พุดเดิ้ล (Poodle) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

มีแนวคิดว่าสุนัขสายพันธุ์ พุดเดิ้ล (Poodle) มาจากทวีปเอเชีย และหลังจากนั้นหลายศตวรรษต่อมาก็ได้มีการตั้งรกรากในประเทศเยอรมนี โดยในศตวรรษที่ 15 พุดเดิ้ลกลายเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในฝรั่งเศส ซึ่งมักมีเพียงราชวงศ์และขุนนางเท่านั้นที่เป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์นี้

ในขณะนั้นสุนัขสายพันธุ์พุดเดิ้ลถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท (ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แท้ ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขสายพันธุ์อื่น เพื่อสร้างความแตกต่าง) ได้แก่ พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle), พุดเดิ้ลขนาดกลาง (Mid-Sized Poodle) และพุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) ปัจจุบันพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดและพุดเดิ้ล มินิเจอร์สามารถพบได้บ่อยที่สุดแต่พุดเดิ้ล สแตนดาร์ดจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า

หลายปีผ่านไปพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดเริ่มถูกใช้เพื่อการล่าเป็ด พวกมันเป็นสุนัขล่าสัตว์ที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากมีความฉลาดและมีความแข็งแรง ด้วยความฉลาดนี้จึงทำให้พวกมันแตกต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ทำให้คณะละครสัตว์เริ่มฝึกพวกมันให้แสดงโชว์ ชนชั้นสูงของประเทศฝรั่งเศสเริ่มนำพวกมันมาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จนในที่สุดพวกมันก็ได้รับการพัฒนาจนมีชื่อเสียง หลังจากนั้นสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ลก็ได้กลายมาเป็นสุนัขประจำชาติของประเทศฝรั่งเศสจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาพุดเดิ้ลได้อพยพไปพร้อมกับชาวอาณานิคมเริ่มแรกและได้รับการยอมรับจาก AKC ในปีค. ศ. 1887 (รวมกันเป็นสายพันธุ์เดียวถึงแม้ว่าจะมีพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดและพุดเดิ้ล มินิเจอร์รวมอยู่ด้วยก็ตาม) นอกจากนี้พุดเดิ้ลยังเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของสุนัขที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกอีกด้วย

ลักษณะทางกายภาพ

พุดเดิ้ลส่วนใหญ่มีขนที่แน่นหนา มีความหยิกและไม่ผลัดขนจึงต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นประจำ พุดเดิ้ลส่วนใหญ่มีเดียวล้วน (solid-colored) และการขึ้นทะเบียนจำนวนมากอนุญาตให้มีแค่สีทึบเท่านั้นที่สามารถแสดงโชว์ได้ ส่วน “Parti” (ย่อมาจาก parti-colored) คือพุดเดิ้ลที่มีสีเป็นหย่อมขนาดใหญ่ที่แตกต่างจากสีหลักของร่างกาย ส่วน “Phantom” คือพุดเดิ้ลมีสีดำและสีน้ำตาลแดง พุดเดิ้ลที่มีสีเดียวล้วนอาจมีสีเดิมไปตลอดชีวิต อาจจะจางลงหรือเป็นเฉดสีที่อ่อนกว่าเดิม โดยปกติบริเวณหูและขนที่หนาขึ้นจะเป็นสีเดิมมากกว่าส่วนอื่น ๆ

หางมักจะมีลักษณะฟูฟ่องแต่ในประเทศสหรัฐอเมริกามักทำการตัดหางแต่ไม่ค่อยนิยมทำในทวีปยุโรป การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในสหราชอาณาจักรและประเทศออสเตรเลีย เมื่อพุดเดิ้ลถูกตัดหางแล้วจะมีลักษณะหางเหมือนกระต่าย (หางที่สั้นมาก) ในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นยกเว้นในโรงงานผลิตลูกสุนัข (puppy mill) ส่วนหูของพุดเดิ้ลจะมีลักษณะที่ห้อยลง

ขนาดของพุดเดิ้ล

พุดเดิ้ลมีหลายขนาดแตกต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ โดยวัดความสูงจากพื้นไปจนถึงไหล่สำหรับตัวโตเต็มวัย ความสูงที่แน่นอนของพุดเดิ้ลแต่ละประเภทแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละประเทศ โดย kennel club ได้ทำการจำแนกพุดเดิ้ลออกเป็น 3 ขนาดคือ พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle), พุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) และพุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle) ซึ่งบางครั้งเป็นขนาดของสายพันธุ์เดียวกัน แต่บางครั้งก็เป็นคนละสายพันธุ์กัน ส่วนองค์กร Fédération Cynologique Internationale ได้ทำการจำแนกจาก 1 สายพันธุ์ออกเป็น 4 ขนาด คือพุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle), พุดเดิ้ลขนาดกลาง (Mid-Sized Poodle), พุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) และพุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle) เฉพาะองค์กร Fédération Cynologique Internationale เท่านั้นที่ได้อธิบายถึงขนาดใหญ่สุดในพุดเดิ้ล สแตนดาร์ด ประเทศฝรั่งเศสมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวสายพันธุ์ในองค์กร ’Fédération Cynologique Internationale และในประเทศนี้มีการระบุขนาดลูกสุนัขไว้ด้วยกัน ส่วนชื่อพุดเดิ้ลทีคัพ (Tea-Cup Poodle) เป็นชื่อทางการตลาดและไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบันสุนัขใด ๆ

องค์กร Fédération Cynologique Internationale พุดเดิ้ลจัดอยู่ในกลุ่มเพื่อนคู่หู (Companion) และสุนัขกลุ่มทอย (Toy Group) โดยใน Australian National Kennel Council และ the New Zealand Kennel Club จำแนกพุดเดิ้ลทั้ง 3 ขนาดไว้ในกลุ่มสุนัขที่ไม่ใช้ในเกมกีฬา (Non-Sporting) ส่วน Canadian Kennel Club และ American Kennel Club จำแนกพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดและ พุดเดิ้ล มินิเจอร์ไว้ในกลุ่มสุนัขที่ไม่ใช้ในเกมกีฬาเช่นเดียวกันแต่จำแนกพุดเดิ้ลทอยไว้ในสุนัขกลุ่มทอย และสุดท้ายคือ United Kennel Club จำแนกพุดเดิ้ล มินิเจอร์และพุดเดิ้ลทอยไว้ในกลุ่มเพื่อนคู่หูแต่จำแนกพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดไว้ในกลุ่มสุนัขล่าเหยื่อ (Gundog Group)

ขน

พุดเดิ้ลมีความแตกต่างจากสุนัขส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะมีขน 2 ชั้น แต่พุดเดิ้ลมีขนเพียงชั้นเดียวที่มีความหนาและหยิก (ไม่มีขนชั้นใน) ซึ่งหลุดร่วงน้อยและอาจไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ลักษณะขนมีตั้งแต่หยาบไปจนถึงนุ่มและเป็นคลื่น

อายุขัย

พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle) มักมีอายุประมาณ 12-15 ปี

ลักษณะนิสัย

พุดเดิ้ลเป็นสุนัขที่มีความมั่นใจและรักทุกคนที่มีความใกล้ชิดกับมัน บุคลิกของพุดเดิ้ลที่มักถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ คือถูกมองว่าชอบวางมาด ปลีกตัวออกห่างจากคนแปลกหน้าและโดยทั่วไปแล้วมักจะไม่เป็นมิตร แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่บุคลิกที่มีมาตั้งแต่กำเนิดของพุดเดิ้ล

พุดเดิ้ลมีความฉลาดเป็นอย่างมาก พวกมันไม่ได้เป็นเพียงสุนัขโชว์ที่มีชื่อเสียงเพียงเพราะขนที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีหรือการมีรูปร่างที่สมส่วน แต่พวกมันเป็นสุนัขที่สามารถนำมาแสดงโชว์ได้เนื่องจากมีความฉลาดมากพอที่จะเรียนรู้และฝึกฝน พุดเดิ้ลเป็นหนึ่งในสุนัขที่เชื่องและสามารถฝึกได้มากที่สุดในหลาย ๆสายพันธุ์ สิ่งที่ทำให้บุคลิกลักษณะของพุดเดิ้ลเป็นที่นิยมมากคือสามารถฝึกให้พวกมันให้ทำอะไรก็ได้

นอกเหนือจากนั้นพวกมันค่อนข้างมีความสุขุม พุดเดิ้ลมีพฤติกรรมที่สามารถช่วยดูแลและปกป้องคนที่พวกมันรักได้แต่พวกมันไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีความก้าวร้าว พวกมันเห่าและเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ยอดเยี่ยมได้เนื่องจากพวกมันจะเตือนให้รู้ว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามา แต่อย่างไรก็ตามหากพุดเดิ้ลไม่ได้รับการเข้าสังคมอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดที่ขึ้นชื่อในเรื่องการเก็บตัว อารมณ์ร้อน ไม่ชอบผู้คนและสุนัขตัวอื่น ๆ ความวิตกกังวลของพุดเดิ้ลเป็นเรื่องปกติในสุนัขสายพันธุ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกมันมักมีภาวะวิตกกังวลต่อการแยกจากหรือว่าเกิดจากบาดแผลทางใจ (separation anxiety) พุดเดิ้ลจึงไม่ใช่สุนัขประเภทที่ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้

การเข้ากับเด็ก

การเข้ากันของสุนัขและเด็ก ๆโดยส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงสุนัข ในช่วงปีแรกของลูกสุนัขในกรณีที่พวกมันถูกล้อมรอบไปด้วยเด็ก ๆพวกมันจะเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็ก ๆพวกเขาจะเล่นด้วยกันและที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องเด็กราวกับว่าเด็ก ๆเป็นของพวกมัน แต่อย่างไรก็ตามพวกมันมีแรงขับในการล่าเหยื่อดังนั้นในช่วงแรกพวกมันควรได้รับการควบคุมเมื่อมีการโต้ตอบ สิ่งสำคัญคือต้องสอนทั้งสุนัขและเด็ก ๆ ให้รู้ถึงวิธีการโต้ตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

พุดเดิ้ล สแตนดาร์ดที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูมาพร้อมกับเด็ก ๆ ไม่ควรนำเข้ามาอยู่ในบ้านที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบพวกมันมีแนวโน้มที่จะหวงอณาเขตและปลีกตัวออกไป และบ่อยครั้งการขาดทักษะในการสื่อสารกับ ๆเด็กจะทำให้เกิดการตอบสนองที่ไม่ดีจากสุนัขสายพันธุ์นี้ ดังนั้นพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดจึงเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับบ้านที่มีเด็ก ๆที่ถูกเลี้ยงมาด้วยกันเท่านั้น

การดูแล

การออกกำลังกาย

พุดเดิ้ลต้องการการออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีต่อวัน การออกกำลังกายสำหรับสุนัขสายพันธุ์นี้อาจจะไม่สำคัญเท่ากับในสุนัขสายพันธุ์อื่นแต่ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสุขภาพที่ดีและแรงขับในการไล่ล่าของพวกมัน พุดเดิ้ล สแตนดาร์ดมีแรงขับในการล่าเหยื่อและมักจะแสดงให้เห็นเมื่อพวกมันไล่ล่ากระรอกหรือเล่นในสนาม นอกจากนี้พวกมันยังสามารถว่ายน้ำได้อย่างยอดเยี่ยมและชอบวิ่งถ้ามีโอกาส

พุดเดิ้ลไม่ใช่นักผจญภัยที่จะสามารถเดินป่าเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้แต่แน่นอนว่าพวกมันมีความแข็งแร็งและชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง หนึ่งในการออกกำลังกายที่เกิดประโยชน์สูงสุดที่สามารถให้พุดเดิ้ล สแตนดาร์ดทำได้คือการให้พวกมันได้เคลื่อนไหวและเรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าเมื่อพวกมันออกไปวิ่งเล่นหรือให้ไปคาบของกลับมาคุณสามารถใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ในการค่อย ๆสอนคำสั่งใหม่ ๆได้

อาหาร

ปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันสำหรับพุดเดิ้ล สแตนดาร์ดคืออาหารที่มีคุณภาพสูง 2-3 ถ้วยต่อวันโดยแบ่งเป็นสองมื้อ สุนัขเหล่านี้มักมีแนวโน้มในการเลือกกินอาหารที่ไม่แน่นอน อาจต้องใช้เวลาเพื่อค้นหาสิ่งที่พวกมันชอบจริง ๆและเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกมันด้วย

เช่นเดียวกันกับสุนัขทั่ว ๆไป อายุ การเผาผลาญ น้ำหนักและระดับการทำกิจกรรมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อทำการจัดการอาหารที่เหมาะสมสำหรับพุดเดิ้ล คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารมีคุณภาพสูงและพวกมันไม่ได้มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นจนเกินไป

โรคประจำพันธุ์

ปัญหาสุขภาพที่พบได้ทั่วไปในพุดเดิ้ล มีดังนี้

  • โรคผิวหนัง
    • โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
    • โรคต่อมไขมันอักเสบ (Sebaceous Adenitis : SA)
  • โรคระบบประสาท
    • โรควิตกกังวล (Anxiety)
    • โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก หรือว่าเกิดจากบาดแผลทางใจ (Separation anxiety)
    • โรคลมชัก (Epilepsy)
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
    • กลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s Disease)
    • โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease)
    • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
    • โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือด (Legg–Calvé–Perthes disease : LCPD)
    • โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation หรือ Slipping kneecaps)
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
    • โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
  • โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
    • โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease : vWD)
  • โรคตา
    • เส้นประสาทตาไม่เจริญ (Optic Nerve Hypoplasia)
    • โรคต้อหิน (Glaucoma)
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (progressive retinal atrophy)

เรื่อง : ธันยพร แท่นนอก

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่