆ 3 ปี หรือถ้าอยากให้นานกว่านั้นถึง 10 ปี สามารถใช้ไม้ไผ่หั่นครึ่งมาทำหลังคาแล้วเสริมพลาสติกกันน้ำก็ได้ 

หาดลับที่ Anton ใช้ทรีตไม้ไผ่ด้วยการแช่น้ำทะเล 1-2 เดือน เพื่อดึงความหวานในเนื้อไม้ที่แมลงชอบ แล้วแทนที่ด้วยคริสตัลของเกลือ เป็นภูมิปัญญาโบราณที่คนทำกันมานานแล้ว

หลายคนอาจสงสัยในงบการสร้าง Anton อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์จริง ๆ ว่าสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ซึ่งราคาก็สามารถเริ่มจากตารางเมตรละ 8,000 บาท ไปจนถึง 80,000 บาท ได้เช่นกัน จึงไม่สามารถวัดได้ว่ามันจะถูกหรือแพงกว่าบ้านคอนกรีต แต่สิ่งที่เขาอยากจะทำให้เกิดขึ้นคือการสร้าง Bamboo Community ให้คนรู้จักวัสดุนี้มากขึ้น และแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคในการก่อสร้าง 

“มีหลายเทคนิคเลยที่ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองหลังจากเกิดความผิดพลาดอยู่หลายครั้ง เช่น ในตอนแรกผมชอบโดมมากเพราะรูปทรงของมันไม่มีเหลี่ยมมุม การไหลและระบายอากาศก็ดี ในตอนแรกที่ทำผมทำโครงสร้างเส้นตั้ง แล้วคาดด้วยเส้นนอน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่คงทนและแข็งแรงเท่ากับการสร้างเส้นเฉียง พอมาเสิร์ชดูภายหลังโครงสร้างแบบสามเหลี่ยมเป็นสิ่งที่คงทนมากกว่า และเป็นภูมิปัญญาที่หลายคนทำกันมาหลายปีแล้ว แต่ผมเพิ่งรู้จากการทดลองด้วยตัวเอง”

ส่วนโครงสร้างไม่ได้สานเป็นเส้นตั้งกับเส้นนอน แต่เป็นรูปสามเหลี่ยมซึ่งมีความคงทนกว่ามาก

หรืออย่างวิธีการงอไม้ไผ่สำหรับในส่วนที่ต้องการทำให้โค้ง ผมก็ค่อย ๆ เห็นว่า เพราะข้างในมันกลวง เลยงอง่ายกว่าไม้ทั่วไปเพียงใช้ความร้อน เพื่อเปลี่ยนไฟเบอร์ข้างในในมันยืดหยุ่นขึ้น หรือใช้ไม้ไผ่แบบบางชิ้นเล็ก ๆ หลาย ๆ ชิ้น มาสร้างรูปทรงที่โค้งได้”

เลือกปิดด้วยใบจาก เนื่องจากสวยงาม มีความเป็นธรรมชาติเข้ากับวัสดุไม้ไผ่ อีกทั้งยังทำงานง่าย ไม่ต้องใช้เทคนิคพิเศษมากนัก

“สิ่งที่ผมอยากทำมาก ๆ คือผมอยากสร้างบ้านไม้ไผ่ที่สวยงาม แข็งแรงจริง ๆ ให้คนได้อยู่ ผมรักธรรมชาติมาก และผมคิดว่าบ้านต้องไม่ใช่สิ่งที่ตัดขาดระหว่างเรากับธรรมชาติออกจากกัน สิ่งเป็นสิ่งสำคัญในฐานะการดำรงอยู่ของการเป็นมนุษย์ บ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่ทำให้ผมรู้สึกว่า เราได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติตลอดเวลา ไม่ได้ถูกตัดขาดออกจากกัน”

เขามีความเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า ไม้ไผ่จะต้องเป็นวัสดุที่เป็นความนิยมในอนาคต เพราะความที่เป็นวัสดุยั่งยืน สวยงาม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักที่คนจะหันมายอมรับ แล้วใช้วัสดุคอนกรีต และเหล็กที่น้อยลง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ 

“ผมเห็นทิศทางของมันว่าจะไปได้ดี และคนจะเห็นคุณค่าของบ้านไม้ไผ่มากขึ้น ผมเชื่อแบบนั้นจริง ๆ”

Zero waste center ที่เขาสร้างขึ้นให้เพื่อน Fatima Najm และ Matteo Caraccia มีทั้งส่วนเรียนรู้ของเด็ก ส่วนสันทนาการ ส่วนพักผ่อนที่มี ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องอาบน้ำกึ่งเอ๊าต์ดอร์ และสระว่ายน้ำ

เรื่องและภาพ : pumpumm