ระยะทางจากตัวเมืองขอนแก่นเพียงชั่วโมงกว่า ๆ บรรยากาศโดยรอบก็เปลี่ยนจากวิวเมือง กลายเป็นต้นไม้ เราต่างถูกธรรมชาติล้อมไว้ จนต้องยกมือยอมแพ้ ภายใต้อ้อมกอดที่อบอุ่นของสวนยาง มีบ้านไม้หลังเล็กแบบท้องถิ่นทำด้วยโครงสร้างไม้ขนาด 100 กว่าตารางเมตรของครอบครัวเฮงรัศมีตั้งอยู่ บ้านที่ดูจากไกล ๆ จะเห็นเป็นบ้านยกพื้นสูงธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วเป็นบ้านสองชั้นหลังคาทรงหน้าจั่ว (gable roof) ผลงานการออกแบบและเขียนแบบด้วยตัวเอง แบบบ้านไม้ หลังเล็ก
บ้านไม้หลังเล็ก ๆ กลางสวนยาง ที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ไปราวชั่วโมงกว่า ๆ บอกได้ว่าธรรมชาติสุด ๆ ตั้งแต่สถานที่ตั้งที่มีสวนยางล้อมรอบ มีคลองขุดเล็ก ๆ ล้อมพื้นที่เนินดินสูงบ้านขนาดเพียง 100 กว่าตารางเมตรของครอบครัวเฮงรัศมี ที่วันนี้คุณพ่อ – ธิติ คุณแม่- สุนันทา และ คุณแตม – นิชากรเฮงรัศมี พาเรามาเปิดบ้าน เอ๊ะ ! น่าจะเรียกว่าพาเรามาตากอากาศมากกว่า เพราะบรรยากาศดีลมเย็นสบาย มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวสุดลูกหูลูกตา แบบบ้านไม้ หลังเล็ก
วันนี้ my home ได้รับความเป็นกันเองอย่างมากจากคุณพ่อ – ธิติ เฮงรัศมี คณบดีคนแรก ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเล่าเรื่องราวของบ้านไม้กลางสวนยาง หลังนี้ให้เราฟัง “ บ้านนี้สร้างตอนเกษียณแล้ว เน้นเอกลักษณ์ท้องถิ่นทำด้วยโครงสร้างไม้ อยู่ได้ในสภาพอากาศไทย ๆ ปรับแบบให้เหมาะสมกับการตั้งอยู่ที่นี่ มีเขื่อนรอบที่เกิดขึ้นจากคลองขุด ทำให้บริเวณนี้เป็นเนินสูงขึ้น บ้านนี้ใช้เวลาสร้างปีกว่า ทำไปเรื่อย ๆ ถ้ามองจากด้านหน้าจะเห็นเป็นบ้านยกพื้นสูงธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วเป็นบ้านสองชั้นหลังคาทรงหน้าจั่ว ( gable roof ) แต่ยกหลังคาซ้อนขึ้นไปอีกชั้น ( dormer ) ทำให้สามารถระบายอากาศร้อน ที่ยกตัวสูงออกทางด้านบน และ รับแสงสว่างเข้ามาในช่วงกลางวัน ”
โต๊ะกินข้าวรูปทรงแปลกตา ให้ช่างประกอบขึ้นจากเศษไม้ที่เหลือจากการสร้างบ้านต่อเนื่องกับมุมครัวเล็ก ๆ ภายในบ้าน

แบบบ้านหลังนี้ คุณพ่อลงมือออกแบบ และ เขียนแบบด้วยตัวเอง เรียกว่าลงรายละเอียดถี่ยิบทุกส่วน เล่นเอา my home อึ้งกับแบบเขียนมือ ที่คุณพ่อหยิบออกมากางให้เราดู ลายเส้นสวย ๆ ลงดีเทล ทั้งรูปแปลนรูปด้าน รูปตัด แบบขยาย ไปถึงดีเทลการเข้าไม้ ก็มีให้ครบทุกส่วน “ เขียนมือนี่สนุกดีนะ เผอิญผมเป็นคนรุ่นเก่า เมื่อก่อนต้นไม้ 100 – 200 ต้น ใน thesis plan ยังไม่ให้ปั๊มเลย ต้องเขียนเองเอาดินสอวงคร่าว ๆ แล้วมานั่งเขียนเอง แบบบ้านนี้ต้องเขียนให้เห็นสเกลชัดเจน ให้ช่างสามารถทำตามแบบได้ เพราะเราไม่ได้อยู่เฝ้าทุกวัน 5 วันมาที เวลาเราไม่อยู่ ไม่มีใครดูงาน คนงานชอบทำตามความเคยชิน พอมาทีก็สั่งแก้ที อันไหนปล่อยได้ก็ปล่อย แต่บางอันเขาก็ทำดีกว่าที่เราคิด “
ต่อชั้นไม้ออกมาจากโครงบ้านใช้เป็นโต๊ะเขียนหนังสือขนาดใหญ่ เปิดรับลมชมวิวต้นไม้เขียว ๆ
ระเบียงที่ต่อยื่นออกมาทั้งสองฝั่งของบ้าน สามารถเลือกใช้งานในแต่ละช่วงเวลา ผนังประกอบขึ้นจากกิ่งก้านไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ที่เหลือจากการสร้างบ้าน เกิดเป็นลวดลายตามการจัดวาง
“ บ้านนี้ไม่ได้พักตลอด อยากมาก็มา อารมณ์เหมือนรีสอร์ต แต่ก็ถือว่ามาบ่อยนะ อาทิตย์ละ 3 – 4 วัน มาพักผ่อนด้วย มาดูสวนยางด้วย มาปาร์ตี้กับครอบครัว กับเพื่อน ๆ ยิ่งช่วงหน้าหนาวจะยิ่งมาบ่อย แล้วที่นี่จะหนาวมากบางทีตอนนอนต้องใส่เสื้อสามชั้น ปิดทุกช่องทุกทางก็ยังหนาว เหมือนนอนอยู่ในตู้เย็นเลย ที่นี่สงบดีนะ กลางคืนไม่มีเสียงอะไรเลย เงียบกริบ ทุ่มสองทุ่มก็มืดสนิทละ ตกดึกก็จะเริ่มเห็นแสงไฟแวบ ๆ จากหมวกคนงานที่ออกมากรีดยางถ้ามีดาวตกนี่มองเห็นหมดเลย เสียงหมาเห่า เสียงไก่ขันจากบ้านไกล ๆ ออกไปนอนดูหนังกันกลางบ้าน ลืมเวลาไปจนเช้า ”
โครงสร้างหลังคาแบบ Dormer ที่มีการยกหลังคาเป็นสองระดับ เกิดเป็นเส้นสายที่น่าสนใจ หลังคาสองชั้นช่วยถ่ายเทอากาศร้อน
ที่ยกตัวสูงออกทางด้านบน และเพิ่มแสงสว่างให้กับบ้านในช่วงกลางวัน
ส่วนพื้นที่สร้างให้ยื่นออกมาจากตัวบ้านเล็กน้อยสำหรับวางของตกแต่ง และวางรองเท้าได้อย่างเป็นระเบียบ
ตู้เสื้อผ้าแบบง่าย ๆ เพียงกั้นผนังติดราวแขวนเข้าไปก็เรียบร้อย
ใช้กิ่งก้านของต้นไม้เสียบเพิ่มเข้าไปในลำต้นใหญ่กลายเป็นที่เก็บแก้วน้ำ
เจ้าของ : ครอบครัวเฮงรัศมี
ออกแบบ : คุณธิติ เฮงรัศมี
เรื่อง : jOhe
ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู , อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : เกษม์จงกล พูลล้น
บ้านไม้หลังเล็กริมสระบัว ได้อารมณ์บ้านต่างจังหวัด ทั้งที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ
บ้านไม้หลังเล็กของครูแตงโม บ้าน..ที่เป็นโรงเรียนขนาดพอดี