อิงลิช บูลล์ด็อก (English Bulldog) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

บูลล์ด็อก (English Bulldog) เป็นชื่อสามัญของสุนัขสายพันธุ์ที่เรียกว่า อิงลิช บูลล์ด็อก หรือ บริติช บูลล์ด็อก โดยบูลล์ด็อกสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ อเมริกัน บูลล์ด็อก และเฟรนช์ บูลล์ด็อก โดยต้นกำเนิดของสายพันธุ์บูลล์ด็อกนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่หลายคนเชื่อว่า บูลล์ด็อกมาจากเกาะอังกฤษ โดยคำว่า “บูล (bull)” ในชื่อนั้นมาจากการที่พวกมันตกเป็นเหยื่อของกีฬาที่โหดร้ายอย่างกีฬาการต่อสู้กับวัว

ตั้งแต่กีฬาถูกห้ามในปี 1835 บูลล์ด็อกได้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่เป็นที่ชื่นชอบ เนื่องจากมีความซื่อสัตย์และมีอารมณ์สงบนิ่ง ภายในช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมาสายพันธุ์บูลล์ด็อกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากบูลล์ด็อกมีลักษณะเฉพาะตัวโดยเป็นสุนัขที่รูปร่างตันขาสั้นมีกล้ามเนื้อแข็งแรง มีใบหน้าเหี่ยวย่นและมีลักษณะเด่นของจมูกที่หุบเข้าไปในใบหน้า โดยมี The American Kennel Club (AKC), The Kennel Club (UK) และ United Kennel Club (UKC) คอยทำหน้าที่ในการดูแลมาตรฐานการปรับปรุงพันธุ์

ลักษณะทางกายภาพ

บูลล์ด็อก (English Bulldog) เป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีลักษณะไหล่หนาและหัวที่เข้าคู่กัน โดยทั่วไปจะมีผิวหนังที่หนาบริเวณคิ้ว ตามด้วยตาที่กลมโตสีดำ ปากสั้นและจมูกมีลักษณะคล้ายเชือกพับซ้อนกันเป็นชั้นอยู่เหนือจมูก ผิวหนังใต้คอและริมฝีปากมีลักษณะห้อยและมีฟันที่แหลม ขนสั้นเรียบและเงา โดยมีสีแดง, สีน้ำตาลแกมเหลือง, สีขาว, สีเป็นลาย (มีสีผสม บ่อยครั้งพบเป็นคลื่นไม่เป็นระเบียบ) และเป็นลายแบบสลับสีจากที่กล่าวมา

ในสหรัฐอเมริกาขนาดของเพศผู้ที่โตเต็มที่ทั่วไปคือประมาณ 45 ปอนด์ และสำหรับเพศเมียที่โตเต็มที่นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 45 ปอนด์ตามมาตรฐานของอิงลิช บูลล์ด็อก ในสหราชอาณาจักรมาตรฐานสายพันธุ์คือ 55 ปอนด์สำหรับเพศผู้และ 50 ปอนด์สำหรับเพศเมีย

ในขณะที่สุนัขบางสายพันธุ์ต้องทำการตัดหางทันทีหลังจากคลอด แต่บูลล์ด็อกเป็นหนึ่งในไม่กี่สายพันธุ์ที่มีหางสั้นและเป็นเกลียวตามธรรมชาติ โดยหางที่ยกสูงขึ้นไปจากโคนหางถือเป็นข้อด้อยที่เห็นได้ชัดของบูลล์ด็อก

อายุขัย

บูลล์ด็อกมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 8-12 ปี แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพจำนวนมากทำให้บูลล์ด็อกมีอายุขัยสั้นเมื่อเทียบกับสุนัขสายพันธุ์อื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน

ลักษณะนิสัย

โดยทั่วไปแล้วบูลล์ด็อกมักจะเชื่อง แต่มันก็มีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วในระยะสั้น บูลล์ด็อกมีความเป็นมิตรและชอบเข้าสังคมแต่บางครั้งก็มีความดื้อรั้น โดยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 77 จาก 79 อันดับในหนังสือ The Intelligence of Dogs ของ Stanley Coren’s ว่าเป็นสุนัขที่มีความฉลาดในการปฏิบัติตามคำสั่งที่ต่ำที่สุด

ผู้ที่ทำการผสมพันธุ์ได้ทำการกำจัดความดุร้ายที่มีในสายพันธุ์ออกไป ดังนั้นบูลล์ด็อกจึงเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นสุนัขที่อารมณ์ดี บูลล์ด็อกมีความติดบ้านและครอบครัวโดยทีจะไม่กล้าออกไปนอกบ้านถ้าหากไม่มีคนพาไป เนื่องจากตามธรรมชาติแล้วบูลล์ด็อกมีความเป็นมิตรซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสามารถเข้ากันกับเด็ก, สุนัขและสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

การเข้ากับเด็ก

หนึ่งในลักษณะที่ดีที่สุดของบูลล์ด็อกคือสามารถเข้ากับกับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี อิงลิช บูลล์ด็อก มีความอดทนและมีความสงบ, ชอบที่จะได้รับความสนใจจากทุกคน ถึงแม้ว่าสายพันธุ์นี้จะเข้าได้ดีกับผู้คนแต่การเข้าสังคมก็ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและควรที่จะเข้าสังคมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

English Bulldog

การดูแล

การออกกำลังกาย

บูลล์ด็อกต้องการการออกกำลังกายในระดับปานกลางทุกวัน เพื่อช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ บุคลิกของบูลล์ด็อกมีความสงบนิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีบุคลิกที่ร่าเริงมากกว่าแต่การออกกำลังกายทุกวันก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ บูลล์ด็อกสามารถเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ดังนั้นการดูแลเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก

บูลล์ด็อกมีความไวต่อความร้อนมาก จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่อบอุ่นและในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากจมูกที่สั้นทำให้หายใจลำบากในสภาพอากาศร้อนหรือมีความชื้นดังนั้นจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในช่วงเวลาเหล่านี้

อาหาร

การให้อาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อสุขภาพโดยรวมของบูลล์ด็อก เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการทำกิจกรรมในแต่ละวันน้อยกว่าสายพันธุ์ส่วนใหญ่ซึ่งทำให้มีแนวโน้มในการมีปัญหาเรื่องน้ำหนักได้

บูลล์ด็อกควรได้รับอาหารวันละสองครั้งและจำนวนที่ให้ขึ้นอยู่กับอายุและการทำกิจกรรมในแต่ละวัน และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีน้ำสะอาดให้อย่างสม่ำเสมอ

โรคประจำพันธุ์

  • โรคผิวหนัง
    • โรคภูมิแพ้ (allergies)
    • โรคผิวหนังอักเสบจากหางเกลียว (corkscrew tail)
  • โรคระบบประสาท
    • ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida)
    • โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Intervertebral Disc Disease : IVDD)
    • ภาวะวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety)
  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดชนิดลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบแคบ (pulmonic stenosis)
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • โรคเพดานโหว่ (Cleft palate)
    • โรคกระเพาะบิด (Gastric dilatation-volvulous)
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
    • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • กลุ่มอาการทางเดินหายใจของสุนัขหน้าสั้น (Brachycephalic syndrome)
    • ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia)
    • โรคหัวใจ (Heart Disease)
  • โรคระบบกระดูก เอ็น และข้อต่อ
    • โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
    • โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
    • ภาวะผิวกระดูกอ่อนตายและแตกออก จากการขาดเลือดในชั้นใต้กระดูกอ่อนของข้อเข่า (Osteochondritis dissecans of the stifle joint)
    • โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
  • โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
    • มะเร็งชนิด mass cell (Mast Cell Tumors)
  • โรคตา
    • โรคหนังตาที่สามยื่นออกมาผิดปกติ (Cherry eye)
    • โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion)
    • โรคตาแห้ง (Dry Eye : Keratoconjunctivitis Sicca)

เรื่อง : ธันยพร แท่นนอก

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่