สุนัขกับการสำนึกผิด

การวิจัยจากหลากหลายแหล่งบ่งชี้ว่า แน่นอนว่าสุนัขมีความรู้สึกภายในจิตใจ แต่ก็ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า เวลาสุนัขกระทำความผิดแล้ว สุนัขรู้สึกสำนึกผิด หรือไม่ เพราะความรู้สึกสำนึกผิดน่าจะเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่าพวกความรู้สึกพื้นฐานทั่ว ๆ ไป

แต่ที่แน่ชัดคือ ท่าทางที่สุนัขแสดงออกมาให้เจ้าของเห็นเสมือนว่า เขารู้สึกสำนึกในความผิดที่ได้ทำลงนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกสำนึกผิดภายในใจเขาเลยครับ เคยมีการทดลองจากนักวิจัยมากมายเรื่อง สุนัขรู้สึกสำนึกผิด ในทำนองคล้ายกัน และได้ผลลัพธ์อย่างเดียวกัน

ตัวอย่างการทดลอง

คือ เอาสุนัขที่พอจะเรียนรู้คำสั่งได้ มานั่งอยู่กับของกิน แล้วให้เจ้าของสั่งสุนัขว่าอย่ากิน จากนั้นเจ้าของเดินออกไปจากห้อง ซึ่งผลที่ออกมาจะมี 4 แบบคือ

1. สุนัขไม่กิน เจ้าของกลับมาเห็นว่าขนมยังอยู่ สุนัขได้รับคำชม
2. สุนัขกิน เจ้าของกลับมาไม่เห็นขนม สุนัขโดนดุ
3. สุนัขกิน แต่นักวิจัยคนอื่นเอาของกินชิ้นอื่นมาวางแทน เจ้าของกลับมาเห็นว่าขนมยังอยู่ สุนัขได้รับคำชม
4. สุนัขไม่กิน แต่นักวิจัยคนอื่นเก็บขนมไป เจ้าของกลับมาไม่เห็นขนม สุนัขโดนดุ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ว่าสุนัขจะกินของกินไปเอง หรือนักวิจัยจะแอบเก็บของกินไปทิ้ง แต่สุนัขก็จะแสดงอาการ “สำนึกผิด” ออกมาเหมือนกันทั้ง 2 กรณีครับ เช่น หลบสายตา ทำหูลู่ ทิ้งน้ำหนักไปทางด้านหลังลำตัว ฯลฯ ทั้งที่แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ทำก็ตาม
และในกรณีที่สุนัขโดนดุทั้งที่ตัวเองไม่ได้กินนั้น สุนัขกลับแสดงท่าทาง “สำนึกผิด” มากเสียยิ่งกว่ากรณีที่ตัวเองแอบกินเสียอีกครับ (ซึ่งถ้าท่าทางนั้นเกี่ยวข้องกับการสำนึกผิดจริง ๆ ถ้าสุนัขไม่ได้ทำอะไรผิด เขาก็ไม่ควรจะแสดงอาการเหล่านี้)

ดังนั้น ท่าทางที่ดูเหมือนการสำนึกผิด น่าจะมาจากการตอบสนองภาษากายของเจ้าของมากกว่าครับ เพราะในตัวเจ้าของเอง เวลาสุนัขกระทำผิด ก็จะมีปฏิกิริยาในภาษากายที่แตกต่างออกไปให้สุนัขเห็น ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง หรือน้ำเสียง (แม้ว่าจะพยายามทำให้เป็นปกติหลังจากออกอาการให้สุนัขเห็นแล้ว สุนัขก็สัมผัสได้แล้วครับว่ามีภาษาท่าทางที่เปลี่ยนไป) สิ่งเหล่านี้จึงทำให้สุนัขเกิดท่าทางที่เราเห็นว่า “สำนึกผิด” เช่นหลบสายตา ทำหูลู่ ทิ้งน้ำหนักไปทางด้านหลังลำตัว ฯลฯ เป็นต้น

แต่บางคนอาจจะแย้งว่า อ้าว แต่ในบางครั้ง เราเดินออกมายังไม่เห็นเลยนะว่าสุนัขทำอะไร แต่เขาก็ทำท่าทางน่าสงสัยแล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นหลักของ พฤติกรรม และผลจากการกระทำที่เขาเคยประสบมาในอดีตมากกว่าครับ เช่น เคยกัดเสื้อผ้าที่แขวนอยู่แล้วเคยโดนเจ้าของตี ก็จะจำได้ว่าพอไปกัดเสื้อผ้าแล้วจะต้องโดนตี ทีนี้พอเผลอใจไปกัดเสื้อผ้าเข้าและเจ้าของมาเห็นก็เกิดอาการกลัวการโดนตีขึ้นมา ทำให้เกิดภาษากายที่แสดงอาการกลัวที่จะโดนตี แต่ไม่ใช่อาการสำนึกผิดครับ
อีกตัวอย่างที่นักพฤติกรรมสุนัขบางท่านได้กล่าวไว้คือ ถ้าสุนัขสำนึกผิดจริง ๆ การกระทำผิดนั้นก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก แต่ถ้าความผิดนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็น่าจะแปลว่าเขาไม่รู้ถึงการสำนึกในความผิดนั้นครับ

นี่ก็เป็นข้อมูลอ่านสนุก ๆ เอาไว้เพิ่มความรู้เกี่ยวกับสุนัขกับเรื่องการสำนึกผิดนะครับ

 

บทความโดย

นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ (ครูนล)
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ฝึกสอนชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Dog Class
www.facebook.com/nolpuppyclass