น้ำมันตับปลา vs น้ำมันปลา เหมือนกันหรือไม่ ?

จากประสบการณ์การทำงานหลายปีของผู้เขียน พบว่ามีความสับสนของเจ้าของเกิดขึ้นบ่อยมาก ระหว่างน้ำมันปลา และ น้ำมันตับปลา บางครั้งบอกให้ไปซื้อน้ำมันปลากิน สุดท้ายได้น้ำมันตับปลามากินเฉยเลย

ทั้งนี้อาจเป็นความคุ้นเคยแต่เด็กของเราด้วย เราอาจจะรู้สึกคุ้นเคยกับน้ำมันตับปลามากกว่า ทั้งที่จริง ๆ แล้ว น้ำมันตับปลา และ น้ำมันปลา แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งส่วนประกอบ สรรพคุณ และข้อบ่งใช้ วันนี้ บ้านและสวน Pets จะพามาทำความรู้จักน้ำมันทั้งสองชนิดนี้กันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ซื้อให้สัตว์เลี้ยงของเรากินได้อย่างถูกต้องตามประโยชน์ที่เราต้องการค่ะ

น้ำมันตับปลา (cod liver oil)

มาเริ่มกันที่น้ำมันตับปลาก่อนนะคะ น้ำมันตับปลา คือน้ำมันที่สกัดมาจากตับของปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาทะเล เช่น ปลาค็อด ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า cod liver oil น้ำมันตับปลาเต็มไปด้วยวิตามินเอ และดีสูง ซึ่งวิตามินเอจะช่วยสร้างเยื่อบุผิวหนัง และกระดูก สร้างภูมิต้านทานโรค และช่วยบำรุงสายตาให้สามารถมองเห็นได้ดีในที่มืด หรือในที่ที่มีแสงสลัว ส่วนวิตามินดีจะสำคัญในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัสจากอาหารค่ะ แต่ถึงแม้ว่าน้ำมันตับปลาจะอุดมไปด้วยวิตามินเอ และดีสูง แต่ตับก็เป็นแหล่งอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นการทานน้ำมันตับปลามากเกินความจำเป็น ก็อาจทำให้ร่างกายประสบปัญหาคลอเลสเตอรอลสูงเกินตามไปด้วย นอกจากนี้วิตามินเอ และดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หากทานน้ำมันตับปลามาก และได้รับปริมาณไขมันที่ไม่เพียงพอ อาจมีวิตามินเอ และดีสะสมในร่างกายมากเกินไปจนก่อให้เกิดอันตรายได้
สัตว์ที่มักประสบปัญหาจากภาวะวิตามินเอเกิน ก็คือแมว เนื่องจากวิตามินเอนั้น จะมีผลต่อการสร้างกระดูกด้วย ในแมวที่ได้รับตับ หรือบริโภคน้ำมันตับปลาเป็นระยะเวลานาน จะได้รับวิตามินเอเกิน และทำให้เกิดกระดูกงอกตามบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอที่เมื่องอกแล้ว จะกดทับเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอ และส่งผลให้แมวเป็นอัมพาตได้ในระยะยาว โดยผลเสียจากวิตามินเอที่เกินนี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แม้ว่าจะหยุดกินแล้วก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าจะต้องการเสริมอาหารเสริมใดๆให้กับสัตว์เลี้ยง ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทุกครั้งค่ะ

น้ำมันปลา (fish oil)

น้ำมันปลาสกัดมาจากปลาทะเลเช่นเดียวกัน แต่สกัดจากส่วนหนัง เนื้อ หัว และหางของปลาทะลน้ำลึก เราจึงเรียกแค่น้ำมันปลาว่าเป็น fish oil เฉย ๆ น้ำมันปลาประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากมาย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยคำว่า “โอเมก้า” อยู่บ้าง ซึ่งในน้ำมันปลาจะประกอบด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 จำนวนมาก ซึ่งที่เราคุ้นเคยน่าจะเป็นกรดไขมันโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ DHA (docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีประโยชน์ต่อหัวใจ และผิวพรรณ แต่นอกจากนี้ DHA ยังช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมอง มีความสําคัญต่อการสร้างสารสื่อเส้นประสาท ซึ่งมีผลต่อการทํางานหรือการสั่งงานของสมอง ร่างกายสามารถสร้าง DHA ขึ้นมาเองได้ โดยสร้างจากกรดแอลฟ่าลิโนเลนิก (alpha-linolenic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันจําเป็น อย่างไรก็ตามปริมาณที่ร่างกายสร้างได้มีไม่มาก
อย่างไรก็ตามในทางสัตวแพทย์กรดไขมันที่สำคัญจะเป็นตัวที่ชื่อว่า Eicosapentaenoic acid ชื่อยาวมาก ๆ แต่เราสามารถเรียกย่อ ๆ ว่า EPA ค่ะ EPA นี้มีส่วนสำคัญมากในการช่วยลดการอักเสบได้ดีค่ะ ดังนั้นในกรณีของโรคผิวหนังอักเสบ เป็นกรณีที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยพบว่าในสัตว์ป่วยที่มีภาวะภูมิแพ้ หากเสริมให้กรดไขมันโอเมก้า-3 ในขนาด 40-80 mg ต่อกิโลกรัม ต่อวัน สามารถช่วยลดการอักเสบ และอาการคันลงได้ ทั้งยังช่วยลดปริมาณยาแก้คันที่ใช้ลงได้อีกด้วย
นอกจากช่วยลดเรื่องภูมิแพ้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นการหายของแผลด้วย พบว่า EPA ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยสามารถให้กรดไขมัน EPA ก่อนการผ่าตัดเป็นเวลา 8 สัปดาห์ และหลังการผ่าตัด 4 สัปดาห์ และมีการแนะนำให้ใช้รวมกับกรดอะมิโนกลูตามีน, อาร์จินีน สังกะสี ธาตุเหล็ก และวิตามิน C ด้วยค่ะ

ในกรณีของโรคไตพบว่า สามารถให้น้ำมันปลา เพื่อช่วยลดการอักเสบของไต โดยเฉพาะในรายที่พบโปรตีนหลุดรั่วออกมากับปัสสาวะ จะช่วยลดปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมากับปัสสาวะได้อีกด้วยค่ะ

ความสำคัญของ การตรวจปัสสาวะ สำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคไต

ข้อผิดพลาดที่สัตวแพทย์พบบ่อยคือ หมออยากจ่ายน้ำมันปลาให้สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคไต เพื่อชะลอการดำเนินของโรค แต่ด้วยความเข้าใจผิดของเจ้าของสัตว์ป่วย ทำให้ไปซื้อน้ำมันตับปลามาแทน ให้สัตว์กินต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน พอหมอมาทราบอีกครั้งคือ เมื่อตอนขอยาที่สัตว์กินมาเช็ค พบว่าสิ่งที่กินคือน้ำมันตับปลา ไม่ใช่น้ำมันปลาอย่างที่หมอต้องการจ่าย และเมื่อเช็คเลือดพบว่า โรคไตแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เนื่องจากวิตามินเอ หากได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลเป็นพิษต่อไตด้วยค่ะ ดังนั้นควรให้สัตวแพทย์เช็คยาก่อนทุกครั้ง ว่าถูกต้องหรือไม่ จึงจะซื้อให้สัตว์เลี้ยงของเรากินนะคะ เพื่อความปลอดภัยค่ะ

นอกจากนี้ประโยชน์ที่สำคัญของน้ำมันปลาคือช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด แต่ไม่ได้หมายความว่าสัตว์ป่วยทุกตัวจะจำเป็นต้องกินน้ำมันปลานะคะ เราจะพิจารณาให้สัตว์ป่วยที่มีระดับไขมันทั้งสองตัวนี้สูงมากๆจริง และถึงแม้ว่าจะคุมให้กินอาหารไขมันต่ำแล้วก็ไม่ลดลง จึงจะพิจารณาให้กิน แต่หากเจ้าของซื้อน้ำมันตับปลาให้กินแทน ก็จะสามารถทำให้คลอเลสเตอรอลที่สูงอยู่แล้ว พุ่งสูงขึ้นไปได้อีกค่ะ เพราะน้ำมันตับปลาประกอบด้วยปริมาณไขมันที่สูงมากดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเองค่ะ

เมื่อท่านผู้อ่านรู้ถึงความแตกต่างของน้ำมันตับปลา และน้ำมันปลาแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง รวมถึงอย่าลืมปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนซื้อให้ทุกครั้ง ว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีความจำเป็นต้องกินหรือไม่ ด้วยข้อบ่งชี้อะไร และควรทานในปริมาณเท่าไหร่ จึงจะได้ผลค่ะ

บทความโดย

สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร
Thita Taecholarn DVM, MS
คลินิกทางเดินปัสสาวะ หัวใจ และเบาหวาน
Urology clinic , Cardiology clinic and Diabetic clinic
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Small Animal Teaching Hospital , Chulalongkorn University

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่