ประเภท และ ความสำคัญของการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยง

หากสุนัข หรือแมวที่เราเลี้ยงอยู่ในบ้านตลอด ไม่เคยได้ออกไปไหน หรือที่ทุกคนเรียก การดูแลแบบนี้ว่า “ระบบปิด” หรือแบบ Indoor ยังจะจำเป็นต้องให้น้อง ๆ ได้รับการฉีดวัคซีน หรือไม่

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองของน้อง ๆ หลายท่านคงเคยมีความสงสัยกันว่า การฉีดวัคซีนในลูกขนปุยของเราจำเป็นจะต้องทำไหม ควรจะทำแบบไหน เมื่อไหร่บ้าง ถึงจะดีกับลูก ๆ ของเรามาที่สุด วันนี้ บ้านและสวน Pets มาไขข้อข้องใจกับประเภท วิธีการ และ ความสำคัญของการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยง กันค่ะ

ต้องบอกตามตรงว่า การฉีดวัคซีนใน สุนัข และแมว รวมถึงสัตว์พิเศษบางชนิด (Exotic pet) นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคร้ายแรงบางโรคหากติดแล้วอาจจะไม่มีทางรักษาให้หายได้ บางโรคก่อความผิดปกติ อาการรุนแรง รักษาได้ยากถึงแม้จะใช้ยา และนวัตกรรมที่ดีที่สุด ก็ทำได้อย่างยากลำบาก และอาจจะพรากชีวิตสมาชิกที่เรารักไปอย่างรวดเร็ว โดยโรคร้ายแรงเหล่านั้นล้วนประกอบอยู่ในวัคซีนป้องกันโรคหลัก ที่น้องหมา น้องแมวควรได้รับ นอกจากนี้โรคบางอย่างนอกจากจะเป็นอันตรายต่อตัวน้อง ๆ เองแล้ว ยังสามารถส่งผ่าน ติดต่อมายังคน ก่อโรค อาการที่รุนแรง และอันตรายได้ด้วยเช่นกัน การฉีดวัคซีนให้กับน้องหมา น้องแมว นอกจจากจะป้องกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงที่เรารักแล้ว ในบางครั้งยังเป็นการป้องกันโรคร้ายไม่ให้ติดต่อมายังคนได้ด้วยค่ะ

ในปัจจุบันการผลิตวัคซีนในสุนัข และแมวมีการพัฒนา ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยที่สูงมาก สามารถป้องกันการติดเชื้อ และการเกิดโรคได้มากกว่า 98% ในวัคซีนหลักบางชนิดที่ได้รับการฉีดกระตุ้นอย่างเหมาะสม

วัคซีนที่กำหนดให้เป็นวัคซีนหลัก (Core Vaccine) ในสุนัข : ที่ควรทำในสุนัขทุกตัว จะประกอบด้วยโรคสำคัญ คือ

  1. โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper Virus, CDV)
  2. โรคลำไส้อักเสบ หรือ โรคพาร์โวไวรัส (Canine Parvo virus, CPV)
  3. โรคตับอักเสบ (Infectious Canine Hepatitis) ซึ่งเกิดจากเชื้ออะดิโนไวรัส (Canine Adenovirus, CAV)
  4. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) **กำหนดให้เป็นวัคซีนหลักในประเทศไทย เนื่องจากยังมีการระบาดของโรคในพื้นที่

วัคซีนทางเลือก (Non-core vaccine) ในสุนัข : พิจารณาจากข้อมูลการระบาดในแต่ละพื้นที่

  1. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ จากพาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Canine Parainfluenza virus, CPiV)
  2. โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส จากเชื้อแบคทีเรีย Leptospira interrogans
  3. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ จากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella bronchiseptica

ส่วนของวัคซีนหลัก (Core Vaccine) ในแมว : ที่ควรทำในแมวทุกตัว จะประกอบด้วยโรคสำคัญ คือ

  1. โรคไข้หัดแมว (Feline Parvo virus, FPV)
  2. โรคหวัดจากเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (Feline Herpesvirus-1, FHV-1)
  3. โรคหวัดจากแคลิซิไวรัส (Feline Calicivirus, FCV)
  4. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) **กำหนดให้เป็นวัคซีนหลักในประเทศไทย เนื่องจากยังมีการระบาดของโรคในพื้นที่

วัคซีนทางเลือก (Non-core vaccine) ในแมว : พิจารณาจากข้อมูลการระบาดในแต่ละพื้นที่

  1. โรคลิวคีเมียในแมว (Feline Leukemia Virus)
  2. โรคติดเชื้อคลาไมเดียในแมว จากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydophila felis ซึ่งทำให้เกิดอาการระบบทางเดินหายใจส่วนต้น และเยื่อบุตาอักเสบ

การฉีดวัคซีนนั้นจะเริ่มทำเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ตามชนิดของวัคซีน โดยการเริ่มฉีดวัคซีน ควรอยู่ในดุลพินิจของสัตวแพทย์ โดยคุณหมอ จะประเมิณจากอายุ ประวัติ พฤติกรรม ความเสี่ยงของตัวสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ก่อนจะเริ่มโปรแกรมวัคซีนให้กับเด็ก ๆ แต่ละคน บางท่านอาจเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่ควรฉีดวัคซีนในลูกหมา ลูกแมวที่อายุน้อยกว่านี้ ตามข้อมูลความปลอดภัย มีรายงานว่าวัคซีนบางชนิด หากได้รับเร็วเกินไป อาจก่อผลเสียต่อพัฒนาการของลูกสัตว์ และอาจก่อให้เกิดความผิดปกติถาวรได้ ดังนั้นการเริ่มฉีดวัคซีนที่เร็วเกินไปอาจจะก่อผลเสียมากกว่าจะเป็นผลดี

หากสุนัข หรือแมวที่เราเลี้ยงอยู่ในบ้านตลอด ไม่เคยได้ออกไปไหน หรือที่ทุกคนเรียก การดูแลแบบนี้ว่า “ระบบปิด” หรือแบบ Indoor ยังจะจำเป็นต้องให้น้อง ๆ ได้รับการฉีดวัคซีน หรือไม่ แน่นอนว่าระบบปิด ที่ทุกคนเข้าใจกัน น่าจะหมายถึงการที่สัตว์เลี้ยงของเราไม่ได้ออกไปไหน อยู่แต่ในบ้านอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ตัวคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ก็ยังต้องมีเดินทาง เข้า ออก บ้าน อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคกลับเข้ามาในบ้านโดยไม่ตั้งใจ และติดน้อง ๆ ได้เช่นกัน และในวันใดวันหนึ่ง น้อง ๆ เองก็อาจจะต้องมีความจำเป็นได้เดินทางออกไปนอกบ้าน เช่น ไปโรงพยาบาล ไปสถานที่ฝากเลี้ยง/โรงแรมสัตว์ ไปสปา/อาบน้ำ/ตัดขน หรือ เจ้าตัวซนอาจจะแอบหนีออกจากบ้าน หรือกรณีเลวร้าย เช่น ตกใจเสียงพลุ เครื่องเสียง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จนหนีเตลิดออกไปนอกบ้าน หรือวันใดวันหนึ่ง เราอาจจะมีสมาชิกตัวซนใหม่เข้ามาในบ้าน การฉีดวัคซีน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจจะมาติดเด็ก ๆ ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคร้ายอาจจะมีวิธีอื่น ๆ แต่ก็เป็นไปได้ยากมากเช่นกัน นั่นก็คือหลักการณ์ “ภูมิคุ้มกันฝูง” (Herd immunity) คือการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิกันต่อโรคในกลุ่มประชากรของสุนัข และแมว ให้มากกว่า 75% หรือมากกว่านั้น ซึ่งแม้ในประเทศที่มีการจดบันทึกข้อมูลวัคซีนที่ดีอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ยังพบว่าประชากรสุนัข และแมว ยังมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรไม่ถึง 50% ของจำนวนสุนัข และแมวทั้งหมด ซึ่งการที่ประชากรที่มีภูมิคุ้มกันในระดับฝูงสูง ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้การระบาดของโรคเกิดขึ้น และติดต่อมายังน้องหมา น้องแมวของเราได้ ในกรณีนี้ ถ้าน้องหมา น้องแมวของเรามีปัจจัยที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้จริง ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน การป้องกันที่ทำได้ คือการรณรงค์ให้น้องหมา น้องแมวทุกตัวที่สามารถรับวัคซีนได้ ไปฉีดวัคซีนกัน เพราะการป้องกันง่ายกว่าการรักษามาก ดังนั้นพาน้อง ๆ ไปฉีดวัคซีนกันนะคะ

ทำไมถึงต้องฉีดวัคซีนหลายเข็ม

การฉีดวัคซีนในช่วงวัยเด็ก ของน้องหมา น้องแมว จะมีหลายปัจจัยที่คุณหมอต้องพิจารณา แต่ 1 ในปัจจัยสำคัญที่มีผลกับการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็ก ๆ ก็คือ ภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ (Maternal Derived Antibodies, MDA) ซึ่งส่งผ่านมาทางการกินนมน้ำเหลือง (Colostrum) ในช่วง 72 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันในวัยเด็กที่แม่ส่งผ่านมาให้ลูก ภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านมานี้ จะมีมากน้อยในแต่ละตัวไม่เท่ากัน และจะค่อย ๆ ลดระดับลง เมื่อเด็ก ๆ เริ่มโตขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของการฉีดวัคซีนในวัยเด็ก จะต้องทำให้เด็ก ๆ มีภูมิคุ้มกันในระดับที่ป้องกันโรคได้ทันก่อนที่ภูมิคุ้มกันจากแม่จะลดลง จนไม่สามารถป้องกันโรคภัยที่จะเข้ามาทำร้ายเด็ก ๆ การวางแผนในการฉีดวัคซีนจะต้องทำให้ช่วงเวลาที่ลูกสัตว์มีโอกาสติดเชื้อ ในขณะที่ยังไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนได้ (Window of susceptibility) สั้นที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังภาพที่ 1

ความสำคัญของการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยง
ภาพที่ 1 แสดงกราฟระดับของภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ (เส้นสีน้ำเงิน) ที่ค่อยๆลดลงเมื่ออายุของลูกสุนัขเพิ่มมากขึ้น และระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างเองของลูกสุนัข (เส้นสีส้ม) ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นเมื่ออายุของลูกสุนัขเพิ่มมากขึ้นหลังได้รับวัคซีน, กรอบสีน้ำเงินแสดงช่วงเวลาที่ลูกสุนัขมีโอกาสติดเชื้อ ในขณะที่ยังไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนได้ (Window of susceptibility) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่ลูกสัตว์จะติดเชื้อได้ ที่มา: northcentralanimalhospital.com

ระดับภูมิคุ้มกันของแม่จะค่อยๆลดลงเฉลี่ยที่อายุ 8-12 สัปดาห์ หรือนานมากกว่านั้นในลูกสุนัข และแมว ที่ได้รับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นผลดีในการป้องกันโรคให้กับลูกสัตว์ แต่จะมีผลทำให้วัคซีนที่ถูกฉีดให้ลูกสัตว์ ไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองขึ้นได้ เนื่องจากถูกภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ จับทำลายไปหมดจนไม่เกิดการสร้างภูมิของตัวเองขึ้นมา

ภาพที่ 2 แสดงกราฟเปรียบเทียบระดับของภูมิคุ้มกันที่สร้างหลังจากการฉีดวัคซีน ในแต่ละช่วงอายุ เทียบกันระหว่าง ลูกสัตว์ที่ได้รับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ (กราฟบน) กับ ลูกสัตว์ที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ (กราฟล่าง) แสดงให้เห็นว่าการได้รับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ (Maternal Derived Antibodies, MDA) จะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันที่สร้างเองของลูกสัตว์เกิดขึ้นได้ช้าลง ที่มา: veteriankey.com

ในระหว่างที่ภูมิคุ้มกันของแม่ค่อย ๆ ลดลง ลูกสัตว์อาจจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ลูกสัตว์สร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ทันถ่วงที จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งก็คือในช่วงที่ภูมิของแม่กำลังค่อย ๆ หมดลงไป ในระดับที่ไม่สามารถจับทำลายเชื้อจากวัคซีนได้หมด และมีบางส่วนของวัคซีนหลงเหลือให้ร่างกายของลูกสัตว์ได้ทำความรู้จัก และเรียนรู้ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองขึ้นมา แต่ในกรณีที่ลูกสัตว์ที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่เลย การฉีดวัคซีนจะสามารถกระตุ้นให้ลูกสัตว์สร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว และปริมาณมากกว่าลูกสัตว์ที่ได้รับภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ แต่ในช่วงก่อนที่ลูกสัตว์จะมีภูมิคุ้มกันของตัวเองนั้น ลูกสัตว์จะไม่มีภูมิคุ้มกันในการปกป้องตัวเองจากการติดเชื้อ ดังภาพที่ 2

ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงถูกแบ่งเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่เข็มที่ 1 ช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ ไปจนถึง เข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเข็มสุดท้าย ช่วงอายุ 14-16 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในระหว่างอายุดังกล่าว ไม่ว่าภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่จะหมดไปในช่วงใดก็ตาม น้องหมา น้องแมว ของเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ทันถ่วงทีหากได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้วัคซีนบางประเภท ได้แก่ วัคซีนโรคฉี่หนู (Leptospirosis) และ วัคซีนลิวคีเมียในแมว (Feline Leukemia virus, FeLV) ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกในสุนัข และแมวตามลำดับ เป็นวัคซีนที่ต้องได้รับการกระตุ้น 2 เข็ม ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือไม่เกิน 6 สัปดาห์หลังจากกระตุ้นเข็มแรก เพราะเป็นวัคซีนที่มีกลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มวัคซีนหลัก ซึ่งมักเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้ต้องอาศัยการกระตุ้นระบบภูมิต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดการภูมิคุ้มกันในระยะยาว การให้วัคซีนต่อเนื่องกันมากกว่า 1 เข็มในระยะเวลาที่กำหนดจริงจำเป็นอย่างยิ่ง

ประเภทของวัคซีน

ได้เรียนรู้ความสำคัญ การฉีดกระตุ้นวัคซีนไปแล้วทีนี้เรามาดูประเภทของวัคซีนกันบ้างค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง ในส่วนนี้จะกล่าวถึงประเภทของวัคซีนบางประเภท ที่มักพบในการใช้ในสุนัข และแมวค่ะ โดยจะแบ่งตามการผลิต ได้แก่

1.วัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine)

เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ทั้งตัวหรือบางส่วนของเชื้อ โดยทำให้เชื้อตายด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น ความร้อน รังสี หรือสารเคมี แล้วนำมามาทำเป็นวัคซีน โดยวัคซีนประเภทนี้จะต้องให้ปริมาณที่สูง กระตุ้นต่อเนื่องหลายครั้ง หรือมีสารสื่อ (Adjuvant) เพื่อกระตุ้นให้ได้ระดับของภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ เนื่องจากเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ มักจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้แค่ในระยะสั้นๆ ต้องทำการกระตุ้นเป็นระยะเพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงพอในการคุ้มกันโรค มีประสิทธิภาพด้อยกว่าวัคซีนชนิดเชื้อเป็นในแง่ของการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

2.วัคซีนเชื้อเป็น (Modified Live Vaccine, MLV vaccine)

เป็นวัคซีนที่ผลิกจากเชื้อที่ยังมีชีวิต แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง สูญเสียคุณสมบัติในการก่อโรคในตัวสัตว์ แต่ยังมีคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ วัคซีนชนิดนี้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มีประสิทธิภาพกว่าวัคซีนเชื้อตาย ไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นหลายๆครั้งเนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนได้ กระตุ้นภูมิได้นาน และใช้ระยะเวลาในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสั้นกว่ามาก

3.วัคซีนลูกผสม หรือ วัคซีนรีคอมบิแนนท์ (Recombinant vaccine)

เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม โดยการตัดต่อ ยีน (Genes) ของเชื้อก่อโรค ที่เราต้องการเข้าไปในเชื้ออีกตัวที่ไม่มีความรุนแรง และไม่ก่อโรค แต่สามารถติดเข้าสู่ตัวสัตว์ได้ กล่าวคือ เป็นการตัดต่อยีนเชื้อก่อโรค เข้าไปในเวกเตอร์ (Vector) ของเชื้อที่ไม่ก่อโรค หลังจากนั้นจะให้วัคซีนเข้าไปสู่ตัวสัตว์ ยีนของเชื้อก่อโรคจะเข้าสู่เซลล์ของผู้รับผ่านทาง Vector แล้วทำให้ยีนเชื้อก่อโรคเกิดการแสดงออก และทำการผลิตโปรตีนของเชื้อก่อโรคภายในเซลล์ของร่างกาย เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ข้อดีของวัคซีนประเภทนี้คือ สามารถกระตุ้นภูมิได้ดี เนื่องจากเชื้อจะสามารถเพิ่มจำนวน สร้างโปรตีนจากยีนของเชื้อก่อโรคออกมาได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆในการผลิตวัคซีนแบบต่าง ๆ อีก จุดประสงค์เพื่อลดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่คุ้มกันโรคได้ เช่น Virus Like Particles เป็นการนำโปรตีนของไวรัสมาประกอบกัน จนเกือบจะเป็นตัวไวรัส แต่ไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ เนื่องจากไม่มียีนของไวรัสประกอบอยู่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในคน (Human Papilloma virus, HPV)

โดยในการเลือกใช้วัคซีนแต่ละประเภทก็มีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับ ตัวสัตว์ ชนิดของสัตว์ ข้อมูลการระบาดในพื้นที่นั้น ๆ ข้อมูลความปลอดภัย ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละประเภท ในการเลือกใช้วัคซีนเพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม และปลอดภัย ควรปรึกษาสัตวแพทย์ให้เป็นผู้ทำการพิจารณาให้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพราะทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่มีอะไรที่เหมาะสมกับทุกคนเสมอไป เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้สมาชิกของเรา ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทำวัคซีนทุกครั้งนะคะ

บทความโดย

สพ.ญ. สุกัญญา อุปพงษ์
Sukunya Aubpapong
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่