ฟิล์มกันร้อน

ร้อนแล้ว มาติดฟิล์มกันร้อน ฟิล์มกรองแสง ให้บ้านกัน

ฟิล์มกันร้อน
ฟิล์มกันร้อน

วิธีป้องกันแสงแดดและความร้อนที่เข้ามาทางช่องเปิดกระจก คือการติดฟิล์มกรองแสงอาคาร (Building Film) ซึ่งสามารถติดได้ทั้งบ้านสร้างใหม่และบ้านเก่า โดยฟิล์มกรองแสงซึ่งมีคุณสมบัติกันร้อนที่ดีควรมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสีอินฟราเรด (ความร้อน)ได้ดี และป้องกันรังสียูวีได้กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เสียหายก่อนเวลาอันควร และยังคงมองออกไปก็ยังให้ทัศนวิสัยที่ชัดเจน

ปัจจุบันฟิล์มกรองแสง หรือ ฟิล์มกันร้อน มีให้เลือกหลายชนิด ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้งาน รวมถึงงบประมาณในกระเป๋า จึงขอกล่าวถึงเฉพาะฟิล์มกันร้อนที่นิยมใช้งานกัน

 ประเภทของฟิล์มกรองแสงอาคาร

1.ฟิล์มปรอท

ฟิล์มกันร้อน

คือ ฟิล์มที่ผสมโลหะต่างๆ ในการผลิต (ไม่ได้ฉาบสารปรอทในเนื้อฟิล์มแต่อย่างใด) ทำให้เนื้อฟิล์มมีความมันวาว สามารถสะท้อนแสงและป้องกันความร้อนได้ดี ให้ความเป็นส่วนตัว เพราะมองเข้ามาไม่เห็นจากภายนอก (เมื่อภายในมืดกว่า) แต่ความมันวาวของฟิล์มที่คล้ายกระจกเงา จะมีการสะท้อนแสง อาจทำให้ไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ และจากภายในมองออกมาจะไม่ชัดเจนนัก

ฟิล์มปรอท เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง หรือบ้านที่ต้องการฟิล์มกรองแสงราคาประหยัด แต่ช่วยกันความร้อนเข้ามาในบ้านได้ดี แนะนำให้ติดฟิล์มที่บริเวณชั้นล่างเพื่อลดแสงสะท้อนเข้าตาผู้อื่น

 

2.ฟิล์มดำ

คือ ฟิล์มที่มีการเคลือบสารหรือโลหะต่างๆ ทำให้มีสีดำเข้ม เนื้อฟิล์มที่มีความเข้มสูง สามารถกรองแสงหรือช่วยลดความร้อนได้ดี (แสงผ่านเข้ามาได้น้อย) แต่จะทำให้ทัศนวิสัยมืดลงเช่นกัน ทั้งนี้ระดับความเข้มของฟิล์มจะมีให้เลือกตั้งแต่ 40,60 หรือ 80 และมีให้เลือกตั้งแต่เกรดธรรมดาคือการย้อมสีในเนื้อฟิล์ม ไปจนถึงฟิล์มเกรดพรีเมียมที่มีการใส่สารโลหะต่างๆเพื่อช่วยป้องกันความร้อน

ฟิล์มดำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อมองจากด้านในออกไปจะไม่มืดมาก รวมถึงห้องที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เนื่องจากโดนแสงแดดช่วงบ่ายตลอดทั้งวัน ดังนั้นก่อนติดฟิล์มดำ ควรทดสอบความเข้มของฟิล์มที่เหมาะสม ห้องจะได้ไม่มืดเกินไป

 

3.ฟิล์มใสกันร้อน

คือ ฟิล์มที่ยอมให้แสงสว่างส่องผ่านได้ประมาณ 70  เปอร์เซ็นต์ แต่ป้องกันรังสียูวีและรังสีอินฟราเรดได้สูง จึงยังคงมีทัศนวิสัยที่ชัดเจน (ติดฟิล์มแล้ว รู้สึกเหมือนไม่ติด) การผลิตฟิล์มใสกันร้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในขั้นตอนการผลิต เช่น การเคลือบแผ่นฟิล์มโดยใช้เทคโนโลยีนาโน หรือการเคลือบแบบ Spluttering ช่วยป้องกันความร้อน โดยการสะท้อนรังสีอินฟราเรด และป้องกันรังสียูวีได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ฟิล์มใสกันร้อนมีราคาสูง เมื่อเทียบกับฟิล์มกรองแสงประเภทอื่นๆ

ฟิล์มใสกันร้อน เหมาะกับบ้านที่ต้องการป้องกันความร้อนและรังสียูวีโดยเฉพาะ แต่ไม่บดบังทัศนวิสัย รวมถึงผู้พักอาศัยบนอาคารสูงที่ต้องการชมวิวยามค่ำคืน หรือหน้าร้านค้าที่ต้องการโชว์สินค้า

 

4.ฟิล์มนิรภัย

คือ ฟิล์มที่มีความเหนียวเป็นพิเศษ โดยมีความหนามากกว่าฟิล์มทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า หากเกิดอุบัติเหตุทำให้กระจกแตก ฟิล์มจะช่วยยึดกระจกไม่ให้หลุดร่วงลงมาทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ฟิล์มที่มีความหนามากๆ ยังช่วยยืดระยะเวลาการทุบทำลายกระจกจากการโจรกรรม หรือใช้ป้องกันภัยจากกระสุนปืนหรือแรงระเบิดได้ และยังมีคุณสมบัติช่วยกรองแสงและป้องกันความร้อนได้อีกด้วย

ฟิล์มนิรภัย เหมาะกับผู้ที่ต้องการป้องกันอันตรายให้กับผู้อยู่อาศัย และคนเดินเท้าที่อาจได้รับอันตรายจากกระจกแตก และยังช่วยลดความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้ามาภายในอาคาร

 

ติดฟิล์มกรองแสง ความเข้มเท่าไรดี!

ระดับความเข้มของฟิล์มจะมีให้เลือกหลากหลายไม่ว่าจะเป็น 40,60 หรือ 80 และฟิล์มใส ซึ่งระดับความเข้ม(แสงสว่างส่องผ่าน)ที่แตกต่างกัน จึงควรพิจารณาการใช้งานภายในห้องและทิศทางของแสงแดดด้วย

  • ห้องนอน อยากได้ความมืด หรือความเป็นส่วนตัวสูง แนะนำให้เลือกความเข้ม 80 %
  • ห้องนั่งเล่นอยู่ที่ทางทิศตะวันตก แสงแดดส่องเข้ามาในช่วงบ่าย แนะนำให้เลือกฟิล์มที่มาความเข้มกลางๆ ประมาณ 60 %
  • ห้องรับประทานอาหาร ห้องรับแขก และห้องทั่วไป แนะนำฟิล์มกรองแสงความเข้ม 40 % จะช่วยทำให้ห้องดูโปร่ง โล่ง สบาย ไม่อึดอัด

 

ความเข้มของฟิล์มกรองแสง ดูอย่างไร?

ให้ดูที่ค่าแสงสว่างส่องผ่าน ( Visible Light Transmission หรือ VLT) ซึ่งมีความแม่นยำที่สุด เนื่องจากความเข้มของฟิล์มที่เรียกกันว่า 40 ,60 หรือ 80 นั้น เป็นการเรียกแบบง่ายๆเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน ทั้งๆที่ฟิล์มเข้ม 60 เหมือนกัน แต่ถ้าแบรนด์ต่างกัน ความเข้มจริงๆ(แสงสว่างส่องผ่าน) อาจจะต่างกันก็เป็นได้

  • ฟิล์มเข้ม 40 คือ ฟิล์มกรองแสงที่ยอมให้แสงส่องผ่านได้ 30-40 %
  • ฟิล์มเข้ม 60 คือ ฟิล์มกรองแสงที่ยอมให้แสงส่องผ่านได้ 15-20 %
  • ฟิล์มเข้ม 80 คือ ฟิล์มกรองแสงที่ยอมให้แสงส่องผ่านได้ 3-7 %
  • ฟิล์มใสกันร้อน คือ ฟิล์มกรองแสงที่ยอมให้แสงส่องผ่านได้ 70 %

 

ราคาฟิล์มกรองแสง คิดอย่างไร

การติดตั้งฟิล์มกรองแสงอาคาร จะคิดราคาเป็นตารางฟุต แต่ถ้าไม่สะดวกใจจะคำนวณเป็นตารางเมตรก็ได้ (1 ตารางเมตร มีค่าประมาณ 10.8 ตารางฟุต) ทั้งนี้ฟิล์มกรองแสงมีราคาตั้งแต่ 50-400 บาทต่อตารางฟุต ขึ้นอยู่ประเภทและแบรนด์ของฟิล์มกรองแสงนั้นๆ

  • ฟิล์มดำ ราคาเริ่มต้นที่ 50 บาทต่อตารางฟุต
  • ฟิล์มปรอท ราคาเริ่มต้นที่ 65 บาทต่อตารางฟุต
  • ฟิล์มใสกันร้อน ราคาเริ่มต้นที่ 120 บาทต่อตารางฟุต
  • ฟิล์มนิรภัย ราคาเริ่มต้นที่ 150 บาทต่อตารางฟุต

 

วิธีการดูแลรักษาฟิล์มกรองแสง

โดยทั่วไปฟิล์มกรองแสงจะมีการรับประกันเริ่มต้นที่ 5-7 ปี แต่อายุการใช้งานจริงจะมากกว่านั้น ถ้าเราดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

  • การทำความสะอาด ให้ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ ผ้าที่มีเนื้อนุ่ม (ไม่มีขน) กับน้ำสะอาดหรือสบู่ชนิดอ่อน เช็ดทำความสะอาดบนผิวฟิล์มกรองแสง
  • ห้ามใช้น้ำยาล้างกระจกที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย เนื่องจากแอมโมเนียจะทำปฏิกิริยากับฟิล์ม ส่งผลให้กาวเสื่อมสภาพ และเนื้อฟิล์มแข็งกระด้าง ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง

 

ตัวอย่างฟิล์มกรองแสงที่มีระดับความเข้มของฟิล์มแตกต่างกัน

ฟิล์มกันร้อน iQue by V-KOOL รุ่น 78 FG

ฟิล์มกันร้อน

  • แสงสว่างส่องผ่าน (VLT) 77 %
  • สะท้อนรังสีอินฟราเรด (IRR) 77 %
  • ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UVR) 99 %
  • ลดความร้อนรวม (TSER) 45 %

 

ฟิล์มกันร้อน iQue by V-KOOL รุ่น 33 FG

  • แสงสว่างส่องผ่าน (VLT) 36 %
  • สะท้อนรังสีอินฟราเรด (IRR) 97 %
  • ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UVR) 99 %
  • ลดความร้อนรวม (TSER) 68 %

 

ฟิล์มกันร้อน iQue by V-KOOL รุ่น 18 P

  • แสงสว่างส่องผ่าน (VLT) 17 %
  • สะท้อนรังสีอินฟราเรด (IRR) 87 %
  • ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UVR) 99 %
  • ลดความร้อนรวม (TSER) 69 %

 

ฟิล์มกันร้อน iQue by V-KOOL รุ่น 18 P

ฟิล์มกันร้อน

  • แสงสว่างส่องผ่าน (VLT) 85 %
  • สะท้อนรังสีอินฟราเรด (IRR) 25 %
  • ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UVR) 99 %
  • ลดความร้อนรวม (TSER) 23 %

เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

ขอบคุณข้อมูล และตัวอย่างฟิล์มกรองแสงอาคารเพื่อใช้ถ่ายภาพประกอบคอลัมน์

: V-KOOL Group Thailand โทร. 02-181-5365,02-432-6219 www.v-koolgroup.com


 

เลือกฉนวนกันร้อนแบบไหนดี

บ้านร้อน เพราะหน้าบ้านอยู่ทางทิศตะวันตก ควรแก้ปัญหาอย่างไรดี