KPIS KINDERGARTEN แปลงโฉมพื้นที่เล่น ยกระดับการเรียนรู้

ห้องเรียนสำหรับเด็กเล็กระดับก่อนวัยเรียนถึงชั้นอนุบาลของ KPIS International School ได้รับการแปลงโฉมใหม่ให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ โดยเน้นการกระจายพื้นที่ “เล่น” ให้กว้างขวาง และมีรูปแบบที่หลากหลาย พร้อมกับแก้ไขปัญหาการจัดเก็บของในพื้นที่จำกัด เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Please Feel Invited

KPIS International School หรือโรงเรียนนานาชาติกีรพัฒน์ นำเสนอโครงการปรับปรุงห้องเรียนสำหรับเด็กเล็กระดับก่อนวัยเรียนถึงชั้นอนุบาล โดยเป็นการเปลี่ยนโฉมห้องเรียน 2 ชั้น ขนาดรวมราว 1,400 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิดการสร้างพื้นที่ “เล่น” ให้กับเด็กวัยกำลังเรียนรู้ เน้นกระจายพื้นที่เล่นให้เด็ก ๆ ให้มากที่สุด

“เวลาที่เราทำงานออกแบบ เราจะใช้หลักเหตุผลต่าง ๆ มากมายใช่ไหมครับ แต่สำหรับเด็ก ๆ เขาไม่ได้สนใจหลักเหตุผลที่เราใช้หรอก เขาเพียงแค่อยากเล่น อยากสนุก อยากเรียนรู้”

คุณธัชพล ธนบุญชัย และ คุณมนุเชษฐ์ ไชยโย จากสตูดิโอออกแบบ Please Feel Invited กล่าวถึงแนวคิด “การกระจาย” พื้นที่เล่นให้เด็ก ๆ ให้มากที่สุด แม้อาจจะไม่สามารถวิเคราะห์หรือวัดผลได้ในระยะเวลาอันสั้นว่ามีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ช่วยเพิ่มความสนุกได้ทันที

“ถามว่าเด็ก ๆ รู้จักความสวยงามอย่างผู้ใหญ่ไหม ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าถามว่า สิ่งที่เด็ก ๆ น่าจะรับรู้ได้คงเป็นความน่ารักของพื้นที่เวลาเห็นมุมโค้ง ๆ หรือภาพการ์ตูนเขาก็น่าจะรู้สึกมีความสุข จากเดิมที่พื้นที่เล่นสนุกต้องเกาะกลุ่มกันเป็นกระจุก แต่เมื่อเรากระจายมุมเล่นออกไป ตอนนี้เขาจะเดินมาเล่นตรงไหนก็ได้” 

KPIS
ฟังก์ชันใหม่อันหนึ่งจากการปรับปรุงคือ การมีห้องฉายภาพยนตร์ ซึ่งมักใช้เป็นห้องสำหรับการเรียนการสอน และนันทนาการที่มีสื่อแบบวิดีโอมาเกี่ยวข้อง โดยห้องจะรองรับนักเรียนได้ประมาณ 10 – 20 คน
KPIS
ภายในโถงนี้มีบริเวณพื้นยกสูงที่เรียกว่าเป็นส่วน Passive Activity สำหรับใช้ทำกิจกรรมเบา ๆ ของเด็ก ๆ เช่น การอ่านหนังสือ นั่งต่อตัวต่อแยกจากที่ว่างรอบ ๆ ที่เด็ก ๆ มักใช้วิ่งเล่น
KPIS
โถงทางเข้าแรกของห้องเรียนสถาปนิกเปลี่ยนเสาที่เคยเป็นสี่เหลี่ยม ในโถงให้เป็นทรงกระบอกเพื่อสร้างความกลมกลืนและลดอันตรายของเสาที่เป็นเหลี่ยมมุม

พื้นที่เรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทั้งคุณครู และนักเรียน

“สำหรับเด็ก ๆ เขาต้องการสนามเด็กเล่นส่วนครูกลับต้องการพื้นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ”

แนวคิดการออกแบบเบื้องต้นของสถานที่นี้แบ่งออกเป็น 2 แนวคิดหลัก ๆ คือ 1. การแก้ปัญหาพื้นที่เดิม ได้แก่เรื่องการจัดเก็บของในพื้นที่จำกัด การใช้งานพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่เป็นระบบ รวมถึงปัญหายิบย่อยอื่น ๆ 2. การสร้างพื้นที่ “เล่น” ให้กับเด็ก ๆ โดยมีการใช้การออกแบบสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยการแก้ปัญหาในข้อแรก ขณะที่ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องพื้นที่เก็บของไม่เพียงพอนั้น สถาปนิกได้ใช้เครื่องมือการออกแบบอันหนึ่งที่น่าสนใจมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นแกนหลักของการปรับปรุงพื้นที่ภาพรวมทั้งหมดของโรงเรียนก็ว่าได้

ผนังสำหรับการ “เล่น”

“เราใช้การออกแบบลงบนผนังหนา 10 เซนติเมตรที่มีอยู่เดิม โดยบูรณาการสองความต้องการนั้นลงไปในพื้นที่ ทั้งพื้นที่สำหรับเล่นและช่องเก็บของ โดยให้อยู่ในผนังขนาด 30 เซนติเมตร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมด” 

ผนังดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “WALLPLAY” เป็นเครื่องมือการออกแบบผนังหน้าห้องเรียนและห้องต่าง ๆ ให้มีฟังก์ชันการใช้งานคุ้มค่าแทนการเป็นผนังทึบทั่วไป โดยใช้ในรูปแบบช่องและแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงแตกต่างกันไป มีเส้นโค้งแบบ Arch เป็นส่วนประกอบ โดยบรรจุอยู่ในผนังแต่ละด้านแบบไม่ซ้ำกันแผ่นป้ายนี้บางช่องใช้เป็นช่องเก็บของบางช่องเป็นป้ายประชาสัมพันธ์ บางช่องเป็นพื้นที่ถอดรองเท้าของเด็ก ๆ จากแต่เดิมที่เคยวางเรียงรายระเกะระกะอยู่บนพื้นริมทางเดิน เปลี่ยนมาจัดเก็บลงในแต่ละช่องให้เป็นระเบียบขึ้น แถมยังรวมฟังก์ชันการ “เล่น” อันเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่สำคัญอีกหัวข้อหนึ่งลงไปด้วย

KPIS
ผนัง “WALL-PLAY” เป็นคอนเซ็ปต์หลักของการออกแบบ โดยนอกจากจะเป็นช่องเก็บของ และช่องของเล่นแล้ว ช่องโค้งต่าง ๆ ยังเป็นช่องประตูเข้าสู่ห้องเรียนที่ออกแบบให้กลมกลืนกัน

เนื่องจากเป็นงานที่สถาปนิกต้องทำงานร่วมกับโรงเรียน ฉะนั้นจึงต้องสอดแทรกวิธีการเล่นลงไปในพื้นที่จุดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่งตรงตามงานวิจัยต่าง ๆโดยแบ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่ พื้นผิว (Texture) การเคลื่อนไหว (Movement) สาเหตุและผลลัพธ์ (Cause & Effect) ตัวต่อหรือของเล่นฝึกเชาวน์แนวทาง Montessori Construction Block และผนังปริศนาเพื่อฝึกประสาทสัมผัส (Discovery) เช่น การสัมผัส และดมกลิ่นวิธีการเล่นจึงออกมาในรูปแบบของแผ่นป้ายทรงโค้งและวงกลมแบบต่าง ๆ ที่บรรจุเข้าไปในแต่ละช่องของผนัง นอกจากนี้ยังมีบางแผ่นป้ายใช้เป็นกระดานไวท์บอร์ด และบางอันเป็นกระดานแม่เหล็กสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ

สิ่งที่น่าสนใจยังอยู่ที่แนวคิดการใช้ “ความสูง” มาเป็นตัวกำหนดการใช้งานของแต่ละช่อง เช่น ช่องเก็บของสำหรับครูจะอย่สูงจากระดับ 1.40 เมตรขึ้นไปถึง 2.80 เมตร แต่ช่องของเล่นสำหรับเด็ก ๆ จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.40 เมตรลงไป และของเล่นบางอย่าง เช่น Construction Block มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพื่อให้เล่นได้ ซึ่งจะอยู่สูงกว่า ของเล่นประเภท Discovery ที่เน้นการสัมผัสและส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเหล่าเด็กเล็กโดยสรุป ระบบผนังนี้นอกจากจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างให้กับโรงเรียนยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังส่งเสริมพัฒนาการผ่านการเล่นได้อย่างมีชีวิตชีวา ช่วยให้โรงเรียนสามารถสื่อสารความมุ่งหมายด้านพัฒนาการการเรียนรู้ของโรงเรียนได้อย่างชัดเจน

ช่องทางเดินเข้าสู่ห้องเรียนบนชั้น 2 วางฟังก์ชันตามแผนผังเดิม แต่ปรับปรุงผนังด้วยเครื่องมือ “WALL-PLAY” เสริมฟังก์ชันใหม่ ๆ
KPIS
พื้นที่บนชั้น 2 เป็นชั้นของเด็กโต มีโถงตรงกลางที่ออกแบบให้เป็นลานอัฒจันทร์ขนาดย่อม ๆ พร้อมเคาน์เตอร์ที่ล้อมพื้นที่เป็นมุมอเนกประสงค์ที่ใช้รวมตัวกันของเด็ก ๆ ในทุกโอกาส

โรงเรียนนานาชาติกีรพัฒน์

58 หมู่ที่ 9 ซอยรามอินทรา 34 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ

โทร. 0-2943-7790 (www.kpis.ac.th)

——

เรื่อง: กรกฎา 

ภาพ นันทิยา, พิวัสส์ ชีวกิตติกุล

ออกแบบ: Please Feel Invited 

ที่ปรึกษาด้านการเรียนรู้: KPIS, Little Lot


โรงเรียน ที่เน้นเล่นเพื่อเรียน(รู้) Kensington Learning Space