บ้านอิฐ

P HOUSE บ้านอิฐดินเผา ที่เย็นสบายด้วยวัสดุและแนวคิดแบบยั่งยืน

บ้านอิฐ
บ้านอิฐ

โปรเจ็กต์การออกแบบ บ้านอิฐดินเผา ในนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม พร้อมโจทย์การออกแบบที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน ผ่านการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับการออกแบบพื้นที่เพื่อให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

P House หรือ บ้านอิฐดินเผา หลังนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ T H I A architecture ซึ่งมาพร้อมกับโจทย์ที่สร้างความท้าทายให้แก่สถาปนิกไม่น้อย เนื่องจากทำเลที่ตั้งมีความกว้างแค่เพียง 4.3 x 15 เมตร แถมยังถูกขนาบข้างด้วยอาคารเพื่อนบ้านและโรงงานเก่าทั้งสองด้าน ทำให้มีช่องเปิดมีอยู่แค่เฉพาะพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น การออกแบบจึงต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดโปร่งและแสงสว่างเป็นสำคัญ สถาปนิกจึงได้จัดการแก้ปัญหาทางกายภาพของที่ตั้ง ไปพร้อมกับการเน้นใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน โดยส่วนใหญ่เป็นวัสดุทำมาจากธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง เช่น อิฐ ไม้ และคอนกรีต ซึ่งสัมพันธ์กับธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ ช่วยให้บ้านมีทั้งความสวยงามและอยู่สบาย

บ้านอิฐ

รูปลักษณ์ของอาคารมีจุดโดดเด่นคือ เปลือกอาคารอิฐดินเผาสีส้ม ที่ออกแบบให้มีระยะยื่นออกจากตัวบ้าน เพื่อไม่ให้แดดส่องเข้ามาถึงภายในบ้านโดยตรง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นราวระเบียงและแผงกันแดดที่มีการจัดเรียงอิฐเป็นแพตเทิร์นง่าย ๆ โดยในวันอากาศดีสามารถเปิดผนังกระจกบานเลื่อนที่ซ้อนอยู่หลังระเบียงของแต่ละชั้นออกได้จนสุด เพื่อให้ลมพัดพานำความเย็นสบายและถ่ายเทความร้อน ขณะที่สีส้มของอิฐดูตัดกับใบไม้สีเขียวของพรรณไม้เลื้อยที่ห้อยระย้าลงมาจากระเบียงหลังคาเหนือพื้นที่จอดรถ ช่วยให้เกิดมุมมองที่สดชื่นสบายตา ลดความแข็งกระด้างจากวัสดุและอาคารทรงเหลี่ยมได้เป็นอย่างดี

เมื่อเข้ามาภายในตัวบ้าน ชั้น 1 จะพบกับลานโล่งที่เชื่อมต่อกับคอร์ตสวนหลังบ้าน ก่อนจะขึ้นมาที่ชั้น 2 ชั้นนี้ประกอบด้วยมุมโซฟาสำหรับพักผ่อน โต๊ะรับประทานอาหาร และแพนทรี่ครัวแบบบิลท์อิน ที่เปิดพื้นที่แบบเปิดโล่ง ให้สามารถรับแสงและลมเย็นสบายที่พัดเข้ามาจากระเบียงได้เต็มที่ ส่วนชั้น 3 ออกแบบให้ห้องนอนใหญ่อยู่บริเวณโซนหน้าบ้าน ด้านหลังทำมุมสำหรับนั่งทำงานที่เปิดออกสู่สวนผักบนหลังคา กับการก่อกระบะปูนขึ้นมาง่าย ๆ เรียงต่อกันตามแนวลาดเอียงของหลังคา เป็นไอเดียสวนผักสำหรับคนเมืองที่สามารถเก็บผักมารับประทานได้อย่างปลอดภัย และประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน นอกจากนั้นบ้านนี้ยังทำช่องแสงสกายไลท์ที่หลังคาด้านบน เพื่อนำพาแสงสว่างลงมาตามช่องบันได ก่อนจะติดตั้งแผงไม้ระแนงสำหรับกรองแสง และกลายเป็นแพตเทิร์นช่วยตกแต่งฝ้าเพดานไปในตัว

      

การที่ทุก ๆ พื้นที่ในบ้านได้รับการออกมาอย่างดี ทั้งในแง่ของการเลือกใช้วัสดุ รวมถึงเทคนิคการออกแบบที่คำนึงถึงการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และการวางผังพื้นที่ใช้สอยในบ้าน ต่างช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้บ้านหน้าแคบหลังนี้รู้สึกได้ถึงความปลอดโปร่งไปพร้อม ๆ กับความเป็นส่วนตัว ที่สำคัญยังช่วยลดการพึ่งพาเครื่องปรับอากาศและพลังงานไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ

ออกแบบ : T H I A architecture https://www.facebook.com/T-H-I-A-architecture-110430953836476
ภาพ : Quang Tran
เรียบเรียง : Phattaraphon

LAYERS HOUSE ถอดรหัสบ้านตึกแถวสู่บ้านเดี่ยวโมเดิร์น