คอนโดเก่าเมื่อนำมาปรับปรุงใหม่ ด้วยฝีมือของหญิงสาวที่ชื่นชอบความเก่าที่แสนคลาสสิก ผสมผสานกับความเป็น Loft การ รีโนเวท คอนโด เก่าให้สวยเหมือนใหม่ ใส่ดีไซน์เท่ๆที่บ่งบอกความเป็นตัวตน ยิ่งทำให้บ้านนี้น่าอยู่ขึ้นมาอีกครั้ง

คอนโดมือสองขนาด 125 ตารางเมตร เมื่อถูกเปลี่ยนมือมาสู่เจ้าของคนใหม่ การรีโนเวทให้ตรงใจ และ การใช้งานเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเจ้าของห้อง คุณปิ๊ง – มัณฑนา เลิศกรกิจจา Creative Designer และเป็นเจ้าของ the hidden yard co., ltd หญิงสาวที่มีความสูงถึง 174 cm และมีสไตล์ที่ชื่นชอบอยู่ในใจ ตัดสินใจลงมือ รีโนเวท คอนโด ด้วยตัวเอง และ ตั้งชื่อให้บ้านหลังนี้ว่า Cave no.18 “ตั้งแต่เด็กจนโต ย้ายที่อยู่ถี่มาก ตั้งแต่ประถม มัธยม จนมหาลัย ครั้งนี้คือครั้งที่ 18 ไม่ได้ชอบการย้ายบ้านนะ แต่มักจะมีเหตุให้ต้องย้ายมาตลอด จริงๆอยากเป็นคนติดที่ และ คิดว่าครั้งนี้น่าจะอยู่ที่นี่อีกยาวๆ”


ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 2 ปี เมื่องานที่ทำเริ่มขยับขยาย การอยู่ในคอนโดพื้นที่ 30 ตารางเมตร ก็ดูจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน “เมื่องานเริ่มขยาย ก็อยากมีห้องสำหรับให้ลูกน้องมานั่งทำงาน มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น ก็มองหาคอนโดเก่า เพราะโครงสร้างแข็งแรง และ สเปซใหญ่ แต่ถ้าด้วยขนาดเท่านี้ ย่านใจกลางเมือง ราคาน่าจะพุ่งไปแตะ 10 ล้าน ก็ขยับออกมาหน่อย เกือบๆบ้านนอกแล้ว เปิดเข้ามาเห็นวิว คือชอบห้องนี้เลย ไม่ต้องดูห้องอื่น แต่ก็ยังไม่ตัดใจสินใจซื้อ ขอแปลนบ้านเค้ามาแกะก่อน เค้าก็ให้มาเป็นกระดาษเราก็เอามาขึ้นในโปรแกรม Illustrator วางตำแหน่งเตียงเช็คทิศก่อนเป็นอย่างแรก ค่อยๆวางแปลนแยกเป็นส่วนๆ คือเราไม่เคยมีประสบการณ์การทำบ้านมาก่อน ก็ดูตามพื้นที่จริง ดูความเป็นไปได้ พอได้แปลนคร่าวๆก็ปรึกษารุ่นพี่ที่เป็น อินทีเรีย และ สถาปนิค ส่วนเราก็ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม”

“ตั้งใจซื้อคอนโดเก่ามารีโนเวท จะได้ไม่รู้สึกเสียดายของ ห้องไม่ต้องสภาพดี ไม่ต้อง fully furnished เพราะตั้งใจซื้อมาเพื่อรื้อ”



เมื่อตั้งต้นด้วยสไตล์ที่ชอบ และ มีภาพในหัวที่ชัดเจน การออกแบบให้ตรงตามใจก็ไม่ใช่เรื่องยาก “ไม่ชอบความโมเดิร์น แต่ไม่ลอฟท์เกินไป ชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์นอร์ดิก แต่ไม่ชอบงานบิลท์อิน ชอบงานแนว Mid-Century Loft ที่ออกแนวลอฟท์แต่ลดความดิบลง ให้อยู่ได้ง่ายขึ้น และ ยังดูคลีนๆหน่อย สไตล์มาจากความชอบของเรา สีขาว เทา ดำ น้ำตาล เฟอร์นิเจอร์เป็นงานเหล็ก กับงานไม้ สไตล์สแกนดิเนเวียร์ ก็จะมีทั้งงานเลียนแบบของเก่า และ ของใหม่ที่ดูทันสมัย ส่วนมากจะใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เพราะเป็นคนชอบจัดบ้าน ความไม่ตายตัวของมัน ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด รู้สึกว่าบิลท์อินเป็นเรื่องของแฟชั่น วันนี้ฮิตสีไม้อ่อน ถัดไปถ้าฮิตอย่างอื่น เราก็คงไม่อยากเสียเงินเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นตู้ เราสามารถเปลี่ยนเป็นตู้แบบอื่นได้เลย”

“ข้อดีของการทำบ้านเองคือ มันจะตอบสนองความต้องการของเราทุกอย่าง เพราะออกแบบจากการใช้งานของเราเอง”





“ข้อดีของการทำบ้านเองคือ มันจะตอบสนองความต้องการเราทุกอย่าง ว่าเราใช้ชีวิตแบบไหน อย่างครัวที่ออกแบบเคาน์เตอร์ให้มีความสูงที่ 95 cm เพราะตัวสูงกันทั้งบ้าน แต่ตอนบ้านเก่าเคาน์เตอร์เตี้ยกว่านี้ ทุกคนต้องก้มล้างจาน ทีนี้พอทำบ้านตัวเอง ก็ออกแบบให้พอดีกับความสูงเรา ถึงไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ แต่พอทำบ้าน ก็ต้องศึกษาหาข้อมูล เพราะไม่อยากให้ความไม่รู้ของเราทำให้บ้านออกมาไม่ดี เราเป็นคนที่ทำครัวแบบจริงจัง ครัวที่คอนโดเก่าเล็กนิดเดียว พอมาหลังนี้เลยขอจัดเต็ม สเก็ตไว้ก่อนเลยว่า เครื่องปรุงจะต้องอยู่ตรงนี้ เตาอยู่ตรงนี้ ถังขยะวางตรงนี้ แล้วถามตัวเองว่า ครัวแบบนี้ใช่มั้ยที่เราจะใช้ แก้ไปเรื่อยๆจนได้ครัวที่เป็นของเรา”




ในทุกมุมของบ้าน มีการจัดวางข้าวของที่ดูกลมกลืนไปกับมุมต่างๆ ทั้งรูปภาพ งานศิลปะ ภาพวาด ที่ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศความเก๋ให้กับบ้าน และ รวมไปถึงของตกแต่งชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่จัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ
“เป็นคนที่มีปัญหาเรื่องซื้อของซ้ำ เพราะจำไม่ได้ว่าเคยมี จึงแก้ปัญหาโดยจัดวางของใช้แบบของโชว์ อย่างน้อยทำให้เรามองเห็น และ รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ถ้าเก็บไว้ในตู้เราก็จะซื้อซ้ำมาอีก บ้านควรจะมีแต่ของที่เราได้ใช้จริงๆ อย่างเราสะสมแก้ว คือแก้วจะได้ใช้ หรือถ้าเป็นของสะสม เราได้มองเห็นมีความสุข แต่ถ้ามาวางให้ฝุ่นเกาะเฉยๆ ก็ไม่เอา การจัดบ้านพอได้ดูเยอะๆ จะทำให้รู้ว่าการจัดเป็นนกลุ่มก้อน ควรมีระดับความสูงแตกต่างกัน ไม่ใช่สูงเท่ากันไปทุกชิ้น หรือกลุ่มสีนี้อยู่ด้วยกันได้ หรือสีแบบนี้ไม่ได้ ความบาลานซ์เป็นเรื่องของคอมโพสที่มองเห็น และ เข้าใจได้” เรื่องราวของการรีโนเวทบ้านหลังนี้ยิ่งฟังยิ่งเพลิน เหมือนเป็นการเดินทางสนุกๆเรื่องหนึ่งที่ยังคงดำเนินต่อไป เพราะเจ้าของห้องยังคงมีไอเดียใหม่ๆที่อยากลองจัด ลองทำอยู่เสมอ บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับเจ้าของบ้านหลังนี้ ส่งต่อพลังความสุข และ ความภูมิใจในฝีมือการรีโนเวทบ้านของคนที่ไม่เคยทำมาก่อนได้อย่างชัดเจน





เจ้าของ – ออกแบบ คุณมัณฑนา เลิศกรกิจจา
เรื่อง jOhe
ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์