SoA+D เปิดแล็บเรียนรู้วัฒนธรรม สร้างนักออกแบบเพื่อสังคม

‘วัฒนธรรม’ กับ ‘การศึกษาไทย’ เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานาน เปรียบได้กับสมการที่พยายามหาคำตอบในการเชื่อมต่ออดีตสู่อนาคต คงเพราะวัฒนธรรมคือรากเหง้าความเป็นเรา และคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมในวันหน้า การรักษาสมดุลระหว่างการออกแบบร่วมสมัยบนพื้นฐานความเข้าใจทางวัฒนธรรมดั้งเดิมถือเป็นประเด็นสำคัญ และ SoA+D ได้เปิดห้องทดลองแห่งการเรียนรู้ เพื่อชวนคนรุ่นใหม่มาเป็นนักออกแบบเพื่อสังคมรุ่นต่อไป 

บรรยากาศภายในห้องแล็บเต็มไปด้วยงานจักสาน และงานฝีมือจากหลายพื้นที่ที่ทางกลุ่มนักศึกษาได้ไปสำรวจ รวมถึงผลงานการออกแบบของนักศึกษาเองจากโครงการต่าง ๆ ด้วย

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab คือห้องทดลองแห่งการเรียนรู้ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การนำของ ผศ.นันทนา บุญละออ ที่นี่คือพื้นที่แห่งการศึกษาค้นคว้า แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และ ‘บ่มเพาะ’ นักออกแบบรุ่นใหม่ ให้พรั่งพร้อมด้วยศักยภาพด้านการออกแบบ ภายใต้ความเข้าใจในเชิงสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกมิติของสังคมได้อย่างยั่งยืน

 “เริ่มแรกโครงการนี้เป็นนโยบายของทางคณะฯ ที่อยากจะหลอมรวมการทำงานวิจัย การเรียนการสอน และการลงพื้นที่ทำงานจริงนอกรั้วมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน ภายใต้ประเด็นทางด้านสังคมและวัฒนธรรม จึงได้จัดตั้งเป็นแล็บวิจัยเพื่อสร้างขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และเข้มข้นขึ้น” 

อาจารย์นันทนาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ โดยกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดล้วนเริ่มต้นจากการลงพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจทุกแง่มุมของปัญหาในบริบทชุมชน มากกว่าแค่การเรียนรู้ผ่านทฤษฎี

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab
บรรยากาศการลงพื้นที่ของนักศึกษาในชุมชนต่างๆ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และระดมสมองหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ (ภาพ: SoA+D Social and Cultural Innovation Lab)

“ในการลงพื้นที่ชุมชนในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ชุมชนจะขอความช่วยเหลือทางด้านการออกแบบ เช่น การออกแบบโลโก้สำหรับสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์  อย่างกรณีชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่จังหวัดราชบุรี ก็เริ่มต้นจากการเข้าไปพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของเครื่องจักสานไม้ไผ่ ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านสานแต่เข่งเพราะเป็นสินค้าที่ขายได้ดีในพื้นที่นั้น เราอยากลองทำงานกับชุมชนหนึ่ง ๆ ให้นานขึ้น เพื่อเข้าใจวงจรปัญหาภายในอย่างแท้จริง เพื่อจะใช้การออกแบบแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเพื่อให้มีเวลาพอที่จะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น”

“หลายปีที่ผ่านมา เราเลยตัดสินใจสานต่อโครงการที่ชุมชนต่าง ๆ ในราชบุรีอย่างต่อเนื่อง โดยจะพานักศึกษามาลงพื้นที่ก่อนให้เห็นความเป็นไปได้ต่าง ๆ โดยยังไม่ต้องคิดถึงโจทย์ของงานออกแบบ เพื่อนักศึกษาจะได้พยายามเข้าใจบริบทชุมชนได้อย่างเต็มที่ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจทำงานออกแบบจากปัญหาหรือโอกาสที่เค้ามองเห็นและสนใจ”

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab
(ภาพ: SoA+D Social and Cultural Innovation Lab)

แน่นอนว่าโจทย์การออกแบบในหลักสูตรคงไม่ใช่เพียงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต หรือสนองความต้องการของตลาด แต่นี่คือการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่หลากหลาย และซับซ้อนกว่านั้น ทั้งในด้านคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางอย่าง แต่ละโครงการจึงเป็นเหมือนสนามทดลองสำหรับ (ว่าที่) นักออกแบบ และเสริมสร้างจิตวิญญาณของนักพัฒนา (ชุมชน) 

“จริง ๆ บทบาทของนักออกแบบตรงนี้ อาจเรียกว่าเป็นนักเคลื่อนไหวหรือ Activist ก็ได้ แต่เป็น Design Activist ที่พยายามแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ ซึ่งคงเป็นศาสตร์แบบสหวิทยาการ (Multi-disciplinary) คือไม่เจาะจงหรือพยายามใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ไม่ได้ตั้งใจจะหาคำนิยามแบ่งมาประเภทอะไรขนาดนั้น เพราะความสำคัญอยู่ที่ User-centered Design หรือการออกแบบที่ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง อย่างที่ทุกหลักสูตรการออกแบบก็สอนมาตลอด ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ อาจเป็นระบบหรือแนวคิดอะไรบางอย่าง” 

(ภาพ: SoA+D Social and Cultural Innovation Lab)

“จากประสบการณ์ในแต่ละโครงการที่ผ่านมา พบว่าตัวแปรที่สำคัญที่สุดของของการพัฒนางานคราฟต์ คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ด้วยความที่เราเข้าไปในชุมชนชาวกะเหรี่ยง คนรุ่นพ่อแม่จะยังไม่ได้รับสัญชาติ ทำให้มีทางเลือกไม่มากนักในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่จึงทำอาชีพรับจ้างทั่วไปให้กับนายทุนแถบนั้น การที่เราตั้งใจเข้าไปสร้างความเข้าใจ หรือทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาในงานฝีมือนั้น จึงเหมือนยังอยู่ห่างไกลจากวิถีเป็นอยู่ของพวกเขามาก ทำให้ชาวบ้านอาจจะยังไม่เห็นความจำเป็นในการพัฒนาด้านการออกแบบ”

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab
(ภาพ: SoA+D Social and Cultural Innovation Lab)

ตลอดหลายปีที่อาจารย์นันทนาพานักศึกษาปีแล้วปีเล่ามาปักหลักลงพื้นที่ชุมชน ณ จังหวัดราชบุรี อุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นคือโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายทั้งนักศึกษา และชาวบ้านในชุมชนจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ความสวยงามใน โลกของการออกแบบอาจไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตจริงเสมอไป  และตัวแปรต่าง ๆ ที่แสนท้าทายก็อาจนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาใหม่ที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อน

“เราเคยมีโครงการเข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบงานจักสานเข่งให้กับคุณป้าคนหนึ่งตามแนวคิดนักออกแบบของเราก็อยากให้มันมีรูปทรงที่ดูน่าสนใจขึ้นแต่คุณป้าจะบอกว่าแบบนี้ทำไม่ได้หรอกมันไม่สามารถสานแบบนี้ได้มันเป็นไปไม่ได้”

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab

“เราเลยลองแก้ปัญหาโดยการพานักศึกษาเข้าไปเรียนรู้เทคนิคการสาน และประเมินความเป็นไปได้พร้อม ๆกับสร้างแรงบันดาลใจให้คุณป้าทำเข่งรูปแบบใหม่ซึ่งก็ค่อย ๆ ปรับกันไปจนได้ผลงานออกมาในที่สุด พอคุณป้าเอาไปวางหน้าบ้านแล้วมีคนซื้อทำให้เขาเริ่มรู้สึกถึงความเป็นไปได้ใหม่ แต่ที่รู้สึกดีกว่านั้นคือคนที่ซื้อก็คือคนในชุมชนนั้นเอง ซึ่งตรงกับแนวคิดหลักในการพัฒนาชุมชน ต้องเริ่มต้นจากข้างในชุมชนก่อน ถ้ามีคนภายในชุมชนเห็นถึงโอกาสก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราก็มองว่าบางทีคุณค่าของงานคราฟต์ก็อาจนำมาซึ่งประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือประโยชน์เชิงพาณิชย์นี้ก็ต้องกลับไปผลักดันชุมชนด้วยเช่นกัน”

“แต่อีกด้านหนึ่งทางโครงการเองก็พยายามขยายเครือข่าย และขอบเขตการลงพื้นที่ให้มากที่สุดเหมือน ก้อนสโนว์บอลค่อย ๆ เก็บเกี่ยวแนวร่วมไปเรื่อย ๆ เจอใครแนะนำก็ไปคุยไปรู้จัก ถ้าเราได้พบกับผู้นำชุมชนหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นที่เข้าใจการพัฒนาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบ้าง มีพลังโน้มน้าวคนในชุมชนโครงการตรงนั้น ก็จะไปได้เร็วหน่อยช่วยให้เกิดความก้าวหน้าที่ชัดเจนขึ้น”

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab
งานออกแบบที่พัฒนาไม้กวาดดอกหญ้าธรรมดาให้ตอบโจทย์การใช้งานยุคใหม่ โดยเป็นผลงานของนักศึกษาสิงคโปร์ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย จังหวัดสกลนคร เมื่อครั้งมาเรียนรู้หัตถกรรมไทยกับแล็บ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เราจะพัฒนาปัจจุบันเพื่อไปสู่อนาคต โดยไม่ทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิม และเจ้าของภูมิปัญญาเหล่านั้นไว้ข้างหลังได้อย่างไร การสร้างคนรุ่นต่อไปที่เข้าใจการเชื่อมต่อระหว่างอดีต และอนาคตนั้น บางทีหัวใจสำคัญอาจคือความเข้าอกเข้าใจ และการรับฟังเสียงจากผู้คนที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างก็เป็นได้

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab
เก้าอี้สตูลไม้ไผ่ ผลงานของนักศึกษาที่ทำงานร่วมกับ Gerard Collection ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมในจังหวัดเชียงใหม่

“โครงการนี้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างตัวนักเรียนกับกลุ่มสังคมที่ต่างออกไป ในช่วงแรกตัวนักเรียนอาจรู้สึกไม่ค่อยสบายใจในการไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย แต่พอให้ระยะเวลาปรับตัวก็ดีขึ้นเอง มีบางเคสที่น่าสนใจ อย่างเช่นนักเรียนบางคนที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนกลับมีภาวะผู้นำในการเข้าหาเก็บข้อมูลจากผู้คนในชุมชน บางทีอาจเป็นเพราะลักษณะปลายเปิดของการเรียนการสอนแบบนี้ ที่ทำให้เขาค้นพบตัวเองในรูปแบบที่เขาสบายใจก็เป็นได้”

SoA+D Social and Cultural Innovation Lab

 “ในอนาคตทางคณะฯ วางแผนจะปรับปรุงหลักสูตร โดยให้ห้องเรียนมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และตัวกลางเชื่อมระหว่างการเรียนรู้กับการทำงานจริงมากขึ้น หลักสูตรบังคับอาจเหลื่อแค่พื้นฐานในปีแรก ๆ นอกจากนั้นจะเน้นการทำงาน พบประสบการณ์จริงข้างนอก ส่วนคลาสเรียนจะคอยสนับสนุนพร้อมบันทึกผลด้านต่าง ๆ มากกว่า”

SoA+D0Social & Cultural Innovation Lab

สาขาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทร. 0-2470-7888

FB: SoA+D0Social Cultural Innovation Lab

IG: @scisoad

เรื่อง: ด.ช.กวินทร์

ภาพ: อนุพงษ์, SoA+D_Social and Cultural Innovation Lab


คุยกับ ญารินดา บุนนาค แห่ง IMAGINARY OBJECTS ผู้ต่อยอดจินตนาการสู่ความสุขในงานสถาปัตยกรรม