“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นภาษีใหม่ที่มีผลบังคับตั้งแต่ปี 2562 และเริ่มจัดเก็บเมื่อปี 2563 โดยมาแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งถูกยกเลิกไป เพื่อปรับปรุงระบบภาษีเดิม และกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในปี 2564 ได้มีการมาตรการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้
1.ลดอัตราภาษีที่ดินฯ ลง 90% และลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองลงเหลือ 0.01%
- ที่ดินประกอบการเกษตร ภาษีที่ดิน
– บุคคลธรรมดา 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี
– นิติบุคคล เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.01 หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคา 5 ล้านบาท คิดเป็นภาษี 500 บาท ก็จะชำระเพียง 50 บาท
- ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย
– บ้านหลังหลัก ที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในทะเบียนบ้าน หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี
– กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้น
– บ้านหลังอื่น หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคา 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 คิดเป็นภาษี 1,000 บาท ก็จะชำระเพียง 100 บาท
- ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม
หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างราคา 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 คิดเป็นภาษี 15,000 บาท ก็จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท
2.ขยายเวลาดำเนินการจัดเก็บและชำระภาษี
มีการขยายเวลาการดำเนินการ ภาษีที่ดิน ดังนี้
- ก่อน 1 เมษายน 2564 อปท. จะประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี
- ภายในเมษายน 2564 อปท. จะแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี
- ภายในมิถุนายน 2564 ผู้เสียภาษี จะต้องชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี
- ภายในมิถุนายน – สิงหาคม 2564 ผู้เสียภาษี สามารถผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 งวด โดย
-งวดที่ 1 ชำระภายในเดือนมิถุนายน
-งวดที่ 2 ชำระภายในเดือนกรกฎาคม
-งวดที่ 3 ชำระภายในเดือนสิงหาคม
- ภายในกรกฎาคม 2564 อปท. จะมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ
- ภายในสิงหาคม 2564 อปท. แจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำงานที่ดินสาขา
หมายเหตุ อปท. คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง = มูลค่าของฐานภาษี x อัตราภาษี
(มูลค่าของฐานภาษี = มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น)
อัตราภาษี (อัตราปกติ) และการแบ่งประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
มีการแบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 4 ประเภท คือ เกษตรกรรม บ้านพักอาศัย ที่รกร้างว่างเปล่า และที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เกษตรกรรม
การใช้ที่ดินเกษตรกรรม เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม หากเป็นทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่จะคิดการเสียภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมจำแนกประเภทเกษตรกรรมเป็น 3 ประเภท
1.ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช
2.ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์
3.ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือทำการประมง
ที่ดินเกษตรกรรมต้องปลูกต้นไม้กี่ต้น/เลี้ยงสัตว์กี่ตัว
มีข้อสงสัยว่าต้องปลูกต้นไม้จำนวนกี่ต้นต่อไร่ ถึงจะเป็นการใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม กรณีปลูกน้อยกว่าที่กำหนดต้องพิจารณาขนาดแปลงที่ดิน รวมทั้งจำนวนต้นที่ปลูก ส่วนที่ไม่เข้าเกณฑ์จะถือเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ โดยมีตัวอย่างดังนี้
- กล้วย 200 ต้น/ไร่
- มะม่วง มะพร้าว เงาะ 20 ต้น/ไร่
- มะละกอ ปลูกแบบยกร่อง 100 ต้น/ไร่ ปลูกแบบไม่ยกร่อง 175 ต้น/ไร่
- มะนาว 50 ต้น/ไร่
- ฝรั่ง 45 ต้น/ไร่
- ผลไม้ตระกูลส้ม 45 ต้น/ไร่
- ขนุน 25 ต้น/ไร่
- เสาวรส 400 ต้น/ไร่
- หน่อไม้ไผ่ตง 25 ต้น/ไร่
- ลางสาด ลองกอง 45 ต้น/ไร่
- ยางพารา 80 ต้น/ไร่
- ลิ้นจี่ ลำไย 20 ต้น/ไร่
- มังคุด 16 ต้น/ไร
- พุทรา 80 ต้น/ไร่
- ถ้าเป็นการเลี้ยงสัตว์ โค กระบือ พื้นที่คอกหรือโรงเรือน ขนาด 7 ตารางเมตร/ตัว การใช้ที่ดิน 1 ตัว/ 5 ไร่
- เลี้ยงแพะ-แกะ พื้นที่คอกหรือโรงเรือนขนาด 2 ตารางเมตร/ตัว การใช้ที่ดิน 1 ตัว/ไร่
- สุกร พ่อพันธุ์ คอกเดี่ยว พื้นที่คอกหรือโรงเรือน ขนาด 7.5 ตารางเมตร/ตัว, สุกรแม่พันธุ์ คอกเดี่ยว พื้นที่คอกหรือโรงเรือนขนาด 1.5 ตารางเมตร/ตัว, สุกรอนุบาล พื้นที่คอกหรือโรงเรือนขนาด 0.5 ตารางเมตร/ตัว, สุกรขุน พื้นที่คอกหรือโรงเรือนขนาด 1.5 ตารางเมตร/ตัว
- สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่) 4 ตารางเมตร/ตัว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
บ้านพักอาศัย
เป็นการใช้ที่ดินเพื่อให้บุคคลอยู่อาศัย เช่น บ้าน ตึกแถว ห้องชุด ยกเว้นที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินหรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด, โรงแรม และที่พักชั่วคราวโดยมีค่าตอบแทน แต่ไม่รวมถึงที่ให้บริการเป็นรายเดือนขึ้นไปหรือโฮมสเตย์ไทย
มีการแยกเป็นบ้านพักอาศัยที่เป็น บ้านหลังหลักและบ้านหลังอื่นๆ ซึ่งมีการคิดอัตราภาษีต่างกัน โดยมีวิธีการแยกประเภทดังนี้
- บ้านหลังหลัก คือ การเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน หรือเป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้าน (สร้างในที่ดินคนอื่น) โดยมีชื่อในเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์และมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้านหรือเจ้าของคนใดคนหนึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้าน) ทั้งนี้ เจ้าของบ้านจะใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังหลักได้คนละ 1 หลังเท่านั้น
- บ้านหลังอื่นๆ เจ้าของบ้านมีชื่อในโฉนด/กรรมสิทธิ์ห้องชุด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังนั้น
ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ
เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินนอกเหนือจากที่กำหนด เช่น พาณิชยกรรม, อุตสาหกรรม, อาคารสำนักงาน, โรงแรม, ร้านอาหาร ฯลฯ
ที่รกร้างว่างเปล่า
เป็นที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หรือทิ้งรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้าปีภาษี ยกเว้นที่ดินซึ่งมีกฎหมายห้ามหรือให้ทิ้งไว้เพื่อการเกษตร หรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ
ที่มา : สาระสำคัญ พรบ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
อ่านเรื่องที่น่าสนใจ