ปลากัด จ้องตากันแล้วท้องจริงหรือ?

“นี่ชั้นไม่ปลากัดนะ จะได้จ้องตาแล้วท้องอะ” ประโยคที่หลาย ๆ คนก็คุ้นหู แล้วมันเป็นเรื่องจริงรึป่าวนะ? บ้านและสวน Pets หาคำตอบมาให้แล้ว นอกจากนั้นก็มาชมความสวยงามของ สายพันธุ์ปลากัด ต่าง ๆ กันด้วยเลย

ปลากัด จ้องตากันแล้วท้อง ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดจ้า เพราะปกติแล้ว ปลากัดตัวผู้จะจ้องตาตัวเมีย เพื่อกระตุ้นให้ตัวเมียสร้างไข่ในท้องเท่านั้น ก่อนที่ตัวผู้จะทำการรัดตัวเมียเพื่อให้ไข่ออกมา จากนั้นตัวผู้จึงปล่อยน้ำเชื้อใส่ไข่ แล้วอมไข่ไปพ่นติดกับหวอดที่ก่อไว้บริเวณผิวน้ำ ทำขั้นตอนทั้งหมดนี้ซ้ำ ๆ จนไข่ของตัวเมียหมดท้อง และสุดท้ายตัวผู้ก็จะคอยดูแลจนกว่าไข่จะฟักออกมาเป็นตัว ทั้งหมดนี้เรียกว่าการปฏิสนธิภายนอกนั่นเอง

เมื่อรู้คำตอบแล้ว เรามาดูเรื่องราวและความสวยงามของ สายพันธุ์ปลากัด ชนิดต่าง ๆ กันต่อเลยดีกว่าค่ะ เผื่อเป็นสัตว์เลี้ยงอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สร้างความเพลิดเพลินให้เราได้เลยนะคะ

ประเภทและ สายพันธุ์ปลากัด

ปลากัดที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด  ซึ่ง 2 ชนิดที่นิยมนำมากัดกัน แต่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงหรือปรับปรุงพันธุ์นั้น ชนิดแรกคือปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ (Betta imbellis) และอีกชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน (Betta smaragdina) ในระยะหลัง ได้มีการนำปลาป่าพื้นเมืองภาคใต้มาผสมข้ามสายพันธุ์บ้าง เพื่อให้ได้ลูกผสมที่กัดเก่ง หรือให้ได้สีและลักษณะที่สวยงาม

และปลากัดชนิดที่ 3 คือ ปลากัดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens หรือปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish) ที่นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศไทย และแพร่หลายไปทั่วโลกนั่นเอง โดยที่ปลากัดชนิดนี้ มีลักษณะทางพันธุกรรม ที่สามารถสร้างลักษณะสีและครีบได้มากมายแฝงอยู่ จึงทำให้มีการพัฒนาปลากัด สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ และมีการตั้งชื่อปลาที่พัฒนาได้ใหม่นั้นด้วย

 

1.ปลากัดป่า หรือปลากัดลูกทุ่ง

สายพันธุ์ปลากัด

เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามท้องนา และหนองบึง เป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นมากนัก ส่วนมากครีบ และหาง มีสีแดงเกือบตลอด มีประสีดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีแต้มสีเขียวอ่อนๆ เรียงต่อกันเป็นเส้นสีเขียวๆ ที่ครีบหลัง เวลาถอดสี ทั้งตัวและครีบ จะเป็นสีน้ำตาลด้านๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ในปัจจุบันคำว่า “ปลาป่า” หมายความรวมถึงปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน และปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ด้วย

 

2.ปลากัดลูกหม้อ

สายพันธุ์ปลากัด

เป็นปลากัดที่นักเพาะพันธุ์ปลาได้นำมาคัดสายพันธุ์ โดยมุ่งหวังจะได้สายพันธุ์ปลากัดใหม่ๆที่กัดเก่ง มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นส่วนหัวค่อนข้างโตปากใหญ่ ครีบสั้นสีเข้ม เดิมมักจะเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินแกมแดง แต่ปัจจุบันมีหลายสี เช่นสีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง  สีเขียว และสีนาก เป็นชนิดที่มีความอดทน กัดเก่ง ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบสั้น

** ส่วนที่เรียกว่า “ปลาลูกหม้อ” นั้น น่าจะมาจากการนำหม้อดินมาใช้ในการเพาะและอนุบาลปลากัดในระยะแรก ๆ **

 

3.ปลากัดลูกผสมหรือพันธุ์สังกะสีหรือพันธุ์ลูกตะกั่ว

เป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ปลากัดระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง โดยอาจผสมระหว่างพ่อเป็นปลาลูกหม้อกับแม่เป็นปลาลูกทุ่ง หรือพ่อเป็นปลาลูกทุ่งกับแม่เป็นปลาลูกหม้อ ได้ทั้งสองแบบ ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะปากคม กัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง   และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ โดยพยายามคัดปลาที่มีลักษณะลำตัวเป็นปลาลูกทุ่ง เพราะเมื่อนำไปกัดกับปลาลูกทุ่งแท้ ๆ ปลาลูกผสมนี้จะกัดทนกว่าปลาลูกทุ่ง

** ที่เรียกว่า “ปลาสังกะสี” สันนิษฐานว่า น่าจะได้ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกัดเหมือนปลาป่า ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ มีสีสันลักษณะต่างจากปลาป่า แต่ส่วนมากมีชั้นเชิงและความอดทนในการกัดสู้ปลาลูกหม้อไม่ได้ **

 

4.ปลากัดจีน

เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน เข้าใจว่าอาจมาจากลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่ายสีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน ปลากัดจีน เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์ปลากัดมาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับ หรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ

** ปลากัดชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดอย่างต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ ๆ ออกมาอีกมากมาย **

 

5.ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตา

เป็นปลากัดที่มีหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบหางจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม 180 องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง 2 ครั้ง เป็น 4 แขนง หรือมากกว่า ปลาที่สมบูรณ์จะต้องมีลำตัว และครีบสมส่วนกัน โดยลำตัวต้องไม่เล็กเกินไป ครีบหางแผ่ต่อเนื่องหรือซ้อนทับกับครีบหลังและครีบก้น จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบครีบหลังโค้งมนเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม เส้นขอบครีบทุกครีบโค้งรับเป็นเส้นเดียวกัน (ยกเว้นครีบอก) ปลายหางคู่ที่แยกเป็น 2 แฉก จะต้องซ้อนทับและโค้งมนสวยงาม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกที่แท้จริงจะต้องมีขอบครีบหางแผ่ทำมุม 180 องศา ได้ตลอดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม

 

6.ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล

เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. 2543 โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีหางจักเป็นหนาม เหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์ปลากัดอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็ม ซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่น ๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ

 

7.ปลากัดสองหาง (Double Tail)

ซึ่งครีบหางมีลักษณะเป็น ๒ แฉก มีทั้งแบบแยกกันอย่างเด็ดขาด หรือที่ตรงโคนยังเชื่อมติดกันอยู่ก็ได้

 

8.ปลากัดลายหินอ่อน

ที่เรียกชื่อตามรูปแบบสีและลวดลาย ปลากัดลายหินอ่อนลักษณะเด่นคือ ลำตัวใสมีจุดแต้มตามลำตัวยกเว้นหัวและหน้า บางพันธุ์มีเพียงสีดำและสีแดง ดูคล้ายลวดลายของปลาคาร์ปจึงเรียกว่า ปลากัดโค่ย

 

9.ปลากัดลายผีเสื้อ หรือปลากัดบัตเตอร์ฟลาย

คือปลากัดที่มีสีบนลำตัวเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ขอบครีบหู กระโดง ตะเกียบ ชายน้ำและครีบหางต้องเป็นสีขาวขุ่น ลักษณะที่ดีของปลากลุ่มนี้คือต้องมีสีขาวมากกว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของครีบและหาง ทั้งปลากัดหางสั้นและหางยาว

 

10.ปลากัดยักษ์

เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่พัฒนาพันธุ์โดยคนไทยเมื่อราว 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเน้นให้ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าปลากัดธรรมดาถึงสองเท่า เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดกว่า 10 เซนติเมตร เดิมมีเฉพาะปลากัดยักษ์หางสั้นโทนสีคล้ำ ปัจจุบันมีผู้พัฒนาพันธุ์เป็นปลากัดยักษ์หางยาวออกมาเพิ่มขึ้นและมีสีใหม่ ๆ ที่สดใสกว่าเดิม

 

11. ปลากัดหูช้าง

พัฒนาขึ้นโดยคนไทยในช่วง 10 กว่าปีมานี้ มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวคือมีครีบหูขนาดใหญ่เป็นพิเศษ กล่าวกันว่าปลากัดหูช้างที่พัฒนาได้ในช่วงแรกนั้นเมื่ออายุน้อยจะมีหูเล็กต้องรอจนกว่าปลาอายุมากขึ้นหูจึงจะมีขนาดใหญ่ตาม แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาพันธุ์ให้มีหูขนาดใหญ่ แม้ปลายังมีอายุไม่มากก็ตาม

เป็นอย่างไรบางค่ะกับสายพันธุ์ปลากัดต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงามสะดุดตาและจัดว่าเป็นยอดนักสู้ตัวฉกาจ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พร้อมทั้งสะท้อนถึงความเป็นไทย อีกทั้งยังมีประโยชน์อย่างมากในด้านเศรษฐกิจ เหมาะสมแล้วที่ถูกยกให้เป็น สัตว์น้ำประจำชาติของไทยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
• หนังสือมาเลี้ยงปลากัดกัน Betta Splendens ชุด my little farm Vol.4
โดย ภวพล ศุภนันทนานนท์จากสำนักพิมพ์บ้านและสวน
• http://saranukromthai.or.th
• https://home.kku.ac.th

เรียบเรียง : ลีฬภัทร กสานติกุล