คอนกรีตเสริมไม้ไผ่ แข็งแรงแค่ไหน และปลอดภัยรึเปล่า? เรามีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้วัสดุธรรมชาติสำหรับอาคาร คุณโจ้ – ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์จากสถาบันอาศรมศิลป์
มีการทำคอนกรีตเสริมไม้ไผ่มานานหรือยัง
“ในสมัยสงครามเวียดนาม กองทัพบกสหรัฐอเมริกาพยายามทดลองสร้างอาคาร คอนกรีตเสริมไม้ไผ่ แต่ไม่สำเร็จ เพราะคอนกรีตยึดเกาะไม้ไผ่ได้ไม่ดี มีการหดและขยายตัวไม่เท่ากัน และไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่ควบคุมคุณภาพให้สามารถคำนวณได้ยาก แต่ปัจจุบันมีความพยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้และคำนวณได้ โดยใช้ไม้ไผ่แปรรูป (Engineered Bamboo) ให้สามารถคำนวณและยึดเกาะกับคอนกรีตได้ดีขึ้น”

ในไทยก็มีทำกันบ้าง
“ส่วนใหญ่ที่เห็น มีการใช้ทำถนนในชนบท ซึ่งเป็นการถ่ายน้ำหนักลงพื้นดิน (Slab on ground) เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ในโคลัมเบียเองก็มีการใช้คอนกรีตเสริมไม้ไผ่ในการสร้างอาคาร แต่ผมยังไม่มีข้อมูลทางเทคนิคที่เชื่อถือได้ จึงถือว่ายังมีความเสี่ยงในการนำมาใช้เป็นโครงสร้างบ้านอย่าง ฐานราก เสา คาน และพื้นบ้านที่ยกขึ้นสูงเหนือพื้นดิน”
คำแนะนำการทำคอนกรีตเสริมไม้ไผ่
“เราสามารถนำไม้ไผ่มาใช้ในการทำพื้นภายนอก หรือคานคอดินของอาคารขนาดเล็กที่รับน้ำหนักไม่มาก เช่น พื้นลาน พื้นถนน แนะนำว่าควรใช้ไม้ไผ่ที่ผ่านกรรมวิธีรักษาเนื้อไม้แล้ว เพื่อป้องกันมอดที่อาจทำให้อายุการใช้งานลดลง”
Tips
-การทำพื้นลานหรือถนนด้วยคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ ทำได้โดยตั้งไม้แบบกำหนดขอบเขต ปรับพื้นให้แน่น สามารถใช้ไม้ไผ่ซีกขนาดประมาณ 1 นิ้ว ผูกเป็นตารางทุกระยะ 15 เซนติเมตร และเทคอนกรีตหนา 15 เซนติเมตร หุ้มไม้ไผ่ให้มิด



– คอนกรีตเสริมไม้ไผ่เป็นโครงสร้างที่ไม่ยังขาดการพัฒนามาตรฐานการคำนวณในไทย จึงยังไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ หากต้องการสร้างอาคารไม้ไผ่ แนะนำให้ทำโครงสร้างหลักด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหรือเหล็ก แล้วใช้ไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบ
-วิธีรักษาเนื้อไม้แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำได้หลายวิธี เช่น การนำไม้ไผ่แช่ในน้ำไหลเพื่อชะล้างแป้งออก หรือการนำไปแช่ในน้ำนิ่งหรือแช่โคลนเพื่อให้แป้งบูดจนมอดไม่กิน บางท้องถิ่นใช้กำมะถัน โดยการนึ่ง การต้ม หรือการเผาไฟ หรือต้มไม้ไผ่ในน้ำส้มควันไม้ผสมเกลือ
-วิธีรักษาเนื้อไม้ที่ใช้แพร่หลายทั้งในยุโรป อินโดนีเซีย และไทยในปัจจุบัน ซึ่งเหมาะกับการทำงานปริมาณมากและได้ผลดี คือ การแช่ในสารละลายโบรอน (Boron) ซึ่งเป็นสารบอแรกซ์ (Borax) ผสมกับสารบอริค แอสิด (Boric Acid) เป็นการทรีตเม้นต์แบบเคมีที่ปลอดภัยไม่เป็นพิษกับคนและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ เอกรินทร์ พันธุนิล